พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม
พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรม ยืนแบบสมภังค์ (ยืนตรง) อุษณีษะเป็นกะเปาะสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปนเหลือบลงต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา อมยิ้มเล็กน้อย พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา จีวรบางแนบพระวรกาย ปรากฏจีวรตกจากข้อพระกรซ้ายทิ้งชายลงเบื้องหน้า ขอบสบงยาวถึงข้อพระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นยึดชายจีวรระดับบั้นพระองค์
พระพุทธรูปยืนหย่อนพระชานุขวา ยื่นฝ่าพระบาทขวาออกมาหน้าฝ่าพระบาทซ้ายเล็กน้อย ต่างจากพระพุทธรูปสมัยทวารวดีโดยทั่วไปที่มักยืนตรง และพระบาททั้งสองข้างวางเสมอกัน ทั้งนี้อาจคลี่คลายจากการยืนแบบตริภังค์ของพระพุทธรูปซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ แต่ลักษณะของพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นแบบพื้นเมืองทวารวดีอย่างแท้จริงแล้ว จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
พระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดีที่ครองจีวรห่มเฉียง พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม และไม่ปรากฏในพระพุทธรูปขนาดใหญ่สลักด้วยหิน แต่พบเฉพาะในกลุ่มพระพุทธรูปสำริด และพระพิมพ์ พระพุทธรูปในกลุ่มนี้มักจะแสดงวิตรรกมุทราด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวรในระดับบั้นพระองค์หรือปล่อยลงข้างพระวรกาย พบทั้งที่ยืนตริภังค์และยืนสมภังค์
นอกจากพระพุทธรูปสำริดองค์นี้แล้ว ที่เจดีย์หมายเลข ๓ ยังพบพระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรมครองจีวรห่มเฉียงอีกองค์หนึ่ง รวมทั้งพระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรมครองจีวรห่มเฉียง จากเจดีย์หมายเลข ๒ และ เจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พระพุทธรูปและพระพิมพ์ทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1237 ครั้ง)