...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐตุรกี การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๐ (40th Session of the World Heritage Committee) วันที่ ๘ ถึง วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐตุรกี

๑.  ชื่อโครงการ    การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๐ (40th Session of the World Heritage Committee)

๒.  วัตถุประสงค์   

                   ๑. เพื่อสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก(the World Heritage Committee) ในการพิจารณาแหล่งมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติที่อยู่ในภาวะวิกฤติ (World Heritage in Danger) การเสนอขอขึ้นบัญชี (Tentative List) การนำเสนอการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Nominative Dossier for World Heritage Registration) การตรวจสอบแหล่งมรดกโลก การบริหารจัดการ และ หลักการ ระเบียบ กฏเกณฑ์ เงื่อนไข สำหรับแหล่งที่จะเป็น/ได้เป็นแหล่งมรดกโลก ตลอดจนขั้นตอนและวิธีในการพิจารณาตัดสินประเมินแหล่งตามคุณค่าอันเป็นสากลที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฏบัตรของยูเนสโก และพิจารณาข้อร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนมรดกโลก (World Heritage Fund) ฯลฯ

                   ๒. เพื่อประชุมเจรจาและหารือกับ International Council on Monuments and Sites (ICOMOS ) หรือ อีโคโมส   เพื่อขอให้อีโคโมสสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญสำหรับการให้คำแนะนำในการจัดทำรายการแหล่งที่จะขอขึ้นบัญชี (Tentative List) การจัดทำ/เขียนเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรมเพื่อการประกาศเป็นมรดกโลก (Nomination Dossier for World Heritage Registration) แหล่งต่างๆของประเทศไทย ที่จะนำเสนอในปีนี้และปีต่อๆไป การจัดทำการแก้ไขปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเอกสารการนำเสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรม คือแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทที่ได้รับผลการพิจารณาจากอีโคโมสว่า “เลื่อนการพิจารณาออกไปเพื่อให้นำกลับไปทำใหม่เพราะขาดความสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่” (Deferral) และรัฐบาลไทยขอถอนจากวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในปีนี้

                   ๓.เพื่อศึกษาแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกโลกแล้วหรืออยู่ในบัญชี หรือกำลังนำเสนอขอขึ้นบัญชีของประเทศตุรกีที่มีความเหมือนและต่างกับแหล่งมรดกโลกของไทยเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยทั้งแหล่งที่เป็นอยู่แล้วและที่กำลังขอให้อยู่ในบัญชี/หรือขอการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

๓.  กำหนดเวลา ....วันที่ ๘ ถึง วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

๔.  สถานที่ .....Istanbul Congress Centre/Istanbul sites in Istanbul กรุงอีสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี

๕.  หน่วยงานผู้จัด .... ศูนย์มรดกโลกแห่งยูเนสโก (UNESCO World Heritage Centre/WHC) กระทรวงการต่างประเทศแห่งตุรกี กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งตุรกี คณะกรรมการยูเนสโกแห่งชาติตุรกี องค์การบริหารการปกครองกรุงอีสตันบูล หน่วยงานอำนวยการบริหารจัดการแหล่งของกรุงอีสตันบูล

๖.  หน่วยงานสนับสนุน ... กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

๗.  กิจกรรม

          ๑. ร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ของรัฐภาคี (Observer State Party) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๐ (40th Session of the World Heritage Committee)

          ๒. ร่วมพิธีเปิดนิทรรศการและการบรรยายทางวิชาการต่างๆในศูนย์สภาอีสตันบูล ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมฯในข้อ ๑

          ๓.ประชุมเจรจาหารือร่วมกับผู้แทนอีโคโมส(ICOMOS) เพื่อขอให้พิจารณาให้ประเทศไทยเข้าสู่โครงการUpstream Process เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือในการจัดทำTentative List/Nomination Dossierและเอกสารประกอบอื่นๆของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมตลอดจนการร่วมกันทำรายละเอียดและแผนปฏิบัติการสำหรับโครงการนี้เฉพาะประเทศไทย

          ๔. ศึกษาแหล่งมรดกวัฒนธรรมของเมืองอีสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ทั้งที่เป็นแหล่งมรดกโลกแล้วและแหล่งที่ขึ้นบัญชีเพื่อดำเนินการขอการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเและแหล่งมรดกโลกเมืองบูซาสาธารณรัฐตุรกี เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่จะขอเป็นมรดกโลกของประเทศไทย

๘.  คณะผู้แทนไทย

          นางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์))

[อนึ่ง มีกลุ่มผู้แทนไทยจำนวน ๑๖ คน ซึ่งมาจากกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศและผู้สังเกตการณ์ ร่วมประชุมฯในส่วนของมรดกโลกทางธรรมชาติ]

 

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

          ๙.๑ การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๐ (40th Session of the World Heritage Committee)

