การสร้างอนุสาวรีย์และพิธีบวงสรวงพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)
ความเป็นมาของการสร้างอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์
(เจ้าคำผง)
ความคิดเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ผู้ตั้งเมืองอุบลราชธานี เริ่มมาตั้งแต่สมัยนายเลียง ไชยกาล เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย สมัยนี้ได้มีการโฆษณาเปิดรับบริจาคเงินจากประชาชน และรวบรวมเงินได้เจ็ดหมื่นกว่าบาท เพื่อใช้เป็นทุนในการก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพระวอเจ้าพระตาขึ้นทีเมืองอุบลราชธานี นายเลียง ไชยกาล จึงนำเรื่องเข้าสู่สภาจังหวัดเพื่อพิจารณาได้มีการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างรุนแรง จากสมาชิกสภาผู้รู้ประวัติศาสตร์ จากผู้อาวุโสรุ่นเก่าชาวเมืองอุบลราชธานี และจากทางฝ่ายสงฆ์ มีการถกเถียงโต้แย้งว่าเจ้าพระตาเจ้าพระวอ (วรราชภักดี) ไม่ใช่ผู้มาสร้างเมืองอุบลราชธานี แต่ผู้สร้างเมืองที่แท้จริงนั้นคือ “เจ้าคำผง” ผู้เป็นโอรสของเจ้าพระตาจึงทำให้โครงการดำริสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพระตาเจ้าพระวอ ในสมัยนั้นต้องระงับไป แต่เนื่องจากเงินที่ได้รับบริจาคไว้นั้นนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ นายเลียง ไชยกาล จึงได้นำเงินไปมอบให้ทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดอุบลราชธานี สร้างตึกคนไข้ขึ้น ชื่อว่า “ตึกพระวอพระตา” มาจนกระทั่งบัดนี้
อนุสาวรีย์ผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี ดำเนินการต่อไปใน พ.ศ.2524
เริ่มคิดสร้างอนุสาวรีย์ครั้งใหม่ สมัยนั้นผู้นำทางฝ่ายสงฆ์ที่เอาใจใส่ในเรื่องอนุสาวรีย์ คือท่านเจ้าพระคุณพระโพธิญาณมุนี (สุทธี ภัทริโย) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี วัดเลียบ มีผู้นำทางฝ่ายฆราวาสคือ นายหมุน โสมฐิติ นายเคลือบ รอนยุทธ นายเชย จันสุตะ นายบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เริ่มประชุมปรึกษาหารือกันดำริจะพากันสร้างอนุสาวรีย์ “เจ้าคำผง” ผู้สร้างเมืองอุบลราชธานีขึ้นให้ได้ จึงตกลงประกาศในวงการคณะธรรมสวนะสามัคคี ขอความร่วมมือช่วยกันบริจาคโลหะเงิน ทองเหลือง ทองแดง นาก เพื่อรวบรวมหล่อรูปเจ้าคำผงตั้งขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ เกิดศรัทธาทั่วไปต่างก็บริจาคโลหะเป็นจำนวนมาก ในจำนวนโลหะนี้มีเงินมากมายจึงคัดเอาเฉพาะเงินหล่อพระพุทธรูปเงินขึ้นองค์หนึ่ง ตกลงก็ได้ทำพิธีหล่อพระพุทธรูปเงินและพิธีพุทธาภิเษกขึ้นที่วัดศรีอุบลรัตนาราม ถวายพระนามว่า “พระพุทธเจ้าจอมเมือง” ต่อมาจึงได้มอบพระพุทธเจ้าจอมเมืองให้แก่ทางจังหวัด
ในปีพ.ศ.2526 คณะธรรมสวนะสามัคคีมอบให้นายเชย จันสุตะ
นายบำเพ็ญ ณ อุบล นายณรงค์จำปีศรี จัดทำโครงการยื่นขออนุมัติต่อจังหวัด นายบุญช่วย ศรีสารคาม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มอบให้นายประจวบ ศรีธัญญรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้นนำเรื่องไปติดต่อประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย ได้ความว่าอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ให้รอไว้ก่อน คณะธรรมสวนะจึงเกิดความคิดจะทำรูปปั้นอนุสาวรีย์ขึ้นเอง โดยความร่วมมือเจ้าของโรงหล่อนิรันดร์อุบล ยินดีจะหล่อรูปปั้นให้ฟรี นายมนัส สุขสาย ก็รับอาสาปั้นหุ่นขี้ผึ้งให้ ให้ขนาดใหญ่เท่าคนธรรมดา แต่เมื่อเกิดปัญหาว่าการสร้างอนุสาวรีย์ต้องเกิดจากการเห็นชอบของทุกฝ่ายทั่วทั้งจังหวัด เพราะจำเป็นต้องจัดตั้งไว้เป็นสง่าในที่เปิดเผย รวมทั้งโครงการอนุมัติจะต้องถูกต้องตามระเบียบการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ จึงจำเป็นต้องพักเรื่องอนุสาวรีย์ไว้อีกครั้ง
