พิพิธภัณฑ์สรรหาสาระ บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
“บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หน้ารอยพระพุทธบาทคู่ เมืองศรีมโหสถ”
ในช่วงเทศกาลมาฆปูรมีศรีปราจีน ครั้งที่ ๓๘ ประจกปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่จะจัดขึ้น ณ โบราณสถานสระมรกต อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หน้ารอยพระพุทธบาทคู่ ภายในโบราณสถานสระมรกต มาให้ทุกท่านได้ชมกัน
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้ารอยพระพุทธบาทคู่
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ตั้งอยู่ในกลุ่มโบราณสถานหมายเลข ๑ ของกลุ่มโบราณสถานสระมรกต ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี โดยกลุ่มโบราณสถานสระมรกตนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจกานุเบกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้มีการสำรวจและขุดค้นโบราณสถานหมายเลข ๑ เพิ่มเติมในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔ – พ.ศ.๒๕๒๑ ได้พบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆได้แก่ โคปุระ บรรณาลัย ปราสาทประธาน กำแพงแก้ว รวมทั้งบ่อน้ำโบราณ ที่ชาวบ้านเป็นผู้ขุดพบมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้มีการขุดแต่งอย่างเป็นทางการ เห็นเป็นเพียงหลุมลงไปจนถึงบ่อด้านล่าง
ต่อมาในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๒๙ – ๒๕๓๐ ได้มีการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่โบราณสถานสระมรกต โดยได้รับความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีหน่วยศิลปากรที่ ๕ (สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดำเนินงาน การดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนั้น ได้พบหลักฐานต่าง ๆ มากมาย และแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของกลุ่มโบราณสถานสระมรกตได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ที่เก่าที่สุดในประเทศไทยด้วย
การดำเนินงานทางโบราณคดีในกลุ่มโบราณสถานสระมรกตที่ผ่านมา สามารถจำแนกอาคารและสิ่งก่อสร้างได้เป็น ๒ สมัย ได้แก่
- สมัยที่ ๑ กลุ่มโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดี ได้แก่ รอยพระพุทธบาทคู่ วิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท วิหารด้านหน้ารอยพระพุทธบาท ลานประทักษิณและกำแพงแก้วรอบวิหารรอยพระพุทธบาท บ่อน้ำด้านหน้ารอยพระพุทธบาท
- สมัยที่ ๒ กลุ่มโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สมัยบายน ได้แก่ โคปุระ อาคารรูปกากบาท ๒ หลังหรือปราสาทประธาน บรรณาลัย แนวกำแพงแก้วศิลาแลง และฐานอาคารศิลาแลง
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้ารอยพระพุทธบาทคู่
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ขอบลานประทักษิณด้านทิศตะวันออกของวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทคู่ บริเวณที่ติดกับฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกับอาคารรูปกากบาทหลังที่ ๒ ของกลุ่มปราสาทประธาน มีลักษณะเป็นบ่อกลมที่เจาะลงไปในพื้นศิลาแลงธรรมชาติ ผนังด้านในบ่อเรียบ ปากบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลงสูงระดับเดียวกับฉนวนทางเดิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑๐ เมตร
แผนผังกลุ่มโบราณสถานสระมรกต
ที่มาภาพ : หน่วยศิลปากรที่ ๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, รายงานการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้ารอยพระพุทธบาทคู่
บ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่หลังการขุดค้น
ที่มาภาพ : หน่วยศิลปากรที่ ๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, รายงานการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี หน้า ๓๕
บ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่หลังการขุดค้น
ที่มาภาพ : หน่วยศิลปากรที่ ๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, รายงานการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี หน้า ๓๔
โบราณวัตถุที่พบในบ่อน้ำ ก่อนนำขึ้นมาเก็บรักษา
โบราณวัตถุที่พบในบ่อน้ำ ภายหลังนำขึ้นมาเก็บรักษา
โบราณวัตถุที่พบในบ่อน้ำ นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖
จากการขุดลอกบ่อน้ำโบราณกลางโบราณสถานสระมรกตในครั้งนั้นได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก ได้แก่ เสาแกะสลัก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปนาคปรก หม้อน้ำหรือคนโท ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ทั้งบราลี กระเบื้องเชิงชาย และกระเบื้องมุงหลังคา
เสาศิลาสลัก เสารูปทรงกระบอก ส่วนยอดเป็นรูปทรงกลม ด้านบนมีร่องรอยเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม ถัดลงมาเป็นกลีบบัวคว่ำ บัวหงาย และกรอบสี่เหลี่ยมห้ากรอบ ด้านในสลักเป็นภาพยักษ์แบก แต่ละภาพมีรูปร่างและท่าทางแตกต่างกัน ด้านล่างสุดทำเป็นเดือยทรงกระบอก เสาศิลาสลักนี้สันนิษฐานว่านนน่าจะเป็นส่วนยอดของเสาสำหรับประดิษฐานธรรมจักรหรือรูปเคารพทางศาสนา
พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้อนกันเหนือพระเพลา ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปน พระขนงต่อกัน พระนาสิกใหญ่แบน พระอุษณีษะนูน พระกรรณยาวจรดพระอังสา ครองจีวรห่มเฉียง ฐานเรียบ ลักษณะพระพุทธรูปที่มีขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ เป็นลักษณะของพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่พบในภาคกลางของประเทศไทย และมีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบอังกอร์โบเรย ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สมัยก่อนเมืองพระนคร การพบพระพุทธรูปองค์นี้บริเวณเมืองศรีมโหสถที่มีหลักฐานวัฒนธรรมแบบทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณในพื้นที่เดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของวัฒนธรรมทั้งสองที่อาจมีต้นแบบร่วมกันจากพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียภาคใต้และลังกา ที่เข้ามาแพร่หลายในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ ซึ่งถือได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดที่พบในเมืองศรีมโหสถ
พระพุทธรูปนาคปรก พระพักตร์เหลี่ยม พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง พระหัตถ์ซ้อนกันเหนือพระเพลาแสดงปางสมาธิ ประทับบนขนดนาค ๒ ชั้น ใต้พังพานนาคเจ็ดเศียร การพบพระพุทธรูปองค์นี้เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการขยายอิทธิพลทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรเขมรโบราณ สมัยบายน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ เข้ามายังพื้นที่เมืองศรีมโหสถ โดยเฉพาะกลุ่มโบราณสถานสระมรกตที่มีการสร้างอาโรคยาศาลาขึ้นบริเวณเดียวกับวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖
หม้อน้ำ/คนโท หม้อน้ำหรือคนโท มีลักษณะเป็นคนโทปากบาน คอเล็ก ลำตัวภาชนะป่อง ก้นกลม มีลายเส้นที่คอ การพบคนโทหลายชิ้นในบ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่ แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการใช้คนโทเหล่านี้ตักน้ำในบ่อน้ำไปใช้ มาตั้งแต่ครั้งอดีต
บราลี เป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่ตั้งเรียงประดับอยู่บนสันหลังคา มีลักษณะคล้ายหม้อน้ำเป็นแท่งทรงกระบอก ส่วนยอดเรียวแหลม ด้านในกลวง โดยบราลีที่พบภายในบ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่ ทำเป็นแท่งทรงกระบอก ส่วนยอดคล้ายดอกบัวตูมมืทั้งยอดเรียวแหลม และยอดกลมป้อม ส่วนฐานของบราลีมีทั้งแบบทำเป็นแผ่นโค้งมุมแหลมและแบบทำเป็นแผ่นโค้ง
กระเบื้องมุงหลังคา ที่พบในบ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่ ประกอบด้วยกระเบื้อง ๒ แบบ ได้แก่
- กระเบื้องแผ่นแบน หรือกระเบื้องตัวเมีย เป็นกระเบื้องที่ใช้สำหรับวางบนระแนงไม้ มีลักษณะเป็นแผ่นแบน กว้าง ขอบทั้งสองข้างยกขึ้นเล็กน้อย ด้านใต้กระเบื้องทำเป็นสันหรือขอบนูนตามแนวขวาง ๑ แนว สำหรับวางเกี่ยวกับระแนงไม้
- กระเบื้องแผ่นโค้ง หรือกระเบื้องตัวผู้ เป็นกระเบื้องที่ใช้สำหรับวางครอบบนกระเบื้องตัวเมีย มีลักษณะเป็นกระเบื้องลอน รูปทรงโค้ง ด้านในทำเป็นเดือยยื่นออกมาสำหรับเกี่ยวกับกระเบื้องตัวเมีย
กระเบื้องมุงหลังคาทั้ง ๒ แบบที่พบเป็นลักษณะของการมุงหลังคาของอาคารในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่มีการซ่อมแซมวิหารรอยพระพุทธบาทคู่ โดยเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องเชิงชายและประดับสันหลังคาด้วยบราลี
กระเบื้องเชิงชาย เป็นส่วนหนึ่งการมุงหลังคาอาคารที่ใช้ปิดส่วนปลายของชายหลังคา เพื่อป้องกันสัตว์ขนาดเล็กเข้าไปในช่องว่าง กระเบื้องเชิงชายที่พบในบ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่ รวมถึงที่พบการจากขุดค้นในโบราณสถานสระมรกต ส่วนใหญ่ทำเป็นลายกลีบบัว ที่ขอบล่างทำเป็นช่องเว้าทรงโค้ง ๒ ช่อง เพื่อให้ขอบที่ยกขึ้นมาของกระเบื้องตัวเมียสอดเข้ามาได้และเป็นการยึดไม่ให้กระเบื้องหลุดออกจากกัน
บ่อน้ำศักดิ์หน้ารอยพระพุทธบาทคู่ กับพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีการจัดเตรียมทำน้ำอภิเษกโดยพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ โดยทั้ง ๗๖ จังหวัด จัดทำพิธีพร้อมกันเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ สำหรับจังหวัดปราจีนบุรี มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีตักน้ำ ถึง ๒ แห่ง ได้แก่ บ่อน้ำหน้ารอยพระพุทธบาทคู่และโบราณสถานสระแก้ว แห่งเมืองศรีมโหสถ
พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์ในจังหวัดปราจีนบุรี
ที่มาภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี
พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์ในจังหวัดปราจีนบุรี
ที่มาภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี
พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์ในจังหวัดปราจีนบุรี
ที่มาภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี
เอกสารอ้างอิง
(จำนวนผู้เข้าชม 1200 ครั้ง)