ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 35,090 รายการ
โบราณสถานพะเนียดคล้องช้าง เมืองลพบุรี
“...ราวหนึ่งในสี่ของลิเออ (๑ กิโลเมตร) จากเมืองละโว้มี เพนียดอยู่แห่งหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคันดินสูงเป็นที่นั่งดูของผู้ทัศนา ภายในแนวคันดินนี้มีเสาต้นใหญ่ๆ ปักลงในดิน ห่างกันชั่วระยะสองฟุต ใช้เป็นช่องสำหรับหลบออกมาของพวกนักล่าช้างเมื่อถูกช้างไล่ติดพันมา ทางด้านท้องทุ่งนั้นมีช่องทางเข้าออกใหญ่ และตรงกันข้ามด้านที่มาจากในเมืองนั้น เขาสร้างเป็นช่องทางเล็กๆ เข้าไว้เป็นทางเดินแคบๆ ซึ่งช้างจะผ่านไปได้โดยยาก ทางแคบนี้สิ้นสุดลงที่คอกใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งเขาใช้เป็นที่สำหรับฝึกช้างให้เชื่อง…”
จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ของบาทหลวงตาชารด์
โบราณสถานพะเนียดคล้องช้าง ตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๗๗x๙๕ เมตร มีคันดินกว้าง ๑๐ เมตร ความสูง ๒-๓ เมตร ล้อมรอบ ทางทิศตะวันออกเว้นเป็นช่องทางเข้า-ออก ส่วนทางทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับประตูเมืองเของเขตคูเมืองกำแพงเมืองชั้นที่ ๒ เมืองลพบุรี ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยของแนวกำแพงก่ออิฐถือปูน และช่องประตูที่มีเสาและบานประตูไม้เสริมความแข็งแรงด้วยหมุดเหล็ก ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ประตูพะเนียด” ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับประวัติการก่อสร้าง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๒๑๖ เนื่องจากจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกเหตุการณ์ไว้ โดยสรุปว่า เมืองละโว้เป็นเมืองที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดการเสด็จมาประทับมากกว่าเมืองอื่นๆ พระองค์เสด็จมาประทับทุกๆ ปีคราวละ ๙-๑๐ เดือน เพื่อทรงไล่เสือและคล้องช้าง ส่วนในจดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชารด์ ซึ่งเดินทางมากับคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ได้บันทึกเรื่องราวการจับช้างและฝึกช้างให้เชื่องซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดให้ เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสและคณะได้ชม
นอกจากนี้ในผังเมืองละโว้ Plan de la Ville de Louvo ที่มีการคัดลอกและพิมพ์เผยแพร่ต่อกันมาจากต้นฉบับแผนที่ร่างโดยเมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ (M. de la Mare) ผู้ร่วมเดินทางมากับคณะราชทูตเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เมื่อปี ๒๒๒๘ พบว่าในทางด้านทิศตะวันออกของเมืองละโว้นอกแนวกำแพงเมืองชั้นที่ ๒ บริเวณตรงกับประตูเมืองปรากฏสิ่งก่อสร้างเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ภายในมีแนวของสิ่งปลูกสร้างเป็นจุดตั้งเรียงกันผังรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้น และทางด้านทิศตะวันตกในส่วนที่อยู่ถัดจาก ประตูเมืองออกไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมซึ่งอาจจะเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างบางอย่าง และมีคำอธิบายเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “ที่ที่เรานำช้างมา” และ “ไว้เก็บช้างป่า” สอดคล้องตรงกับปรากฏในแผนที่ Plan de la Ville de Louvo Demeure ordinaire des Rois de Siam ของกรมแผนที่ทหาร พิมพ์ปี ๒๔๗๗ ที่มีคำอธิบายภาษาไทยคู่กับชื่อสถานที่ต่างๆซึ่งบรรยายไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยกล่าวถึงบริเวณดังกล่าวว่า “พระเนียดเป็นที่สำหรับจับช้างป่า” ซึ่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานพะเนียดคล้องช้างดังกล่าวนี้มีความสำคัญทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในปี ๒๕๖๓ สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ทำการขุดตรวจทางโบราณคดีพะเนียดคล้องช้าง ประตู
พะเนียด และคันดินกำแพงเมือง เมืองลพบุรี พบหลักฐานว่าการสร้างพะเนียดคล้องช้างใช้วิธีการขุดลอกหน้าดินออก เพื่อนำไปพูนเป็นแนวคันดินโดยรอบเชื่อมต่อกับแนวกำแพงเมืองชั้นที่ ๒ หลังจากนั้นจึงนำเอาเศษอิฐหักมาบดถมปรับพื้นที่ แต่ไม่พบร่องรอยของเสาตะลุง ตามที่ปรากฏหลักฐานในผังเมืองละโว้ Plan de la Ville de Louvo ของคณะราชทูตและบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ในพะเนียดคล้องช้างมีการจัดระบบประปาวางท่อดินเผานำน้ำเข้ามาใช้ โดยมีบ่อพักน้ำก่ออิฐถือปูนมีอาคารหลังคาคลุม แนวของท่อประปาจะผ่านเข้ามาทางทิศตะวันออกของพะเนียดคล้องช้าง
การศึกษาชั้นดินทางวัฒนธรรมพบว่ามีการใช้งานพะเนียดคล้องช้าง ๒ สมัย คือ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง ท่อดินเผา ชิ้นส่วนงาช้าง และเครื่องมือเหล็ก และสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔-๕ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน
ส่วนการขุดตรวจทางโบราณคดีบริเวณประตูพะเนียดและคันดินกำแพงเมือง เมืองลพบุรี พบหลักฐานว่ามีการก่อสร้างและใช้งาน ๓ ระยะ ได้แก่ สมัยแรกเริ่มกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ พบร่องรอยการปักเสาระเนียดที่อาจเป็นแนวกำแพงเมืองรุ่นแรก ในระยะที่ ๒ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ มีการสร้างคันดินความสูงไม่มากนักขึ้นทางทิศตะวันออกของแนวเสาระเนียดเดิม และก่อกำแพงอิฐขึ้นบนคันดิน นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของการขุดตัดแนวคันดินและกำแพงอิฐออกไปสอดคล้องกับบันทึกในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้รื้อแนวกำแพงอิฐเมืองลพบุรีออก และระยะที่ ๓ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศตวรรษที่ ๒๓) ปรากฏร่องรอยการถมดินเสริมแนวกำแพงเมืองให้มีความสูงเพิ่มขึ้น พร้อมกับการซ่อมแซมประตูและกำแพงเมืองขึ้นใหม่
ผู้เรียบเรียงข้อมูล :
นางสุริยา สุดสวาท นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
เอกสารประกอบ :
ตาชารด์,บาทหลวง. จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ประเทศสยาม ครั้งที่ ๑ และจดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่
ประเทศสยามครั้งที่ ๒ ของบาทหลวงตาชารด์ และภาคผนวกเรื่องไทยกับฝรั่งเศสเป็นเป็นไมตรีกัน
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (สันต์ ท. โกมลบุตร,ผู้แปล). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๕๑
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟีเจอร์วัน. รายงานผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน
ประตูเพนียดและเพนียดคล้องช้าง ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ตำบลทะเลชุบศร
อำเภอเมืองลพบุรี เสนอสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