ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนาประกอบอักษรโบราณ
ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนาประกอบอักษรโบราณ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราดินเผารูปกลม มีเส้นคั่นตามแนวนอนตรงกลาง แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ส่วนบนเป็นรูปโคหมอบ มีรูปจันทร์เสี้ยวและตรีศูล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะอยู่ด้านบน โคอาจหมายถึงโคนนทิ พาหนะของพระศิวะ ด้านข้างรูปโคเป็นรูปครุฑ พาหนะของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ลักษณะเช่นนี้ คล้ายตราประทับโบราณของอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ
ส่วนล่างของตราดินเผา เป็นจารึกจำนวน ๑ บรรทัด นักวิชาการบางท่านเสนอว่า เป็นตัวอักษรพราหมีสมัยราชวงศ์คุปตะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ (ประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว) ความว่า
“ศิวํ พฺริหสฺปติ” แปลว่า “พระศิวะผู้ยิ่งใหญ่”
ทั้งนี้มีนักวิชาการบางท่าน เสนอว่า ตัวอักษรที่ปรากฏบนตราดินเผา เป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ความว่า
“ศิวรฺพรหม หฤตา” แปลว่า “พระศิวะ พระพรหมและพระวิษณุ”
ด้านข้างของตราดินเผา ถูกประทับด้วยตรารูปสี่เหลี่ยมเป็นตัวอักษร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) แต่ยังไม่สามารถอ่านและตีความได้
ตราดินเผารูปแบบเดียวกันนี้ ยังพบที่เมืองโบราณอู่ทอง อีก ๑ ชิ้น แต่มีสภาพชำรุด และยังพบที่เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ จำนวนหนึ่ง โดยด้านข้างหรือส่วนที่เป็นความหนาของตราดินเผาแต่ละชิ้นมีการจารึกข้อความที่แตกต่างกันออกไป จากลักษณะของการแบ่งรายละเอียดของตราออกเป็นสองส่วน มีสัญลักษณ์ของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ส่วนบน และมีจารึกอักษรโบราณที่ด้านล่าง อาจเทียบได้กับตราดินเผาและเหรียญเงินในศิลปะอินเดีย สมัยคุปตะและหลังคุปตะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
จากรูปแบบศิลปกรรมและจารึก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าตราดินเผาชิ้นนี้อาจเป็นตราดินเผารุ่นแรกที่พ่อค้าหรือนักบวชชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ลัทธิไศวนิกายนำติดตัวเข้ามาในสมัยทวารวดี เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร อาจเกี่ยวข้องกับด้านการค้า การศาสนา หรือเป็นเครื่องราง ต่อมาคนพื้นเมืองสมัยทวารวดี จึงได้นำแนวคิดการทำตราประทับมาผลิตขึ้นใช้เอง ปรากฏเป็นรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษร สมัย, ๒๕๔๒.
อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสต รมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 2520 ครั้ง)