ตราประทับรูปหม้อปูรณฆฏะ
ตราประทับรูปหม้อปูรณฆฏะ
พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ตราประทับรูปหม้อปูรณฆฏะ พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นายนาม เหมือนศรี มอบให้ จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราประทับดินเผาทรงกลมขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ เซนติเมตร มีที่จับเป็นจุกแหลมอยู่ด้านหลัง ผิวหน้าตราเป็นภาพ “ปูรณฆฏะ” ลักษณะเป็นหม้อทรงสูง ปากบาน คอคอด ตัวกลมป่องกลาง มีเชิง มีพันธุ์พฤกษาในลักษณะของกิ่งไม้เลื้อยออกมาจากปากหม้อห้อยลงมาทั้งสองข้าง เป็นรอยลึกลงไปสำหรับนำไปกดประทับบนดินเหนียวหรือวัตถุอื่น ๆ เพื่อให้เกิดรอยประทับนูนขึ้นมา
ปูรณฆฏะ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ มาจากคำว่า “ปูรณะ” แปลว่าเต็ม และ “ฆฏะ” แปลว่าหม้อ มักเรียกซ้อนคำว่า “หม้อปูรณฆฏะ” ในงานศิลปกรรมส่วนใหญ่มักมีพันธุ์พฤกษางอกออกมาจากหม้อน้ำ เป็นการนำสัญลักษณ์หม้อน้ำและพันธุ์พฤกษาซึ่งเป็นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์มารวมกัน คตินี้ปรากฏทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศิลปกรรมรูปหม้อปูรณฆฏะ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยอินเดียโบราณ พบประดับอยู่บริเวณประตูและรั้วรอบศาสนสถาน เพื่อเป็นการอำนวยพรให้ผู้ที่เข้ามาสักการะศาสนสถานแห่งนั้นได้รับพรกลับไป และมีการสืบต่อเรื่อยมา ทั้งยังส่งอิทธิพลให้แก่งานศิลปกรรมในประเทศอื่น ๆ เช่น ลังกา และไทย เป็นต้น รูปหม้อปูรณฆฏะ ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี ปรากฏทั้งบนเหรียญเงิน ตราประทับ และตราดินเผา เช่น เหรียญเงินรูปหม้อปูรณฆฏะ พบจากตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม เหรียญรูปหม้อปูรณฆฏะ ไม่ทราบแหล่งที่มา จัดแสดงและเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และตราดินเผารูปหม้อปูรณฆฏะ พบจากเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
ตราประทับรูปหม้อปูรณฆฏะนี้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตราประทับที่นักเดินทางชาวอินเดียน้ำเข้ามาหรืออาจทำขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของบุคคลหรือกลุ่มคน รวมถึงเป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
เอกสารอ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖". วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑.
อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี". วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 2636 ครั้ง)