...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา โครงการอบรมเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายชุมชนและเยาวชนในพื้นที่เมืองมรดกโลกอย่างยั่งยืน

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา

๑.      ชื่อโครงการ โครงการอบรมเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายชุมชนและเยาวชนในพื้นที่เมืองมรดกโลกอย่างยั่งยืน

๒.      วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทุกภาคส่วนได้ศึกษาเรียนรู้การบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกอย่างมีระบบและยั่งยืน โดยศึกษาจากสถานที่และสถานการณ์จริง เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้กับการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร

๓.      กำหนดเวลา วันที่ ๒-๕ สิงหาคม ๒๕๕๙

๔.      สถานที่ ๑. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อังกอร์ (Angkor National Museum)

๒. ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมอังกอร์  (L’artisan d’angkor)

๓. ปราสาทบันทายศรี

๔. ปราสาทนครวัด

๕. ปราสาทตาพรหม

๖. ปราสาทบายน

 

๕.      หน่วยงานผู้จัด องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.๔)

๖.      หน่วยงานสนับสนุน

๗.      กิจกรรม

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๗.๐๐ น. ผู้ผ่านการสอบคัดเลือกและผู้เข้าร่วมเดินทางทั้งสิ้นจำนวน ๕๒ คน ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรด้านการท่องเที่ยวในเขตเมืองมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร นักเรียนในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือก เจ้าหน้าที่จาก อพท.๔ พร้อมกันที่สำนักงาน อพท.๔ แล้วออกเดินทางสู่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ระหว่างทางมีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจที่ต้องทำระหว่างศึกษาดูงาน ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา คือการสังเกตและศึกษากระบวนการใช้ประโยชน์และดูแลแหล่งมรดกโลก ตลอดจนการสื่อความหมาย การต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว

                   วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๔.๓๐ น. โดยประมาณ คณะศึกษาดูงานเดินทางถึงอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แวะทำธุระส่วนตัวที่โรงแรมพร้อมรับประทานอาหารเช้า จากนั้นเดินทางไปด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองลึกเพื่อข้ามพรมแดนเข้าราชอาณาจักรกัมพูชา เมืองปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย เปลี่ยนรถบัสแล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดเสียมเรียบ ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมง แวะพักครึ่งทางที่หมู่บ้านแกะสลักหินทรายของจังหวัดบันทายมีชัย

                   เดินทางถึงเมืองเสียมเรียบเวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. รับประทานอาหารกลางวันที่ร้านโตนเลสาป ซึ่งเป็นภัตตาคารระดับสามดาว บริการอาหารแบบบุฟเฟต์ จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อังกอร์ (Angkor National Museum) ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ขุดค้นได้ในเมืองเสียมเรียบ ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุในยุคเมืองพระนคร โดยมีบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการก่อตั้ง ภายในอาคารจัดแสดงนอกจากมีโบราณวัตถุจัดแสดงกว่า ๓,๐๐๐ ชิ้นแล้ว ยังมีการให้ความรู้ผ่านระบบมัลติมีเดียผ่านจอภาพในห้องฉายวีดิทัศน์ที่จุผู้ชมได้ ๒๗ ที่นั่ง เรียกว่าห้อง Briefing room เพื่อแนะนำพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดง การเข้าชมและเนื้อหาโดยสรุปของนิทรรศการทั้งหมด จากนั้นเป็นห้องจัดแสดงพิเศษ Exclusive Gallery หรือห้องจัดแสดงพระพุทธรูป ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งจัดแสดงพระพุทธรูปขนาดต่างๆ ศิลปะต่างๆ วัสดุต่างๆจำนวน ๑,๐๐๐ องค์ ต่อจากนั้นเป็นห้องจัดแสดง A-G ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ค้นพบในเมืองโบราณของเขตจังหวัดเสียมเรียบ นำเสนอประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติความเชื่อ ศาสนา ค่านิยม รูปแบบศิลปกรรมและพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญของยุคเมืองพระนคร อาทิ รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗และพระนางชัยราชจุฑามณี พบที่ชัยคีรีหรือปราสาทบายน เทวรูปพระวิษณุ ศิลปะสมัยพระนคร พบที่ปราสาทนครวัด เป็นต้น

