องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช
 
     กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ตำบลในเมือง  อำเภอเมืองฯ  จังหวัดนครศรีธรรมราช  สันนิษฐานว่ากำแพงเมืองนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยอยุธยา ราว พ.ศ.๒๒๒๙ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้มิสเตอร์ลามาร์ (Monsieur Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศส เข้ามาทำแผนที่และร่างแบบแปลนแผนผังป้อมและกำแพงเมือง
 
     ลักษณะของกำแพงเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูเมืองล้อมรอบ ๑ ชั้น ขนาดความกว้างของเมือง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ความยาว ประมาณ ๒,๒๓๙ เมตร แนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและตะวันตกถูกเกลื่อนกลายเป็นถนนแล้วตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหลือเพียงกำแพงด้านทิศเหนือฟากตะวันออกประมาณ ๑๐๐ เมตร ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน อยู่บนสันเชิงเทินดิน ยอดกำแพงก่ออิฐเป็นรูปใบเสมามีป้อมตรงกลางปากประตูเมือง (ติดกับสะพานนครน้อย) คูเมืองด้านทิศเหนือ (คลองหน้าเมือง) ยังมีสภาพค่อนข้างดี เนื่องจากได้รับการบำรุงรักษาขุดลอกอยู่เสมอ โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คูเมืองด้านทิศตะวันออกได้รับผลกระทบจากการรื้อกำแพงเมืองไถปรับเป็นถนนศรีธรรมโศก คูเมืองจึงถูกถมและถูกบุกรุกปลูกสร้างบ้านเรือนสภาพตื้นเขินและขาดเป็นช่วง ๆ หมดสภาพแล้ว กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกกลายเป็นถนนศรีธรรมราช คูเมืองตื้นเขินเหลือเพียงร่องน้ำเล็ก ๆ กำแพงเมืองด้านทิศใต้กลายเป็นที่ราบคูเมืองด้านทิศใต้คือคลองป่าเหล้าเป็นลำน้ำธรรมชาติ 
 
     ปัจจุบันกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
 
 
จัดทำโดย
นายสรรชัย แย้มเยื้อน และ นายสหภาพ ขนาน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช #โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนนครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
๑) นภัคมน ทองเฝือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓
๒) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. โบราณสถานอำเภอเมือง-อำเภอท่าศาลา-และอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช. สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช, ๒๕๖๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 1576 ครั้ง)

Messenger