เกี่ยวกับหน่วยงาน
ในปีพ.ศ.๒๕๓๗ กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณและใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสนามม้าเดิม ตั้งอยู่ที่ ๗๔ หมู่ ๑๐ ถ.เลี่ยงเมือง ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในเนื้อที่ ๒๐ ไร่ ก่อสร้างอาคารซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตแข็งแรง ๓ ชั้น หลังคาทรวงไทย ส่วนยอดหลังคาทำเป็นองค์พระธาตุพนมสัญลักษณ์แห่งพื้นถิ่น
เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๕ พรรษา กรมศิลปากรได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตให้เป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี" และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานีสืบไป การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๕๓๙
ปัจจุบัน หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี เป็นหน่วยงานส่วนกลาง สังกัดสำนักศิลปากรที่ ๑๑ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานเอกสารของส่วนราชการต่างๆ ครอบคลุมทั้ง ๒๐ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้
๑. งานรวบรวมเอกสาร พิจารณา ตรวจสอบ ติดตาม รับมอบเอกสารของส่วนราชการที่ครบอายุการเก็บรักษา รวมทั้งการรวบรวมและรับมอบเอกสารจากเอกชน
๒. งานเอกสารสำคัญ คัดเลือกและประเมินคุณค่าเอกสารที่รวบรวมได้ให้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ แล้วนำมาจัดหมวดหมู่และทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า
๓. งานบันทึกเหตุการณ์ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่นเพื่อนำมาจัดทำเป็นจดหมายเหตุ
๔. งานบริการ ให้บริการเอกสารจดหมายเหตุในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและจัดกิจกรรมเผยแพร่งานจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 521 ครั้ง)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี มีพันธกิจที่จะเป็นศูนย์กลางในการให้คำแนะนำการจัดเก็บ การทำลาย การส่งมอบเอกสารทางราชการของจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งให้บริการค้นคว้าและทำสำเนาเอกสารจดหมายเหตุ ตลอดจนจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ต่างๆ แก่ประชาชน
(จำนวนผู้เข้าชม 449 ครั้ง)