          -องค์ประกอบหลักของการประชุมประกอบด้วย

๑)ประธานการประชุม (Chairperson) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การยูเนสโก ซึ่งการประชุมครั้งนี้ฯพณฯเอกอัครราชทูตตุรกีประจำยูเนสโกคือ นางลาเล อุลเกอร์ (Ambassador Lale Ülker) เป็นประธานการประชุม เนื่องจากสาธารณรัฐตุรกีเป็นเจ้าภาพสถานที่จัดการประชุมฯ นอกจากนี้ยังมีรองประธานฯ และผู้บันทึกและรายงานการประชุมฯ

๒)คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) ประกอบด้วย ประเทศที่ได้รับการคัดเลือก ๒๑ รัฐภาคี (ประเทศ) ได้แก่ แองโกลา อัซเซอไบจัน บูร์กินาฟาโซ โครเอเชีย คิวบา ฟินแลนด์ อินโดนีเซีย จาไมกา คาซักสตาน คูเวต เลบานอน เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โปรตุเกส สาธารณรัฐเกาหลี ตูนีเซีย ตุรกี สาธารณสหรัฐแทนซาเนีย เวียดนาม และซิมบับเว

๓)รัฐภาคีสมาชิก (State Parties) ของศูนย์มรดกโลก มีผู้แทน ๑ คน ไม่มีสิทธิในการออกเสียง แต่สามารถขอชี้แจงเมื่อคณะกรรมการฯเห็นชอบให้ชี้แจงเป็นเฉพาะกรณี

๔) องค์กรที่ปรึกษา (Advisory Capacity) ประกอบด้วยผู้แทนขององค์กรต่อไปนี้ International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of Cultural Property (ICCROM), International Council on Monuments and Sites (ICOMOS), World Conservation Union และInternational Union for Conservation of Nature and Natural Resources (IUCN)

๕) ผู้สังเกตการณ์ (Observer) ประกอบด้วย ผู้ยื่นความประสงค์เข้าร่วมประชุมฯโดยการเสนอชื่อของข้อ ๑ ๒ ๓ และ ๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรจากรัฐภาคีสมาชิก ต้องเสนอผ่านตามขั้นตอนและได้รับแจ้งการยอมรับให้เข้าประชุมฯเท่านั้น

๖)ผู้แทนจากหน่วยงานNGO ซึ่งได้รับการรับรองให้เข้าร่วมการประชุมฯจากคณะกรรมการจัดการประชุมฯ

๗)สื่อมวลชนซึ่งได้รับการรับรองให้เข้าร่วมการประชุมจากคณะกรรมการจัดการประชุมฯ

          -สาระของวาระการประชุมฯที่สำคัญประกอบด้วย

๑)รายงานผลการประชุมคณะกรมการมรดกโลกครั้งที่ ๓๙ ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมัน (ครั้งที่ผ่านมา พุทธศักราช ๒๕๑๕)

๒)รายงานการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติการ (Operational Guideline)

๓)รายงานกิจกรรมและการปฏิบัติการและการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก

๔)รายงานขององค์กรที่ปรึกษาในการปฏิบัติการในแหล่งมรดกโลกต่างๆและกิจกรรมต่างๆ

๕)ข้อตกลง(สนธิสัญญา)ของมรดกโลกเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development)

๖) รายงานโครงการต่างๆของมรดกโลกและการติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์มรดกโลกเรื่อง ยุทธวิธีและความก้าวหน้าในการดำเนินการเรื่อง “การสร้างหรือเพิ่มพูนสมรรถนะต่อคน/การปฏิบัติงานอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งมรดกโลก” (Capacity-Building)

๗) สถานะของการอนุรักษ์สมบัติที่ป็นมรดกโลก กรณีติดตามสถานะหรือความก้าวหน้า (Monitoring) ของการบริหารจัดการด้านการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์ (State of conservation of World Heritage Property) แหล่งมรดกโลกที่ถูกคุกคาม (Endangered Heritage) หรืออยู่ในภาวะวิกฤติ (World Heritage in Danger) อันเนื่องมาจาก:

-ภัยคุกคามจากสงครามหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น แหล่งAshur (Gui’at Sharqat) ประเทศอีรัก, Ancient City of Aleppo ประเทศซีเรีย

-ภัยคุกคามจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวโบราณสถานหักพังในแหล่งKathmandu Valley ประเทศเนปาล แผ่นดินไหวในแหล่ง Sukur Cultural Landscape ประเทศไนจีเรีย

-ภัยคุกคามจากการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเกินควร เช่น การใช้พื้นที่กันชนและพื้นที่อนุรักษ์ทำเกษตรกรรมเกินขีดและการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะในพื้นที่กันชนที่แหล่งHistorical Monuments of Mtskheta ประเทศจอร์เจีย การใช้พื้นที่ปลูกไร่อ้อยในแหล่งLower Valley of the Omo ประเทศเอธิโอเปีย การสร้างสิ่งก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์วัฒนธรรมของแหล่งLiverpool-Maritime Mercantile City สหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) และประเทศไอร์แลนด์เหนือ

