หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรีได้เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งอ่าวไทย แต่แท้ที่จริงแล้ว แหล่งโบราณคดีโคกพนมดียังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยครั้งนี้ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแม่โคกพนมดีให้ได้รู้จักกัน
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ กรมศิลปากร ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โดยมีศาสตราจารย์ชาร์ลส ไฮแอม และนางรัชนี ทศรัตน์ เป็นผู้อำนวยการขุดค้นร่วม
การขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนั้น ได้มีการขุดพบหลุมฝังศพและโครงกระดูกจำนวนถึง ๑๕๔ โครง ฝังซ้อนทับกันถึง ๗ สมัย โดยมีโครงกระดูกหมายเลข ๑๕ เป็นหนึ่งในโครงกระดูกที่มีการขุดพบครั้งนั้น
โครงกระดูกหมายเลข ๑๕ มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี เนื่องจากเป็นโครงกระดูกที่มีการอุทิศสิ่งของเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประดับร่างกาย
โครงกระดูกหมายเลข ๑๕ เป็นหลุมศพของผู้หญิง อายุประมาณ ๓๕ ปี พบที่ระดับความลึก ๒.๕๐ เมตร ตัวหลุมศพมีขนาดใหญ่ กว้าง ๑ เมตร ยาว ๓ เมตร ลึก ๙๕ เซนติเมตร ฝังแบบนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากโครงกระดูกเจ้าแม่โคกพนมดีหรือโครงกระดูกหมายเลข ๑๕ พบหลักฐานเป็นจำนวนมากประกอบไปด้วย
- ลูกปัดเปลือกหอยแบบแว่นกลมมากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ เม็ด พบบริเวณส่วนหน้าอกและแผ่นหลัง ในลักษณะน่าจะเป็นลูกปัดที่เย็บติดกับผ้าหรือเสื้อคลุม
- ลูกปัดแบบตัวไอ ขนาดต่าง ๆ จำนวน ๙๕๐ เม็ด พบบริเวณหน้าอกและใต้แขน
- เครื่องประดับศีรษะทำจากเปลือกหอย มีลักษณะเป็นแผ่นกลม เจาะรูทะลุตรงกลาง พบบริเวณหูข้างละ ๑ อัน
- แผ่นวงกลมมีเดือยอยู่ตรงกลาง ทำจากเปลือกหอยจำนวน ๒ วง พบบริเวณไหล่ข้างละ ๑ วง
- กำไลเปลือกหอย สวมใส่อยู่ที่ข้อมือซ้ายจำนวน ๑ วง ซึ่งถือว่าเป็นกำไลวงแรกที่พบร่วมกับโครงกระดูก
- ภาชนะดินเผา ๑๐ ใบถูกทุบให้แตก โดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ พบวางในลักษณะกระจายปกคลุมลำตัวตั้งแต่ต้นขาถึงปลายเท้า และกลุ่มที่ ๒ พบวางอยู่บนกองของแท่นดินเหนียวที่วางทับลำตัวอยู่ โดยที่บางใบมีรูปร่างที่แตกต่างไปจากที่พบในหลุมศพอื่น
- หินดุ ๑ ชิ้น พบบริเวณกระดูกหน้าแข้งข้างขวา โดยหินดุนี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการผลิตภาชนะดินเผา ซึ่งจะพบแต่ในศพของผู้หญิงเท่านั้น
- ฝาหอยพอก จำนวน ๑ ชิ้น
อีกทั้งโครงกระดูกหมายเลข ๑๕ นี้ ยังมีดินเทศจำนวนปกคลุมร่างกาย รวมทั้งแท่งดินเหนียวดิบ จำนวนมากวางสุมทับลำตัวเป็นกองสูงเกือบเท่าถึงปากหลุม
จากลักษณะของกระดูกนิ้วมือที่ค่อนข้างแข็งแรง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้มือนวดดินในการปั้นหม้อ ประกอบกับการพบหินดุและหินขัดภาชนะดินเผา เจ้าแม่แห่งโคกพนมดีน่าจะเป็นช่างปั้นหม้อด้วย
จากการพบสิ่งของและเครื่องประดับจำนวนมาก แสดงว่า “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” คงเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญชุมชนในสมัยนั้น
เอกสารอ้างอิง :
- ชาร์ลส ไฮแอม,รัชนี ทศรัตน์. สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย, ๒๕๔๒.
- อำพัน กิจงาม. โคกพนมดี : แหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย. วารสารศิลปากร ฉบับที่ ๔ ก.ค. – ส.ค. ๒๕๔๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 3322 ครั้ง)