พระพุทธรูปจีวรลายดอกปางห้ามสมุทร
พระพุทธรูปจีวรลายดอกปางห้ามสมุทร
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๔๓๔
ได้รับจากวัดวิเศษการ กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปจีวรลายดอก ทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงปางห้ามสมุทร พระพักตร์กลม รัศมีเป็นเปลวสูง พระอุษณีษะใหญ่ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ทรงจีวรห่มเฉียง จีวรพาดพระกรซ้ายและทิ้งชายลงทางด้านซ้าย จีวรเป็นลายดอกพิกุล ทรงยืนบนฐานแปดเหลี่ยม มีอักษรภาษาไทยจารึกว่า “ พระองค์นี้ แม่รอดมารดา แม่ปุ้ยบุตร ทร่างไว้...าหนา (ศัก) ราชหล้วง ๒๔๓๔ ”
การสร้างพระพุทธรูปจีวรลายดอก ปรากฎมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฎในเอกสารเรื่องการถวายผ้าแพรอย่างดีแด่พระพุทธปฏิมาในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ครั้งรัชกาลที่ ๑ ความว่า “ทรงพระกรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่ง ทรงพระพุทธรูปในวิหารทิศ พระระเบียงวิหารคดการบุเรียน พระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่น้อยสิ้นแพรร้อยพับ แต่พระพุทธรูปเทวะปฏิมากรในพระอุโบสถ ทรงผ้าทับทิมชั้นใน ตาดชั้นนอก”
จีวรลายดอกได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ พุทธศาสนิกชนมีศรัทธานำผ้าย่ำตะหนี่ [Jamdani -ผ้าฝ้ายเนื้อบางละเอียด ทอลายดอกไม้ขนาดเล็กทั้งผืน] ผ้ามัสลินเนื้อดี มีราคาค่อนข้างสูง นำเข้าจากเบงกอลมาถวายพระสงฆ์ ลักษณะของผ้าย่ำตะหนี่ ที่นำมาถวายยังคงยึดถือตามพระวินัยโดยเป็นผ้าทอลายดอกขนาดเล็ก จากพระวินัยปิฎก มหาวรรค จีวรขันธกะ ระบุว่าพระฉัพพัคคีย์ครองจีวรชายเป็นลายดอกไม้ ชาวบ้านพากันติเตียนว่าเหมือนคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...ภิกษุไม่พึงทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้...รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฎ ” และปรากฏต่อมาในหนังสือ วินัยมุข พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า “จีวรนั้น ไม่โปรดให้เป็นของกาววาว [แวววาว ฉูดฉาด] จึงทรงห้ามไม่ให้ใช้จีวรดอกเป็นลายรูปสัตว์ เป็นลายดอกไม้ เว้นไว้แต่เป็นดอกเล็ก ๆ ที่ไม่กาววาว เช่นดอกเม็ดพริกไทย หรือเป็นริ้ว เช่นแพรโล่ ”
ลวดลายบนไตรจีวรสะท้อนผ่านจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารพระไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ช่างเขียนรูปพระพุทธเจ้าทรงจีวรลายดอกขนาดใหญ่ ส่วนพระสงฆ์ครองจีวรลายดอกขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากผ้าย่ำตะหนี่แล้ว ยังนิยมถวายผ้าแพรจีนที่มีลายดอกดวงต่าง ๆ ตัดเย็บเป็นจีวรถวายพระสงฆ์เช่นกัน จากความนิยมนี้เอง ส่งผลให้ช่างหล่อพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกดวงชนิดต่าง ๆ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การถวายจีวรลายดอกแด่พระภิกษุสงฆ์เสื่อมความนิยมลงและไม่ค่อยปรากฎหลักฐานเท่าไหร่นัก คงมีแต่การถวายผ้าห่มพระพุทธรูปทำจากผ้าแพรลายดอก หรือผ้านำเข้าเป็นผ้าที่ตกแต่งให้มีความสวยงาม ส่วนการหล่อพระพุทธรูปยังคงปรากฎเช่นเดิมว่ายังมีนิยมทรงจีวรลายดอกและสร้างต่อเนื่องมาจนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือเมื่อราว ๗๐ ปีที่ผ่านมา
อ้างอิง
อานุภาพ นันติ. รูปแบบและกรรมวิธีการสร้างพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกสมัยรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๒.
พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๑.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ และอรรถกถา. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕.
วชิรญาณวโรรส. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. วินัยมุข เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓๑. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราช วิทยาลัย, ๒๕๔๓.
เรียบเรียง: นายปภังกร คงถาวรเจริญกิจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนโรงเรียนกสิณธรเซนต์ปีเตอร์
นักเรียนจิตอาสา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ๒๕๖๗
ตรวจแก้: ภัณฑารักษ์ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(จำนวนผู้เข้าชม 313 ครั้ง)