-ภัยคุกคามจากการขาดการดูแลที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน หรือ การบูรณะอย่างผิดๆ เช่น กรณีเพลิงไหม้แหล่งTomb of Askia ประเทศมาลี, Tomb of Buganda Kings at Kasubi ประเทศอูกานดา กรณีแผ่นดินไหวในเนปาล โบราณสถานในแหล่ง Kathmandu Valley พังแล้วชาวบ้านไปบูรณะปฏิสังกรณ์เองโดยใช้วัสดุและวิธีการไม่ถูกหลักวิชา ขัดหลักการอนุรักษ์ เสียคุณค่าความเป็นของแท้ดั้งเดิม

-ภัยคุกคามจากการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย/การโจรกรรมสมบัติวัฒนธรรม เช่น การขโมยโบราณวัตถุจากโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานจากแหล่งAncient Villages of Northern Syria/Site of Palmyra ประเทศซีเรีย, การลักลอบล่าและฆ่าสัตว์ป่าในแหล่งTimbaktu ประเทศมาลี การลักลอบตัดไม้พยุงของแหล่งเขาใหญ่ ประเทศไทย

รายงานและติดตามผลการปฏิบัติการจากรัฐภาคีว่ามีแนวทางการแก้ปัญหาและแผนการแก้ไขคืบหน้าหรือมีผลอย่างไร หากไม่ดีพอจะประกาศให้อยู่ในบัญชีแหล่งมรดกโลกในภาวะวิกฤติ (World Heritage in Danger) และศูนย์มรดกโลกและเครือข่ายตลอดจนรัฐภาคีจะมีแนวทางการแก้ไข มาตรการ การให้ความช่วยเหลือ การฟื้นฟู และแผนการระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืนและทุนสนับสนุนในการดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวเป็นเฉพาะกรณีอย่างไร

ผลจากการประชุมคณะกรรมการฯให้หลายประเทศจำเป็นต้องประกาศให้อยู่ใน World Heritage in Danger (มรดกโลกในภาวะวิกฤติ) บางแหล่งให้ดำเนินแผนการบริหารจัดการใหม่กับAdvisory Body ถ้าทำได้ตามแผนก็จะประกาศถอนฯ แต่ถ้าไม่ได้หรือไม่ยอมดำเนินการใดๆก็จะประกาศถอนออกจากความเป็นแหล่งมรดกโลก บางแหล่งที่มีแนวโน้มว่ากำลังจัดการได้ จึงยังไม่ให้อยู่ในWorld Heritage in Danger List แต่เฝ้าระวังหรือให้ร่วมกันดำเนินระหว่างรัฐภาคีกับAdvisory Body หรือผู้เชี่ยวชาญจากรัฐภาคีอื่นที่จะเข้ามาช่วย บางแหล่งให้อยู่ในแผนฯของกองทุนของศูนย์มรดกโลก (World Heritage Fund)/หรือแผนงานช่วยเหลือขององค์กรที่ปรึกษา(Advisory Body) เพื่อให้ทุนสนับสนุนในการฟื้นฟูแหล่งฯ 

ในกรณีแหล่งเขาใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ คณะกรรมการมรดกโลกเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาและความพยายามของรัฐบาลไทยในการใช้มาตรการทางกฎหมายต่อกรณีภัยคุกคามจากการลักลอบกระทำผิดกฎหมายฯ จึงยังไม่ขึ้นบัญชีให้อยู่ในแหล่งมรดกโลกในภาวะวิกฤติ แต่จะติดตามตรวจสอบผลอย่างใกล้ชิดว่าจะมีพัฒนาการ มีมาตรการที่ก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและอนุรักษ์พื้นที่ป่าไว้ในสภาพเดิมหรือฟื้นฟูสภาพให้กลับฟื้นคืนได้อย่างไร

๘)การพิจารณาเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกวัฒนธรรม (Cultural Property) แหล่งมรดกธรรมชาติ (Natural Property)  และ แหล่งมรดกผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Mixed Property)ที่นำเสนอต่อศูนย์มรดกโลก และศูนย์ฯมอบหมายให้องค์กรที่ปรึกษา คือ ICOMOS และ/หรือ IUCN ดำเนินการประเมินตามกระบวนการและมาตรฐานที่โปร่งใส ทั้งสองหน่วยงานฯ รายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการทีละรายการ จากนั้นกรรมการแต่ละท่านจะกล่าววิจารณ์ สนับสนุน-โต้แย้ง-เพิ่มเติมความเห็น ผลการประเมินฯและรายงานสรุปซึ่งศูนย์มรดกโลกจัดทำไว้ล่วงหน้า (ตามผลประเมินขององค์กรที่ปรึกษา) ตลอดจนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานที่ฝ่ายเลขานุการแจ้งว่าแหล่งที่นำเสนอแหล่งใดพิจารณาว่าอยู่ในสถานะใด ดังนี้ (๑) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Inscribed) (๒)รับไว้พิจารณาว่าจะให้ขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไปดำเนินการเพิ่มเติมในรายละเอียดบ้างเพื่อให้สมบูรณ์และส่งมาใหม่ (Referral) (๓) ยังไม่พิจารณา เพราะขาดความสมบูรณ์อยู่มากให้กลับไปทำมาใหม่ (Deferral) (๔) ไม่ผ่านการประเมิน ไม่ประกาศขึ้นทะเบียนฯ (Non-inscribed) ผลปรากฏดังต่อไปนี้:

-แหล่งที่คณะกรรมการฯไม่ต้องนำมาพิจารณาว่าจะอยู่ในสถานะใด เนื่องจากขอถอนออกจากวาระการประชุมพิจารณาครั้งนี้มี ๙ แหล่ง ดังนี้ แหล่งของประเทศ (๑)อิตาลี (๒)เชคโกสโลวาเกียเสนอร่วมกับเยอรมนี (๓)เยอรมนี  (๔)ญี่ปุ่น (๕)มอนเตเนโกร (๖)เกาหลี (๗)- (๘)รัสเซีย(๒ แหล่ง) และ (๙)ไทย

-แหล่งที่ได้รับการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Inscribed) ในพุทธศักราช ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) มีดังนี้:

แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (World Cultural Heritage Site) จำนวน ๑๒ แหล่ง ได้แก่ Antigua Naval Dockyard and Related Archaeological Sites (Antigua and Barbuda), The Architectural Work of Le Corbusier, an Outstanding Contribution to the Modern Movement (Argentina/Belgium/France/Germany/India/Japan/Switzeland), Stećci-Medieval Tombstones (Bosnia and Herzegovina/Croatia/Montenegro/Serbia), Pampulha Modern Ensemble (Brazil), (Zuojiang Huashan Rock Art Cultural Landscape (China), Archaeological Site of Philippi (Greece), Archaeological Site of Nalanda Mahavihara (India), The Persian Qanat (Iran), Antequera Dolmens Site (Spain), Archaeological Site of Ani (Turkey), Gibraltar Nianderthal Caves and Environments (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland),  Madol: Ceremonial Centre of Eastern Micronesia (Micronesia) หมายเหตุ: แหล่งสุดท้ายนี้ พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ คณะกรรมการฯมีมติประกาศให้ขึ้นทะเบียนและให้อยู่ในWorld Heritage List in Dangerทันที เพื่อเรียกร้องให้มีการสนับสนุนเข้าไปคุ้มครองฟื้นฟูแหล่งฯ  

แหล่งมรดกธรรมชาติ (World Natural Heritage Site) จำนวน ๖ แหล่ง ได้แก่ Mistaken Point (Canada), Hebei Shennonggjia (China), Lut Desert (Iran), Western Tien-Shan (Kazakhstan/ Kyrgyzstan/ Uzbekistan), Archipiélago de Revillagigedo (Mexico), Sangeneb Marine National Park and Dungonab Bay-Mukkawar Island Marine National Park (Sudan)

แหล่งมรดกแบบผสม (วัฒนธรรม+ธรรมชาติ) จำนวน ๓ แหล่ง ได้แก่ Khangchendzonga National Park (India), Ennedi Massif: Natural and Cultural Landscape (Chad), The Ahwar of Southern Iraq: Refuge of Biodiversity and the Relict Landscape of the Mesopotamian Cities (Iraq)  ส่วนแหล่ง Pimachiowin Aki ของประเทศแคนาดา องค์กรที่ปรึกษา (Advisory Body)ประเมินว่า สมควรให้ขึ้นทะเบียนได้ (Inscribed) และคณะกรรมการมรดกโลกก็มีมติให้ประกาศขึ้นทะเบียนฯอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่รัฐภาคีเจ้าของแหล่งฯ (คือประเทศแคนาดา)แจ้งว่า ยังจะขอไม่ขึ้นทะเบียน ฯ(Inscribed) ขออยู่ในระดับ Referral ไปก่อน เพราะได้พิจารณาแล้วว่า ยังไม่พร้อมในการจัดทำแผนบริหารจัดการอนุรักษ์ได้อย่างสมบูรณ์ จึงยังขอไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปีนี้ กรณีเช่นนี้ได้รับการสรรเสริญยกย่องจากคณะกรรมการมรดกโลกและที่ประชุมฯปรบมือให้อย่างมากเพราะแสดงความเปิดเผยตรงไปตรงมาและจริงใจจริงจัง และจิตวิญญาณอันแท้จริง(spirit)ในการอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งมากกว่าหน้าตาของประเทศในการที่จะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก

-แหล่งมรดกที่นำเสนอและคณะกรรมการพิจารณาให้เป็น “แหล่งที่รับไว้พิจารณาว่าจะให้ขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไปดำเนินการเพิ่มเติมในรายละเอียดบ้างเพื่อให้สมบูรณ์และส่งมาใหม่” (Referral) ได้แก่ (๑) Key Works of Modern Architecture by Frank Lloyd Wright ประเทศสหรัฐอเมริกา แหล่งนี้อยู่ในTentative List กว่า ๗ ปีและได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับที่๓ คือ “ยังไม่พิจารณา เพราะขาดความสมบูรณ์อยู่มากให้กลับไปทำมาใหม่” (Deferral) และได้ปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะถึง ๔ ครั้งรวมถึงครั้งนี้ โดยให้ลดจำนวนแหล่งสถาปัตยกรรมลงจาก ๒๒ แหล่งและปรับลดลงมาเรื่อย เหลือ ๑๙, ๑๗, ๑๐ ในแต่ละปี เสนอเข้ามาปีเว้นปี และในปีนี้องค์กรที่ปรึกษา (Advisory Body-ICOMOS) และคณะกรรมการมรดกโลกประเมินให้ลดลงเหลือ ๔ แหล่งที่แสดงคุณค่าอันเป็นสากลที่เป็นของแท้ดั้งเดิมและมีบูรณภาพ (Outstanding Universal Value: Authenticity & Integrity) มากพอที่จะเป็นตัวแทนความหมายที่เป็น “กุญแจ”: Key Works ตามชื่อที่บ่งบอกทั้งหมด           (๒) Tectono-volcanic Ensemble of the Chaine des Puys and Limagne Fault ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากองค์กรที่ปรึกษา (Advisory Body-ICOMOS) ประเมินว่าNomination Dossier แสดงถึงคุณค่าความเป็นสากล (Outstanding Universal Value)ไม่ชัดเจน ไม่แสดงว่าจะเปรียบเทียบกับแหล่งไหน(Comparative site) ที่จะให้ประเมินค่าได้อย่างโดดเด่น การกล่าวถึงคุณค่าทางธรณีสัณฐานหรือภูมิศาสตร์ของแหล่งไม่ปรากฏว่าเป็นคุณค่าสากลที่โดดเด่น แต่คณะกรรมการเห็นว่า ขอให้รัฐภาคีเจ้าของแหล่งปรับแก้การเขียนเสียใหม่และขอให้อยู่ในสถานะ“แหล่งที่รับไว้พิจารณาว่าจะให้ขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไปดำเนินการเพิ่มเติมในรายละเอียดบ้างเพื่อให้สมบูรณ์และส่งมาใหม่” (Referral)

สำหรับแหล่งป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในสถานะ Referralนั้น เนื่องจากประเทศเมียนมาโต้แย้งเรื่องขอบเขตพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารว่ากินเข้าไปในเขตประเทศเมียนมาและยังมิได้เจรจาตกลงกัน คณะกรรมการมรดกโลกขอให้นักกฏหมายประจำศูนย์มรดกโลกชี้ว่า เรื่องพรมแดนจะต้องให้คณะกรรมการฯหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่ คำตอบคือ คณะกรรมการฯไม่มีอำนาจใดในการพิจารณาฯ คณะกรรมการฯจึงเห็นว่า กรณีนี้เร็วเกินไปที่จะพิจารณาแหล่งนี้ในที่นี้ ควรให้เวลา ๒ ประเทศรัฐภาคีดำเนินการหารือตกลงเห็นชอบร่วมกันก่อน และให้นำเข้าสู่การพิจารณในการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมครั้งนี้ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประมาณปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

-แหล่งมรดกที่คณะกรรมการมรดกโลกให้อยู่ในสถานะ “ยังไม่พิจารณา เพราะขาดความสมบูรณ์อยู่มากให้กลับไปทำมาใหม่” (Deferral) คือแหล่งMountain Ecosystems of Koytendag ของประเทศเตอร์กเมนิสตาน

-แหล่งArchaeological Sites and Historic Centre of Panama City ประเทศปานามา  เป็นแหล่งที่Advisory Body ขอให้แขวนไว้ก่อน ไม่นำเข้าสู่คณะกรรมการฯเนื่องจากเป็นแหล่งที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ต้องแก้ไขขอบเขตเพราะมีการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างอาคาร ต้องจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก่อนโดยลดการก่อสร้างและกำหนดขอบเขตอนุรักษ์คุ้มครองที่มีแผนการจัดการใหม่ คณะกรรมการฯมีความเห็นว่า ให้รัฐภาคีไปดำเนินการภายใน ๓ปีให้ส่งเข้ามาใหม่ (ค.ศ. ๒๐๑๙) หากภายใน ๓ ปีนี้ยังไม่ดำเนินการ ไม่ต้องส่งเข้ามา เพราะจะให้อยู่ในสถานะ “ไม่ผ่านการประเมิน ไม่ประกาศขึ้นทะเบียนฯ” (Non-inscribed)อย่างแน่นอน

-แหล่งที่ยังไม่เป็นที่ยุติ ต้องให้แขวนการพิจารณาไว้ก่อนหรือเลื่อนออกไปในการประชุมต่อเนื่องที่ปารีสในเปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ หรือ การประชุมครั้งใหม่ใน the 41 Session of World Heritage Committee  in Cracow ประเทศโปแลนด์ในพุทธศักราช ๒๕๖๐  โดยให้นำกลับเข้ามาเสนอใหม่และหาข้อยุติในที่ประชุมฯ ได้แก่ แหล่งป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex)ของประเทศไทย  Key Works of Modern Architecture by Frank Lloyd Wright ของสหรัฐอเมริกา Mountain Ecosystems of Koytendag ของประเทศเตอร์กเมนิสตาน และ Tectonic-volcanic Ensemble of the Chaine des Puys and Limagne Fault ของฝรั่งเศส

-เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความพยายามยึดอำนาจด้วยกำลังทหารของกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งในกรุงอีสตันบูล และ กรุงแองการาในคืนวันที่ ๑๕ ถึงเช้าวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ทำให้ไม่มีการประชุมในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม แต่มาเริ่มประชุมให้จบวาระสำคัญในวันที่ ๑๗ กรกฏาคม และปิดการประชุมฯก่อนหมดวาระ ประธานการประชุมฯประกาศว่าจะนำวาระที่เหลือไปประชุมต่อที่กรุงปารีสที่สำนักงานใหญ่ศูนย์มรดกโลกในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙

          ๙.๒ การประชาสัมพันธ์ นิทรรศการและการบรรยายวิชาการ กิจกรรมประกอบที่สำคัญ เช่น

-World Heritage Youth Forum ของUNESCO: ยูเนสโกให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้เยาวชนรักและเข้าใจมรดกโลก ทั้งเป็นพลังสำคัญในการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติจึงได้จัดตั้ง Youth Forum ในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตุรกีและดำเนินการจัดForumขึ้นที่ประเทศตุรกี สมาชิกประกอบด้วยเยาวชน(อายุระหว่าง ๒๒-๒๘ ปี) ที่ได้รับการคัดเลือกจากทุกภูมิภาคมาร่วมและได้ไปทัศนศึกษาเก็บข้อมูลสำหรับการนำเสนอ ก่อนพิธีการเปิดการประชุมthe 40 session of the World Heritage Committee ครั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่แห่งยูเนสโก และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกีมาพบกลุ่มเยาวชนYouth Forum และมีการสัมภาษณ์ถ่ายทอดสื่อมวลชน ในที่ประชุม the 40 session of the World Heritage Committee ประธานการประชุมฯให้ผู้แทนYouth Forum อ่านคำแถลงการณ์ (Youth Forum Declaration) จากการระดมความคิดความเห็นที่เกิดขึ้นในYouth Forumครั้งนี้ต่อที่ประชุมฯ คณะกรรมการมรดกโลกรับรองให้การจัดตั้งYouth Forumเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสานต่อ

-Publication/Advertisement  เอกสารและสื่อเกี่ยวกับแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว และกำลังจะนำเสนอขอการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของสาธารณรัฐตุรกีและของรัฐภาคีสมาชิกบางประเทศ ประเทศไทยนำเอกสารแนะนำวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราชมาเผยแพร่

-Exhibition นิทรรศการภาพมรดกวัฒนธรรมตุรกี มรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในภาวะวิกฤติ (Heritage in Danger) ของกลุ่มประเทศอัฟริกา นิทรรศการการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่วิกฤตถูกทำลายจากภัยสงคราม/การสู้รบแย่งชิงของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

-การบรรยายทางวิชาการ เช่น การแปลความหมายมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Interpretation of World Heritage) จัดโดยสาธารณรัฐเกาหลี การบรรยายเรื่องการจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมโดยICOMOS การบรรยายเรื่องการบริการจัดการแหล่งมรดกธรรมชาติโดยIUCN การบรรยายเรื่องมรดกโลกกับการดำเนินการหาทุนสนับสนุน ฯลฯ เนื่องจากการบรรยายบางเรื่องใช้เวลาช่วงพักกลางวันและช่วงหลังเลิกการประชุมฯ ผู้เข้าร่วมประชุมฯสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามความสนใจเนื่องจากแบ่งเป็นหลายห้อง 

          ๙.๓ การประชุมกับอีโคโมส

เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความพยายามยึดอำนาจด้วยกำลังทหารของกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งในกรุงอีสตันบูน กรุงแองการาในคืนวันที่ ๑๕ ถึงเช้าวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ทำให้ไม่มีการประชุมในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม แต่มาเริ่มประชุมให้จบวาระสำคัญในวันที่ ๑๗ กรกฏาคม และปิดการประชุมฯก่อนหมดวาระ ประธานการประชุมฯประกาศว่าจะนำวาระที่เหลือไปประชุมต่อที่กรุงปารีสที่สำนักงานใหญ่ศูนย์มรดกโลกในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙

นางอมรา ศรีสุชาติ ผู้แทนจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขอนัดหมายประชุมร่วมกับ อีโคโมส โดยเลื่อนการประชุมจากที่ประชุมมรดกโลกฯมาเป็นโรงแรมฮิลตัน อีสตันบูล ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เวลา ๙.๓๐ น เป็นต้นไป ผู้เข้าร่วมประชุม ฝ่ายอีโคโมส จำนวน ๖ คน ประกอบด้วย โตชิยูกิ โคโนะ รองประธานฯ อัลเฟโด คอนติ รองประธานฯ กวันแนล บูร์แดง หัวหน้าโครงการ/กิจกรรมของอีโคโมส ตารา บุสเช่ ผู้ช่วยฝ่ายที่ปรึกษาและติดตามประเมินของอีโคโมส และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีของอีโคโมส  นอกจากนั้นยังมีประธานฝ่ายกิจกรรมมาร่วมสมทบพูดคุยหลังจากเลิกการประชุมแล้ว