                   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อังกอร์ ไม่อนุญาตให้มัคคุเทศก์นำชมภายในห้องจัดแสดงและไม่มีบริการนำชมโดยเจ้าหน้าที่ แต่มีบริการมัคคุเทศก์อิเล็กทรอนิกส์ ๗ ภาษา คือ กัมพูชา เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฝรั่งเศสและไทย ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเช่าจากเคาเตอร์จำหน่ายบัตรได้ ในราคา ๒ ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ ๗๐ บาท ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาเรื่องเสียงดังรบกวนนักท่องเที่ยวท่านอื่นๆในขณะบรรยายนำชม นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวไม่ต้องการมัคคุเทศก์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีบริการปุ่มบรรยาย ๗ ภาษาเป็นบางจุด เพื่อสรุปเนื้อหาของนิทรรศการแต่ละห้องด้วย ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีร้านบริการเครื่องดื่มและของที่ระลึกด้วย

                   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อังกอร์เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองโบราณเสียมเรียบที่ดี เนื้อหานิทรรศการทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ สภาพเมือง รวมถึงคตินิยมในการสร้างเมืองได้ชัดเจนขึ้น ทั้งยังได้เห็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากโบราณสถานต่างๆ

                   ข้าพเจ้าเลือกใช้บริการมัคคุเทศก์อิเล็กทรอนิกส์ พบว่าตัวเครื่องเป็นโทรศัพท์ติดตามตัวยี่ห้อ SAMSUNG แต่ปรับโปรแกรมให้กลายเป็น Audio guide สามารถกดรับฟังข้อมูลเป็นจุดๆตามหมายเลขที่ติดไว้ในห้องจัดแสดงหรือโบราณวัตถุ เนื้อหาของข้อมูลเป็นไปอย่างคร่าวๆ เน้นทำความเข้าใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในวัฒนธรรมเขมรโบราณ เช่น พูดถึงคติการสร้างเทวรูป ประติมานวิทยาของเทวรูป  เป็นต้น

                   แม้จะเป็นสถานที่อันควรแก่การเริ่มต้นเที่ยวชมเมื่อมาถึงเมืองเสียมเรียบ แต่เพราะค่าธรรมเนียมเข้าชมที่ค่อนข้างแพงคือ ๑๒ ดอลล่าร์สหรัฐและสถานที่ที่ค่อนข้างกว้างต้องใช้เวลาชมค่อนข้างนาน รวมถึงกฎการห้ามถ่ายภาพในห้องจัดแสดง ทำให้ยังมีจำนวนผู้สนใจเข้าชมค่อนข้างน้อย

                   หลังจากนั้นคณะศึกษาดูงานเดินทางต่อไปยัง L’artisan d’angkor หรือศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมอังกอร์ ซึ่งเป็นศูนย์อบรมอาชีพด้านหัตถกรรมให้กับคนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ โดยภายในศูนย์มีการสาธิตการสร้างงานหัตถกรรมหลายชนิด อาทิ การทอผ้า การแกะสลักไม้และหิน เครื่องเงิน การเขียนลายบนผ้า การเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น ซึ่งผลงานส่วนใหญ่เน้นการต่อยอดงานศิลปกรรมโบราณที่พบในเขตเมืองโบราณเสียมเรียบทำให้มีความปราณีต โดดเด่นและทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ลวดลายรวมถึงกรรมวิธีการสร้างสรรค์ สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าขึ้นได้อีกมาก

                   การเข้าชมศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมอังกอร์จะมีมัคคุเทศก์พาชมขั้นตอนการทำงานแต่ละอย่างโดยละเอียด ทำให้เข้าใจกระบวนการสร้างและเห็นถึงความยากลำบากในการสร้างชิ้นงาน เมื่อชมกรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงานจบแล้วสามารถเลือกซื้อสินค้าประเภทต่างๆได้ในร้านค้าของศูนย์ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจกระบวนการทำงานและเข้าใจถึงราคาชิ้นงานที่ค่อนข้างสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป

                   หลังจากนั้นรับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคาร Tonle Mekong Restaurant พร้อมชมการแสดงนาฏศิลป์กัมพูชา ซึ่งใช้นักแสดงที่ได้รับการอบรมพิเศษเป็นเยาวชนที่มีปัญหาครอบครัวหรือปัญหาความยากจน ซึ่งรัฐบาลจะสร้างโรงเรียนฝึกหัดนาฏศิลป์ขึ้นเพื่อให้การศึกษาด้านดนตรีนาฏศิลป์ รวมถึงจัดงานหางานให้แสดงนอกเวลาเรียนเพื่อสร้างรายได้และเป็นการฝึกหัดไปด้วย

                    หลังจากนั้นจึงเข้าพักที่ Khemara Angkor Hotel เมืองเสียมเรียบ

                    วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙

                   ออกเดินทางจากโรงแรมที่พักเวลา ๐๗.๓๐ น. โดยประมาณ เพื่อทำบัตรเข้าชมปราสาท ซึ่งเป็นแบบ ๑ วัน ราคา ๒๐ ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งกำลังจะปรับขึ้นราคาเป็น ๓๗ ดอลล่าร์สหรัฐตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เป็นต้นไป แล้วเดินทางต่อไปอีก ๓๕ กิโลเมตรเพื่อเข้าชมปราสาทบันทายศรี

