...

พระคเณศศิลา เมืองศรีมโหสถ จากบทวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
“พระคเณศศิลา เมืองศรีมโหสถ จากบทวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล”

พระคเณศศิลา ประติมากรรมหินขนาดใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในประเทศไทย พบจากการขุดค้นเมืองโบราณศรีมโหสถ เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ เมืองพระรถ ดงศรีมหาโพธิ์ หลังจากการค้นพบดับกล่าว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงวินิจฉัย และได้ทรงนิพนธ์ไว้ในบทความเรื่อง “ประติมากรรม ๔ รูป ซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่ภายในประเทศไทย” เพื่อการแสดงปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในการประชุม Congress of Orientalists ครั้งที่ ๒๙ ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๕๑๖ ดังนี้
“....ได้ค้นพบประติมากรรมที่สำคัญ ๔ รูป ภายในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ รูปแรกเป็นพระคเณศศิลา สูง ๑.๗๐ เมตร พบ ณ เทวาลัยกลางเมืองพระรถ ดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองนี้มีชื่อว่าอวัธยปุระในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตามจารึกภาษาขอมสั้นๆ ที่สลักบนฐานคันฉ่องสัมฤทธิ์ ค้นพบที่ซากโบราณสถานหมายเลข ๑๑ ซึ่งอยู่นอกเมืองพระรถทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในและนอกเมืองนี้ได้เคยค้นพบประติมากรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) และลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) รวมทั้งเทวรูปรุ่นเก่า (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓) เมืองพระรถเป็นเมืองรูปไข่ กว้าง ๑ กิโลเมตร ยาว ๒ กิโลเมตร มีคูกว้าง ๑๖ เมตรล้อมรอบ ใกล้คูทางทิศใต้ ตะวันออก และตะวันตกยังคงมีร่องรอยของกำแพงศิลาแลงสูง ๖ เมตร กำแพงนี้คงเป็นกำแพงล้อมรอบเมืองมาก่อน

เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ค้นพบประติมากรรมรูปพระคเณศองค์นี้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ในหมู่เทวาลัยในศาสนาพราหมณ์กลางเมืองพระรถใน พ.ศ. ๒๕๑๕ เทวาลัยเหล่านี้ปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานศิลาแลง มีอยู่ ๖ หลัง ที่ได้รับการขุดแต่งในบริเวณใกล้เคียงกัน สี่หลังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสองหลังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เทวรูปพระคเณศถูกค้นพบหน้าเทวาลัยหลังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใหญ่ที่สุดซึ่งอยู่ตรงกลางของหมู่ และมีบ่อน้ำอยู่เบื้องหลัง ได้ค้นพบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครก็ได้คุมเข้าเป็นรูปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นเทวรูปซึ่งไม่ทรงเครื่องอาภรณ์ประทับนั่งอยู่เหนือฐานศิลาใหญ่ซึ่งมีร่องสำหรับให้น้ำมนต์ไหลอยู่เบื้องหน้า (โยนี) เส้นนูนซึ่งอาจเป็นสายรัดองค์หรือขอบผ้าทรงยังคมมีเหลืออยู่บนบั้นพระองค์ด้านหลัง จากด้านหลังของพระเศียรลงมามีรอยสลักเว้าเข้าไปทางตอนกลางของพระองค์ พระคเณศทรงมีแต่เพียง ๒ พระหัตถ์ และหัตถ์ทั้งสองก็หักไปหมดสิ้น ด้านหน้าของพระพักตร์ก็แตกหักไปเช่นเดียวกัน แต่ยังคงมองเห็นงาด้านขวาและสีพระพักตร์ซึ่งแสดงถึงความมีอำนาจได้ มีลายก้านขดเล็กๆ และเส้นข้างใต้อีกเส้นหนึ่งเหนือต้นงวงทางด้านขวา พระกรรณและด้านบนของพระเศียรสลักตามแบบศรีษะช้างอย่างแท้จริง ถ้าพิจารณาจากรูปร่างอย่างง่ายๆ และไม่มีเครื่องอาภรณ์ของเทวรูปองค์นี้ ก็อาจนำไปเปรียบเทียบได้กับเทวรูปพระคเณศจากตวลผักกิน (Tual Phak Kin) ในสาธารณัฐเขมรซึ่งศาสตราจารย์ ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) กะกำหนดอายุอายุไว้ว่าอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ และพระคเณศซึ่งค้นพบที่เมืองพระรถ ดงศรีมหาโพธิ์ ก็อาจมีอายุอยู่ในสมัยใกล้เคียงกัน พระคเณศซึ่งค้นพบที่เมืองพระรถยังมีฐานกลมหรือรูปไข่ประดับด้วยกลับบัวหงายอีก ลายเช่นนี้ยังคงมีเหลืออยู่บ้างทางด้านซ้ายภายใต้องค์ของพระคเณศ ฐานนี้อยู่เหนือฐานใหญ่ (โยนี) ที่กล่าวมาแล้วอีกต่อหนึ่ง”

เมื่อพิจารณาจากบทวิเคราะห์ดังกล่าว รูปแบบสันนิษฐานของพระคเณศที่พบจากเมืองศรีมโหสถ เมื่อขณะแรกสร้างที่ในสภาพสมบูรณ์คงเป็นดังเช่นภาพลายเส้นประกอบ

เอกสารอ้างอิง :
- ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. “ประติมากรรม ๔ รูป ซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่ภายในประเทศไทย” แสดงปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษในการประชุม Congress of Orientalists ครั้งที่ ๒๙ ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๕๑๖

ผู้เรียบเรียบ: นางสาววัชรี ชมภู ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
 

(จำนวนผู้เข้าชม 2314 ครั้ง)


Messenger