ประวัติและบทบาทหน้าที่

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี

           คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2536 เห็นชอบโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (หน่วยงานต้นสังกัดในขณะนั้น) ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรขยายงานจดหมายเหตุและจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติประจำภูมิภาค เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการรวบรวม จัดเก็บ และสงวนรักษาเอกสารสำคัญของชาติ รวมทั้งให้บริการค้นคว้าวิจัยแก่ส่วนราชการและประชาชนในท้องถิ่น

          กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หน่วยงานต้นสังกัดในขณะนั้น) ได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ขึ้น เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันตก

          อาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ออกแบบโดยสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร โดยเริ่มก่อสร้างอาคารใน พ.ศ. 2538 บนพื้นที่ดอนย่างแย้ ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ภายในแบ่งเป็นส่วนสำนักงาน ส่วนคลังเก็บเอกสาร ส่วนปฏิบัติการ และส่วนบริการ โดยเฉพาะส่วนเก็บเอกสารมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรักษาเอกสารให้คงสภาพดี มีอายุยาวนานด้วย

          ต่อมาใน พ.ศ. 2541 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี และใน พ.ศ. 2542 ได้เริ่มปฏิบัติงานตามระบบงานจดหมายเหตุ กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี อย่างเป็นทางการ 

         ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดในสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติงานรวม 5 ประการ คือ

         1. พิจารณา ตรวจสอบ ติดตาม และรับมอบเอกสารสำคัญที่สิ้นกระแสการปฏิบัติงานจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบ รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี
         2. วิเคราะห์ ประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่ จัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า และอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ
         3. รวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่น
         4. ให้บริการค้นคว้าวิจัยข้อมูลและจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานจดหมายเหตุ
         5. ปฏิบัติงานสารบรรณ บุคลากร การเงินและพัสดุ การจัดทำแผนงานงบประมาณ ดูแลอาคารสถานที่ และรักษาความปลอดภัย

หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21

  ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ถนนสุพรรณบุรี - ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ
          1. เพื่อเป็นเกียรติยศแก่บุคคลที่กระทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองและสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูยึดถือให้เป็นแบบอย่าง
          2. เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมประวัติ ผลงาน และเกียรติคุณของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 สำหรับให้ผู้สนใจได้ศึกษา ค้นคว้า และนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต
          3. เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์

          อาคารหอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ออกแบบโดยสถาปนิกจากสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร เริ่มก่อสร้างในวันที่ 25 กันยายน 2541 แล้วเสร็จในวันที่ 16 ตุลาคม 2543 ลักษณะเป็นอาคารศิลปะไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นล่างประกอบด้วยส่วนจัดแสดง ส่วนสำนักงาน ห้องบริการค้นคว้า ห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์ และส่วนชั้นบนเป็นส่วนจัดแสดง ภายหลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงาน

          ปัจจุบันหอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 สังกัดในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติงานรวม 2 ประการ คือ
          1. รวบรวมและบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายบรรหาร ศิลปอาชา
          2. ให้บริการข้อมูลและข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายบรรหาร ศิลปอาชา

(จำนวนผู้เข้าชม 702 ครั้ง)