ประติมากรรมดินเผารูปสตรี ประดับศาสนสถานสมัยทวารวดี
ประติมากรรมดินเผารูปสตรี ประดับศาสนสถานสมัยทวารวดี
ดินเผา สูงประมาณ ๒๖ เซนติเมตร
ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปสตรี ใบหน้ากลม คิ้วต่อกันเป็นปีกกา ตาเหลือบมองลงต่ำ จมูกโด่ง ปากอมยิ้ม ไว้ผมแสกกลาง มัดผมเป็นจุกกลางศีรษะ ลักษณะคล้ายทรงผมที่พบในประติมากรรมศิลปะอินเดีย สวมเครื่องประดับ ได้แก่ ตุ้มหูรูปห่วงกลม ส่วนปลายของตุ้มหูโค้งเข้าหากัน ใบหูยาวจรดถึงบ่า สวมสร้อยลูกปัดที่มีจี้รูปโค้งประดับตรงกลาง ต้นแขนสวมเครื่องประดับ เครื่องประดับเหล่านี้มีรูปแบบคล้ายกับลูกปัดและเครื่องประดับที่พบภายในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ประติมากรรมดังกล่าวใช้สองมือเกาะขอบฐานด้านล่าง เนื่องจากรอบข้างของประติมากรรมหักหายไป สันนิษฐานว่าหากมีสภาพที่สมบูรณ์ อาจมีลักษณะเป็นรูปวงโค้งเพื่อใช้ประดับศาสนสถานแบบเดียวกับวงโค้งรูปบุคคลที่เรียกว่า”กุฑุ”ซึ่งนิยมใช้ประดับขั้นหลังคาศาสนสถานแทนความหมายของชั้นวิมานในศาสนสถานสมัยทวารวดี ที่พบภายในเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อแสดงให้เป็นว่าเป็นวิมานของเหล่าเทพต่าง ๆ เป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ และสมัยหลังคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๓ หรือเมื่อประมาณ ๑,๓๐๐ - ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว) ทั้งนี้มีหลักฐานการค้นพบ “กุฑุ” ดินเผา ในเมืองโบราณอู่ทอง จำนวนอย่างน้อย ๓ ชิ้น จัดแสดงอยู่ ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จำนวน ๒ ชิ้น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี จำนวน ๑ ชิ้น
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.
พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 1325 ครั้ง)