เรื่องของหอยจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี
พิพิธภัณฑ์สรรหาสาระ บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
“เรื่องของหอยจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี”
หอย เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยในการศึกษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในอดีต รวมทั้งความสัมพันธ์กับมนุษย์ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยหอยที่พบจากแหล่งโบราณคดีมีทั้งนิเวศวัตถุและโบราณวัตถุที่มนุษย์ในอดีตนำมาใช้หรือดัดแปลง
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี และการศึกษาของ G.M. Mason สามารถจำแนกชนิดของหอยได้กว่า 121 ชนิด ทั้งหอยฝาเดียว (Gastropods) และหอยสองฝา (Bivalves) โดยเป็นหอยที่มีถิ่นอาศัยทั้งหอยทะเล หอยน้ำจืดและหอยบก
หอยทะเล เป็นหอยที่พบมากที่สุดจากการขุดค้น ซึ่งหอยทะเลที่พบส่วนใหญ่เป็นหอยที่นำมาบริโภคเป็นอาหาร โดยสามารถจำแนกได้เป็น
- หอยฝาเดียว (Marine Gastropods) ที่พบจำนวนมาก ได้แก่
- หอยพระจันทร์ลายเสือหรือหอยตะกาย (Natica tigrina)
- หอยจุ๊บแจงยอดทู่ (Cerithidea obtusa)
- หอยขี้กาหรือหอยหลักควาย (Telescopium telescopium)
- หอยทะนนลายแต้ม (Nerita articulata)
- หอยหมาก/หอยนน (Ellobium aurisjudae) เป็นต้น
- หอยสองฝา (Marine Bivalves) ได้แก่
- หอยแครง (Anadara granosa (Tegillarca granosa)) เป็นหอยที่พบมากที่สุดและพบตลอดระยะการอยู่อาศัย กว่า 600,000 ชิ้น
- หอยตลับ (Meretrix lusoria)
- หอยลายหรือหอยหวาน (Paphia undulata (Paratapes undulata)) เป็นต้น
หอยน้ำจืดและหอยบก
- หอยฝาเดียว ได้แก่
- หอยขม (Filopaludina sp.)
- หอยโข่งปากส้ม (Pila pesmei)
- หอยงวงท่อลาย (Rhiostoma housei) เป็นต้น
- หอยสองฝา
- หอยกาบ (Pseudodon spp.)
- หอยกาบกี้ (Pilsbryoconcha exilis exilis)
- หอยกาบลาย (Uniandra contradens rustica (Contradens contradens rustica))
- หอยกาบน้ำจืด (Uniandra contradens tumidula) เป็นต้น
จากปริมาณของหอยที่พบทั้งหมดจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี พบว่าเป็นหอยที่มีถิ่นอาศัยบริเวณโคลนดินตามป่าชายเลนในเขตน้ำขึ้น-น้ำลง และเขตชายฝั่งเหนือน้ำขึ้น-น้ำลง บริเวณหาดทราย รวมทั้งพื้นท้องทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยแครง พบตั้งแต่การเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนโคกพนมดีและมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ ในสมัยต่อมา และพบปริมาณน้อยลงต่อเนื่องในสมัยสุดท้ายของการอยู่อาศัย ในขณะเดียวกันหอยชนิดที่มีถิ่นอาศัยอยู่ตอนในของป่าชายเลน หอยน้ำจืด และหอยบก ซึ่งพบน้อยในช่วงระยะแรกของการอยู่อาศัยกลับพบจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงสมัยต่อมา
จากหลักฐานของหอยที่ปรากฏ สามารถบอกได้ว่า ชุมชนโคกพนมดีเมื่อแรกเริ่มการเข้ามาอาศัย อาจจะตั้งอยู่ติดหรือใกล้กับปากแม่น้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถเดินทางออกสู่ทะเลได้ แต่ในระยะเวลาต่อมาพื้นที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกลายสภาพเป็นแผ่นดินและชุมชนโคกพนมดีเริ่มอยู่ไกลจากชายฝั่งทะเลมากขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มมีวิถีชีวิตและการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป ซึ่งสัมพันธ์กับชนิดและปริมาณของหอยที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- G.M. Mason. The Molluscan remains, The Excavation of Khok Phadom Di a prehistoric site in Central Thailand Volume II: The biological Remains (Part I) , 1991.
- Jarujin Nabhitabhata. Mollusca fauna Of Thailand.2009
- สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), บัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพมอลลัสกาในประเทศไทย: หอยสองฝาน้ำจืด. 2560.
- สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), บัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพมอลลัสกาในประเทศไทย: หอยฝาเดียวน้ำจืด. 2560.
- สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), บัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพมอลลัสกาในประเทศไทย: หอยสองฝาทะเล. 2560.
- สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), บัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพมอลลัสกาในประเทศไทย: หอยฝาเดียวทะเล. 2560.
ผู้เรียบเรียง : นายเพิ่มพันธ์ นนตะศรี ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 8403 ครั้ง)