                   นอกจากปราสาทแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจในปราสาทบันทายศรีคือป้ายสื่อความหมายซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง ประกอบไปด้วยแผนผังปราสาท ป้ายอธิบายประวัติของปราสาท ป้ายเปรียบเทียบอายุการสร้างปราสาทเทียบกับโบราณสถานสำคัญๆของโลก เช่น พระราชวังแวร์ซาย ปิรามิดขั้นปันไดในอเมริกากลาง ปราสาทในญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ในระหว่างทางเดินไปชมปราสาทซึ่งสองข้างทางเป็นทุ่งนาของชาวบ้านก็มีป้ายอธิบายความสำคัญของข้าวและขั้นตอนการปลูกข้าว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นต้นข้าวและทุ่งนา หรือในบางฤดูกาลยังสามารถเห็นการทำนาและเกี่ยวข้าวได้จริงๆอีกด้วย นับว่าเป็นการสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาก

                   นอกจากนี้การจัดการเรื่องเส้นทางการเข้าชมปราสาทบันทายศรีและปราสาทอื่นๆบางหลังก็น่าสนใจ กล่าวคือ ทางเดินเข้าสู่ปราสาทและทางเดินออกจากปราสาท (ยกเว้นภายในตัวปราสาท) จะถูกจัดให้เป็นทางเดินระบบทิศทางเดียว (One way) และปลายสุดของทางออกจะเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ทั้งนี้เพื่อจัดระเบียบผู้เข้าชม รวมถึงการเปิดโอกาสให้บรรดาร้านค้าซึ่งมีคนพื้นถิ่นเป็นเจ้าของมีโอกาสสร้างรายได้อย่างเท่าเทียมกัน

                   ออกจากปราสาทบันทายศรี คณะศึกษาดูงานเดินทางต่อไป โดยเปลี่ยนพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์พ่วงสามล้อเพื่อเดินทางไปยังปราสาทนครวัด ปราสาทตาพรหมและปราสาทบายนตามลำดับ เพราะเขตโบราณสถานเหล่านี้ไม่อนุญาตให้รถเกิน ๔ ล้อขับขี่เข้าไป แต่ระหว่างชมปราสาทตาพรหมฝนได้ตกลงมาอย่างหนักจนทำให้เดินทางต่อไปได้ค่อนข้างล่าช้า ต้องยกเลิกกำหนดการเข้าชมปราสาทบาแคงซึ่งเป็นปราสาทสุดท้าย

                   ในตอนค่ำ คณะศึกษาดูงานไปรับประทานอาหารกันที่ร้านปลายิ้ม ซึ่งเป็นร้านอาหารของนักธุรกิจชาวไทย และได้รับเกียรติจากนายลอง โกศล รองผู้อำนวยการองค์การอัปสรา (Authority for the Protection of the Site and Management of the Region of Angkor: APSARA Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลพื้นที่โบราณสถานในเมืองพระนครแบบเบ็ดเสร็จมาร่วมรับประทานอาหารเย็นและตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานด้วย

                   นายโกศล เล่าว่าองค์การอัปสรา ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาให้ทำหน้าที่บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพระนครซึ่งอยู่ในจังหวัดเสียมเรียบทั้งหมด ก่อนหน้านี้ผู้ได้รับสัมปทานคือรัฐบาลเวียดนาม ในพื้นที่เป็นโบราณสถานทรงคุณค่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมราว ๒๐ ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา ทั้งการทรุดโทรมของโบราณสถาน ขยะและปัญหาการจราจรซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโบราณสถานมากที่สุด จึงต้องจัดการจราจรใหม่ด้วยกฎห้ามรถขนาดใหญ่เข้าไปในเขตโบราณสถาน ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงไปแล้ว

                   นอกจากนี้ นายโกศลยังเล่าถึงการบริหารจัดการขององค์การอัปสราว่าเป็นการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ  องค์การอัปสรามีทั้งเครื่องมือหนักสำหรับดูแลพื้นที่เช่น รถเทรลเลอร์ รถบดถนน รถบรรทุก แรงงานกว่า ๖๐๐ คน นักวิชาการทั้งชาวกัมพูชาและนักวิชาการต่างชาติ นักโบราณคดี องค์การภายใต้การบริหารเพื่อการให้การศึกษา พิพิธภัณฑ์ไปจนถึงนักสถิติ ทั้งหมดทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบการท่องเที่ยวในเขตเมืองมรดกโลกในพื้นที่เสียมเรียบให้มีมาตรฐาน ภายใต้แนวคิดพัฒนาเพื่ออนุรักษ์ อนุรักษ์เพื่อพัฒนา และถือว่าประสบผลสำเร็จในการบริหารงานเป็นอย่างยิ่ง