ผลการประชุมฯ คณะกรรมการอีโคโมสยินดีให้ความร่วมมือกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่กำลังดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลกในประเทศไทยตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่ทางกรมศิลปากรนำเสนอวมทั้งการกำหนดช่วงเวลาและงบประมาณค่าใช้จ่าย โดยขอให้กรมศิลปากรนำเสนอแผนงานการขอความอนุเคราะห์ฯมาให้พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะนำเข้าประชุมพิจารณาหลังจากการประชุมมรดกโลกครั้งที่ ๔๐ ในวาระต่อเนื่องจากกรุงอีสตันบูลที่กรุงปารีสในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙

คณะกรรมการอีโคโมสจะมีหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการมายังกรมศิลปากรอีกครั้งหนึ่งและจะอ้างถึงการประชุมร่วมกันกับนางอมรา ศรีสุชาติครั้งนี้

คณะกรรมการอีโคโมสมีข้อเสนอให้พิจารณาเบื้องต้นดังนี้

๑)การร่วมมือกันในการดำเนินการ หรือ ขอให้อีโคโมสให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงานน่าจะเริ่มตั้งแต่การพิจารณาจัดทำ Tentative List นางอมรา ศรีสุชาติได้อธิบายให้เห็นถึงแหล่งมรดกวัฒนธรรมของประเทศไทยหลายแห่งและสอบถามความเห็นถึงบางแหล่งที่จะมีความเป็นไปได้ในการนำเสนอเป็นTentative list หลายท่านในคณะกรรมการที่มีประสบการณ์การมาประเทศไทยและไปเยี่ยมชมแหล่งมรดกเหล่านั้นหลายครั้ง ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันตาม “แนวโน้ม” (Trend) ใหม่ล่าสุดของคณะกรรมการมรดกโลกจากที่ประชุมครั้งที่ ๔๐ นี้ได้พิจารณาความเห็นสอดคล้องกันดังนี้:

 -แหล่งที่ฝ่ายไทยน่าจะเสนอเป็นTentative List  ตามที่อยู่ในความคาดหมายของฝ่ายไทยคือ Mable Temple และ Prasat Phanom Rung น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะมีคุณค่าความเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ที่ประกอบด้วยคุณค่าหลัก ๒ ประการที่สัมพันธ์กันคือ คุณค่าความแท้ดั้งเดิมหรือต้นความคิด (Authenticity) และคุณค่าความครบถ้วนในสาระความรู้และองค์ประกอบหรือความมีบูรณภาพ(Integrity)

-แหล่งมรดกโลกภูพระบาท ซึ่งอีโคโมสประเมินว่าเป็นDeferral นั้น อาจต้องแก้ไขชื่อและแนวคิด(concept)ที่เสนอเป็น Cultural Landscape  เนื่องจากชื่อ ที่ใช้ว่า Historical Park และแนวคิดCultural Landscape ดังกล่าว ทำให้ต้องนำเรื่อง มรดกธรรมชาติ (Natural Heritage) มาพิจารณาโดย IUCNด้วย  เมื่อไม่ได้แสดงข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการอนุรักษ์มรดกธรรมชาติที่แหล่งมรดกวัฒนธรรมตั้งอยู่นั้นให้ครอบคลุมทั้งหมด (นัยของCultural Landscape เป็นเช่นนี้) จึงต้องให้กลับมาดำเนินการจัดทำ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลใหม่ คณะกรรมการอีโคโมสบางท่านมีความเห็นว่า เฉพาะความสำคัญเรื่องใบเสมาอย่างเดียวเฉพาะในประเทศเดียว อาจไม่ทำให้คุณค่าความเป็นสากลเป็นที่ประจักษ์ หากเชื่อมโยงให้เป็นมรดกที่มีประวัติการสืบเนื่องของสองประเทศที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันเป็นอย่างน้อย เช่น ไทย-ลาว ก็จะมีผลทำให้แหล่งโดดเด่นขึ้น แนวโน้ม (Trend)ของการขึ้นมรดกโลกร่วม ๒ ประเทศ ๓ ประเทศหรือมากกว่าดังที่ปรากฏในการประชุมครั้งที่ ๔๐นี้ จะเห็นว่า “การเปิดพรมแดน” ซึ่งมีนัยว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมเป็นสิ่งบ่งชี้ ว่าวัฒนธรรมไร้พรมแดนต้องร่วมกันพิทักษ์รักษา จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งมรดกโลก มากกว่าการขอขึ้นเฉพาะแหล่งเดี่ยวๆในประเทศเดียว นางอมรา ศรีสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไทย-ลาวกำลังทำความตกลงร่วมมือกันในทางวิชาการรวมทั้งการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมระหว่างกรมศิลปากรของไทยกับกรมมรดกของลาว คณะกรรมการอีโคโมสเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นหลักประกันอย่างดีที่จำเป็นอย่างยิ่งในการแนบนำเสนอการขอขึ้นเป็นมรดกโลกร่วมกันของสองประเทศไม่ว่ากรณีใดๆ ในกรณีแหล่งภูพระบาท คณะกรรมการอีโคโมสเห็นว่า หากสองประเทศร่วมกันนำเสนอเป็นมรดกโลกร่วม (โดยแหล่งภูพระบาทกับแหล่งใบเสมาที่เทือกภูพานเชื่อมต่อไปถึงลาว) ก็น่าจะทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่านำไปสู่การเป็นมรดกได้โดยไม่ยาก