ต่อมาในปีพ.ศ.2528 คณะธรรมสวนะไม่สิ้นความพยายาม จึงมอบหมายหน้าที่ให้นายมนัส สุขสาย กับนายเรียมชัย โมราชาติ เป็นผู้นำโครงการไปติดต่อกรมศิลปากร โดยนำหนังสือจดหมายส่วนตัวจากนายวสันต์ ธุลีจันทร์ ศึกษาธิการจังหวัดไปถึงผู้อำนวยการกองหัตถศิลป์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และได้รับคำแนะนำว่า “หุ่นขี้ผึ้งต้องหารูปใบหน้าของบุคคลเก่าแก่ของตระกูลเจ้าคำผง เป็นแบบอย่างเทียบเคียง ทั้งเครื่องแต่งกาย อาวุธประจำกายของแม่ทัพโบราณทางอีสานด้วย ต้องมีแบบแปลนและหุ่นจำลองจริงๆประกอบโครงการ”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและได้รับอนุมัติจากจังหวัดแล้ว จึงจะไปถึงกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ในปลายปีพ.ศ.2527 เรือตรีดนัย เกตุศิริ ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คณะธรรมสวนะจึงได้มอบโครงการจัดตั้งอนุสาวรีย์ให้จังหวัดดำเนินการรับเป็นเจ้าของโครงการ เพราะเหตุผลที่ว่า “การสร้างอนุสาวรีย์ระดับเจ้าผู้ครองเมืองจะใช้เพียงความคิดเห็นของคนเพียงกลุ่มธรรมสวนะสามัคคีกลุ่มเดียวคงไม่ได้ เรื่องนี้สมควรเป็นงานระดับจังหวัดโดยความร่วมมือจากทุกสถาบันจากชาวอุบลราชธานีทั่วทั้งจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล หมู่บ้านจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้”
จึงมีการทำหนังสือโอนมอบโครงการให้ทางจังหวัดตามหนังสือลงวันที่ 25 มิถุนายน 2529 โดยมีนายเชย จันสุตะ เป็นประธานผู้ลงนาม ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ.2532 ก็มีข่าวออกมาทางวิทยุและทางหนังสือแจ้งว่ากรมศิลปากรจะให้นำรูปที่หล่อแล้วนั้นมาส่งทางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทำพิธีบวงสรวงและพุทธาภิเษก ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ในเช้าวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2532 เมืองอุบลราชธานีจึงมีอนุสาวรีย์สมดังปรารถนา การไปรับพระรูปในครั้งนี้จากคำกล่าวของคุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ผู้เป็นลูกเป็นหลาน เครือญาติเจ้านายเมืองอุบลราชธานีแสดงถึงความภาคภูมิใจในเชื้อสายบรรพบุรุษ
“ข้าพเจ้านายบำเพ็ญ ณ อุบล พร้อมท่านอาจารย์มหาเชย จันสุตะ และคุณสุวิช คูณผล เป็นผู้ได้รับมอบหน้าที่ให้ไปรับเอาพระรูปทั้งสามองค์ โดยไปค้างแรมที่โรงแรมจำชื่อไม่ได้อยู่ที่ซอยหน้าวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ รุ่งเช้าวันที่ 28 สิงหาคม 2532 จึงได้ไปที่โรงหล่อของกรมศิลปกร ที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ใกล้กับพุทธมณฑล ข้าพเจ้าเห็นรูปของยาพ่อเฒ่า เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (คำผง) ตั้งยืนสง่าอยู่ข้าพเจ้าไปใกล้พระรูปแล้วกราบลง 3 ครั้ง จึงกล่าวว่า “ยาพ่อเฒ่าเอยการที่หลานคิดสร้างพระรูปได้สำเร็จลงแล้ว กว่า 200 ปีแล้วจึงได้มีพระรูปของญาพ่อเฒ่ากลับไปบ้านเมือง ของเราปกปักษ์รักษาลูกหลานบ้านเมืองญาพ่อเฒ่าสืบไป แล้วเอาพวงมาลัยคล้องพระกรแล้วก้มกราบลง ขณะนั้นข้าพเจ้าดีใจว่าความคิดสำเร็จแล้ว ได้รูปญาพ่อเฒ่าขึ้นมาเป็นรูปร่างอย่างสง่างาม ดีใจและปลื้มใจเป็นอย่างที่สุดที่จะกล่าวออกมาได้แต่นั่งสะอึกสะอื้นน้ำตาไหลซึมและก้มลงกราบหมอบร้องไห้อยู่คนเดียวตั้งนานแม้ทุกวันนี้ นึกถึงตอนนั้นก็ยังอดที่จะร้องไห้ไม่ได้” (นายบำเพ็ญ ณ อุบล,2551 : สัมภาษณ์)
ในที่สุดปี พ.ศ.2532 จังหวัดอุบลราชธานีก็ได้มีอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เจ้าคำผง” ช่วงวันที่ 9-10 พฤศจิกายน ของทุกๆปี จะมี “พิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)” หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือร่วมใจกันจัดงานขึ้นเพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณและวีรกรรมของวีรบุรุษผู้สร้างเมือง โดยงานพิธีสดุดีอดีตเจ้าเมืองอุบลราชธานีนี้เริ่มจัดครั้งแรกในปีพ.ศ.2539 และต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง : ปวีณา ป้องกัน. “การเมืองเรื่องพื้นที่และการสร้างตัวตน
ของสายตระกูลอดีตเจ้านายเมืองอุบลราชธานี”,
วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา :
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2552.
ที่มาของภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี
(จำนวนผู้เข้าชม 5553 ครั้ง)