                   ข้าพเจ้าถามนายโกศลว่ามีวิธีการดูแลพิพิธภัณฑ์ภายใต้การบริหารงานขององค์การอัปสราอย่างไรบ้าง และมีปัญหาอะไรบ้างที่รู้สึกเป็นห่วง นายโกศลตอบว่า มีพิพิธภัณฑ์อยู่ในการดูแลขององค์การอัปสรา ๓ แห่งคือ Preah Norodom Sihanouk-Angkor Museum Ceramics Museum และ MGC Asian Traditional Textiles Museum ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องจำนวนผู้เข้าชม ซึ่งนายโกศลเห็นว่าแม้เป็นปัญหาสำคัญแต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปรกติเพราะผู้คนที่เดินทางมาเสียมเรียบล้วนให้ความสำคัญกับโบราณสถานเป็นอันดับแรก โบราณวัตถุเป็นอันดับรองลงมา วิธีแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไปคือการพยายามเชื่อมโยงโบราณสถานกับโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น มัคคุเทศก์ ผู้สื่อความหมาย เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ นักวิชาการ นักประชาสัมพันธ์และบริษัททัวร์ด้วย

                    หลังจากนั้นเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น.จึงเดินทางกลับที่พัก

                    วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๙

                   เวลา ๐๘.๓๐ น.โดยประมาณ เดินทางออกจากที่พักในเมืองเสียมเรียบเพื่อกลับราชอาณาจักรไทย ผ่านจุดผ่านแดนคลองลึก สู่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว รับประทานอาหารกลางวันบนรถ และระหว่างนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติถึงสิ่งที่พบเห็นและรู้สึกขณะอยู่ในเมืองเสียมเรียบ ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานส่วนใหญ่พูดถึงความยิ่งใหญ่ของโบราณสถานที่มีมากกว่าพื้นที่สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร รวมถึงชื่นชมระบบการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกเสียมเรียบที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

                   องค์การอัปสรานั้น ต้องยอมรับว่าที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดนั้น นอกจากวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีเส้นสายที่ดี นายลอง โกศลเองก็เป็นบุตรชายของรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอิทธิพลมากคนหนึ่งของราชอาณาจักรกัมพูชา

 

๘.      คณะผู้แทนไทย ผู้ผ่านการทดสอบเพื่อประเมินความรู้ภายหลังการเข้ารับการอบรม (Post Test) ในโครงการอบรมเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายชุมชนและเยาวชนในพื้นที่เมืองมรดกโลกอย่างยั่งยืน จำนวน ๓ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลักสูตรการอนุรักษ์คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมและหลักสูตรการออกแบบบริการเพื่อการบริหารประสบการณ์นักท่องเที่ยวต่อแบรนด์มรดกพระร่วง จำนวน ๓๐ คน ประกอบไปด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ครูและนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่การดำเนินงานของ อพท.๔

 

๙.      สรุปสาระของกิจกรรม

การเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ข้าพเจ้าและผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการได้สังเกตและศึกษาจากสถานที่ เหตุการณ์และบุคคลจริง ซึ่งมีประสบการณ์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญและรู้จักไปทั่วโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเดินทางมาเยี่ยมชมทำให้เกิดทั้งประโยชน์และโทษ

ประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าและคณะเข้าใจสภาพปัญหาและกลวิธีแยบคายในการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อทั้งแหล่งมรดกโลกเอง ผู้คนในพื้นที่ ผู้คนในประเทศตลอดจนนักท่องเที่ยวเอง

 

๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเฉพาะจังหวัดเสียมเรียบ เป็นแหล่งมรดกโลกขนาดใหญ่ มีโบราณสถานตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกหลั่งไหลมาเยี่ยมชม แต่การบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกรวมถึงกลยุทธ์ในการรับมือกับนักท่องเที่ยวจำนวนมาศาลเหล่านั้นเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการจำหน่ายบัตรซึ่งคิดเป็นจำนวนวันในการเข้าชม ระบบการขนส่งมวลชนในแหล่งท่องเที่ยว ระบบการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่แหล่งมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรอย่างยิ่งถ้านำระบบเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่

(จำนวนผู้เข้าชม 752 ครั้ง)