...

พระพุทธโสธร ประวัติ ตำนาน และงานพุทธศิลป์
"พระพุทธโสธร ประวัติ ตำนาน และงานพุทธศิลป์"
............................................................
--สืบเนื่องจากกระแสข่าวขององค์พระพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี จึงขอนำเรื่องราว ประวัติ ตำนาน และรูปแบบทางพุทธศิลปกรรม มาเผยแพร่ในโอกาสนี้
--พระพุทธโสธร หรือที่โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโสธร ตามประวัติความเป็นมากล่าวว่าประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๓๑๓ มีตำนานแสดงถึงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่าเดิมทีนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ต่อมาบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ระส่ำระสายจึงได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำลงมาพร้อมกับพี่น้อง ๓ องค์ พระพุทธรูปองค์พี่มีขนาดใหญ่ล่องไปถึงแม่น้ำแม่กลอง ชาวประมงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “หลวงพ่อบ้านแหลม” พระพุทธรูปองค์เล็กล่องเข้าไปที่คลองบางพลี คือหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางนั้นล่องไปทางแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดหงส์ ชาวบ้านจำนวนมากช่วยกันยกฉุดแต่ก็ไม่สามารถนำขึ้นจากน้ำได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งได้ทำพิธีบวงสรวง และใช้ด้ายสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์อัญเชิญขึ้นจากน้ำเป็นอันสำเร็จ วัดหงส์นี้กาลภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโสธร และขนานนามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธินี้ตามชื่อวัดคือ “หลวงพ่อโสธร”
--พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม รศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๕๑) คราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี ทรงกล่าวถึงพระพุทธโสธรไว้ว่า “...กลับมาแวะวัดโสธรซึ่งกรมหลวงดำรงคิดจะแปลว่า ยโสธร จะให้เกี่ยวข้องแก่การที่ได้สร้างเมื่อเสดจกลับจากไปตีเมืองเขมรแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถหรือเมื่อใดราวนั้น แต่เปนที่น่าสงสัยด้วยเห็นใหม่นัก พระพุทธรูปว่าทำด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเปนหมอดีนั้นคือองค์ที่อยู่กลาง ดูรูปตักและเอวงามเปนทำนองเดียวกันกับพระพุทธเทวปฏิมากร แต่ตอนบนกลายไป เปนด้วยฝีมือผู้ที่ไปปั้น ว่าลอยน้ำมาก็เปนความจริง เพราะเปนพระศิลาคงจะไม่ได้ทำในที่นี้ ความนิยมนับถือในความเจ็บไข้อยู่ข้างจะมาก มีคนไปมาเสมอไม่ขาดจนถึงมีร้านธูปเทียนประจำอยู่ได้ ทั้งสี่สะพานและที่ประตูกำแพงแก้วกว่า ๒๐ คน ถามดูว่าขายได้อยู่ในวันละกึ่งตำลึง มีทอดติ้วพวกจีนเข้ารักษา เจ้าศรีไสยถวายกำปั้นเหล็กเจาะช่องไว้สำหรับเรี่ยไรใบหนึ่ง...”
--จากเนื้อความดังกล่าวแสดงหลักฐานว่าพระพุทธโสธรนี้เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหิน อภินิหารความศักดิ์สิทธิขององค์พระพุทธโสธรทำให้มีผู้คนเดินทางมาบูชาสักการะเป็นจำนวนมากมิได้ขาดมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ จวบจนมาถึงปัจจุบันก็ยังมีประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธามากราบขอพรให้สำเร็จสมความปรารถนาอยู่เป็นจำนวนมาก
--ในด้านพุทธศิลป์ พระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๕ นิ้ว หรือ ๑๖๕ เซนติเมตร สูง ๑๙๘ เซนติเมตร พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนงโก่ง พระเนตรเล็กและเหลือบลงต่ำ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นทรงสูง สัดส่วนพระอุระค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับพระเพลาที่ดูกว้าง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี ปลายแยกเป็นสองชายคล้ายเขี้ยวตะขาบ ด้วยลักษณะสำคัญเช่น พระพักตร์ พระเศียร พระรัศมี รูปแบบชายสังฆาฎิ และเทคนิคการสร้างอ้างอิงจากการอนุรักษ์ครั้งสำคัญราวปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยกรมศิลปากร ซึ่งมีนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการบูรณะในขณะนั้น พบว่าพระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินทรายแยกเป็นชิ้นรวมจำนวน ๑๑ ชิ้น นำมาประกอบเข้าด้วยกันและลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนต้น ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร ได้กำหนดรูปแบบเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ ๒ สมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
--ทั้งนี้ ด้วยความสำคัญของประวัติ ความเป็นมา รูปแบบอายุสมัย ตลอดจนความเชื่อ ความศรัทธาของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และพุทธศาสนิกชนไทย ในฐานะพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๔๗ น ๘
++อ้างอิง++
--กรมศิลปากร. พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประกาสมณฑลปราจีน เมื่อ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑). กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.], ๒๔๙๕ (พิมพ์ในงานพระเมรุ พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕).
--คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดฉะเชิงเทรา. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.], ๒๕๔๒
--เลิศลักษณา บุญเจริญ (บรรณาธิการ). โสธรวรารามวรวิหาร มงคลคู่แปดริ้ว (ที่ระลึกในงานพระราชพิธียกยอดฉัตรพระอุโบสถหลังใหม่). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดาวฤกษ์ จำกัด, ๒๕๕๔
--วัดโสธรวรารามวรวิหาร. ประวัติหลวงพ่อโสธร. [ม.ป.ท.], ๒๕๑๑
--ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธปฏิมา งานช่างพลังแห่งศรัทธา. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๔
++ผู้เรียบเรียบ: นางสาววัชรี ชมภู ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี++

(จำนวนผู้เข้าชม 191690 ครั้ง)


Messenger