ประติมากรรมสำริดรูปสิงห์
พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ศิลปะทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
สิงห์ หรือสิงโต เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญ ปรากฏในงานศิลปกรรมของไทยทุกสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าการทำประติมากรรมรูปสิงห์ ได้รับอิทธิพลเรื่องรูปแบบและคติการสร้าง มาจากศิลปะอินเดีย เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ปรากฏสัตว์ดังกล่าวอยู่ในธรรมชาติ
ในประเทศอินเดีย รูปสิงห์มีความสำคัญอย่างมาก ปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทั้งศาสนาพุทธและฮินดู ในศาสนาพุทธ สิงห์ใช้แทนความหมายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธองค์ได้รับการขนานนามว่า “ศากยสิงห์” ซึ่งหมายถึง สิงห์แห่งศากยวงศ์ เมื่อศิลปะอินเดียแพร่เข้ามายังประเทศไทยในสมัยทวารวดี มีการพบประติมากรรมรูปสิงห์ตามเมืองโบราณสมัยดังกล่าวหลายแห่ง ที่เมืองโบราณอู่ทอง ประติมากรรมรูปสิงห์ที่พบส่วนมากเป็นประติมากรรมปูนปั้น มีโกลนเป็นอิฐหรือศิลาแลง ใช้ประดับฐานสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี โดยอาจจะสร้างขึ้นตามความหมายของผู้ปกปักรักษา ค้ำจุนศาสนสถาน เนื่องจากสิงห์ถือเป็นสัตว์ที่แสดงถึงพละกำลัง เป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์และความดี
ประติมากรรมสำริดรูปสิงห์ ชิ้นนี้ พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง เป็นประติมากรรมขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑๐.๕ เซนติเมตร จึงอาจไม่ได้สร้างขึ้นตามความหมายของผู้ปกปักรักษา เหมือนสิงห์ปูนปั้นที่ใช้ประดับฐานเจดีย์หรืออาคารสมัยทวารวดี แต่อาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ รูปเคารพ หรือเพื่อประกอบรูปเคารพชิ้นอื่น เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น ประติมากรรมรูปสิงห์สำริดชิ้นนี้ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม เพราะนอกจากจะหายาก แสดงถึงความสามารถในการหล่องานสำริดขนาดเล็กแล้ว ยังแสดงถึงอารมณ์และลักษณะท่าทางที่เป็นธรรมชาติ แสดงถึงฝีมือช่างสมัยทวารวดีที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒.
พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. ดูน้อยลง
(จำนวนผู้เข้าชม 2836 ครั้ง)