...

กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนสมัยทวารวดี

     กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนสมัยทวารวดี 

     พบจากเมืองโบราณอู่ทอง

     กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอน พบในบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     กระเบื้องดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าโค้งงอเล็กน้อย ขนาดกว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๙ เซนติเมตร ด้านบนตกแต่งเป็นสันนูนทำให้เกิดลอน ๓ ลอน ขนานกันตามแนวยาวของตัวกระเบื้อง คั่นด้วยร่องเว้าลงไป ๒ ร่อง สำหรับเป็นทางระบายน้ำฝน ด้านล่างมีผิวแบนเรียบ ปลายด้านหนึ่งมีเดือยทรงสามเหลี่ยมปลายงอ ใช้สำหรับเป็นตะขอเกี่ยวยึดกับโครงสร้างซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นระแนงไม้ เนื้อกระเบื้องมีเม็ดกรวดทรายปนอยู่ค่อนข้างมาก

     นอกจากกระเบื้องชิ้นนี้แล้ว ที่เมืองโบราณอู่ทอง ยังมีการค้นพบชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนอีกจำนวนหนึ่ง จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมประเภทวิหาร มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างผนังก่ออิฐและเสาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นไม้ รองรับน้ำหนักส่วนโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ทั้งนี้ยังพบกระเบื้องรูปแบบคล้ายคลึงกันนี้จากโบราณสถานในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งไม่ทราบรูปแบบและหน้าที่การใช้งานอาคารอย่างแน่ชัด ตั้งอยู่บริเวณคันดินมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี อีกด้วย

     นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงกระเบื้องในสมัยทวารวดี ได้แก่ จดหมายเหตุทงเตี่ยน ซึ่งเป็นเอกสารจีนที่รวบรวบขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงดินแดนโถวเหอ (นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับคำว่า “โตโลโปตี้” ที่หมายถึง “ทวารวดี”) ซึ่งเป็นที่รู้จักในสมัยราชวงศ์สุย (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒) ว่ามีบ้านเรือนหรือวังของกษัตริย์ที่มีหลายชั้นและมีการใช้กระเบื้องมุงหลังคาด้วย

     กระเบื้องชิ้นนี้เป็นกระเบื้องรูปแบบหนึ่งที่ชาวพื้นเมืองสมัยทวารวดี ใช้สำหรับมุงหลังคาซึ่งมีโครงสร้างเป็นเครื่องไม้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื่องจากมีการค้นพบกระเบื้องดังกล่าวปริมาณไม่มากนัก อาจใช้สำหรับมุงหลังคาอาคารประเภทวิหาร มณฑป ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนา หรือที่อยู่อาศัยของบุคคลชั้นสูง ก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, ๒๕๕๙.

สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. “กระเบื้องดินเผาสมัยทวารวดี : ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นที่เมืองนครปฐมโบราณ”. หน้า จั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย. ๙ (กันยายน ๒๕๕๕ – สิงหาคม ๒๕๕๖), ๓๐๒ – ๓๑๔. 

(จำนวนผู้เข้าชม 816 ครั้ง)


Messenger