-กรณีแหล่งวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช คณะกรรมการอีโคโมสเห็นด้วยกับข้อเสนอของนางอมรา ศรีสุชาติที่ว่า การนำเสนอการอนุรักษ์หรือบูรณะพระมหาธาตุแห่งนี้นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่คงรักษาเทคนิควิธีดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นภูมิปัญญาการอนุรักษ์ที่คงรักษาไว้ เช่น การใช้ปูนตำในการบูรณะพระธาตุ การหุ้มปลียอดทองคำโดยอาศัยผลการวิเคราะห์วัสดุเดิมมาเป็นเครื่องกำหนดฯเพื่อรักษาสภาพความดั้งเดิม น่าจะเป็นจุดแข็งที่ต้องนำเสนอให้ชัดเจนในการเขียนNomination Dossier ของแหล่งนี้

-กรณีของเมืองเชียงใหม่ คณะกรรมการอีโคโมสยังไม่ทราบความชัดเจนว่า จะเป็นไปในทิศทางใด แต่ฝ่ายไทยน่าจะดำเนินการตามความเห็นทั่วไปที่รับทราบจากการประชุมฯครั้งที่ ๔๐นี้ที่มีตัวอย่างให้ประจักษ์ เช่น กรณีการนำเสนอแหล่งรวมกันมากเกินไปของแหล่งKey Works of Modern Architectures by Frank Lloyd Wright สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ “คุณค่าความเป็นสากล”(Outstanding Universal Value) ไม่ชัดเจนหรือกระจัดกระจายเกินไป เมืองเชียงใหม่มีโบราณสถานอยู่มาก จึงน่าจะเลือกบางแหล่งที่โดดเด่นเป็นตัวหลักในการนำเสนอ และน่าจะต้องปรับชื่อ เพราะคำว่า Landscape อาจต้องตีความหมายเรื่องขอบเขตการอนุรักษ์ที่ทำให้การบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ยุ่งยาก ควรมุ่งเน้นคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันสืบเนื่องยาวนานและส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและพัฒนาการอันแสดงภูมิปัญญา น่าจะเหมาะสมกว่า และเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่มีการเข้าอยู่อาศัยซ้อนทับในปัจจุบัน ดังนั้นแผนการจัดการด้านการอนุรักษ์ควรมีมาตรการชัดเจนและเข้มแข็งและมีกฏระเบียบข้อบัญญัติที่มั่นใจว่าใช้ปฏิบัติได้จริงจัง

-อีโคโมสขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาการดำเนินการโครงการ/กิจกรรม ควบคู่กันไปในการนำเสนอแหล่งใดๆเป็นมรดกโลก เช่น การจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดทางวิชาการทั้งด้านความรู้และการอนุรักษ์ระดับนานาชาติของแหล่งนั้นๆเพื่อให้มีผลทางวิชาการเป็นที่ยอมรับระดับสากล  การจัดการเรียนรู้ของชุมชนในการพิจารณาแหล่งในท้องถิ่นว่ามีคุณค่าสมควรต่อการเป็นมรดกโลกหรือไม่ หากเป็นแล้ว ชุมชนมีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกันดูแลพิทักษ์รักษาอย่างจริงจังอย่างไร กรณีนี้ มิสเตอร์อัลเฟโด คอนติ รองประธานอีโคโมสและคณะได้ไปร่วมดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่ประเทศเอควาดอร์ เป็นผลสำเร็จมาแล้ว ได้ยกตัวอย่างให้ทราบ เช่น ชุมชนและนักวิชาการของเอควาดอร์เสนอแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่คิดว่าน่าจะเป็นแหล่งมรดกโลกจำนวนมากกว่า ๒๐ แห่ง หลังจากการให้ความรู้และร่วมกันพิจารณาใหม่ ต่างเห็นและยอมรับร่วมกันว่า น่าจะเหลือเพียง ๒-๓ แห่งเท่านั้น นี่จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการร่วมกันคิดพิจารณาจากการปฏิบัติการร่วมกันกับอีโคโมสจะทำให้ก้าวต่อไปในการนำเสนออย่างมีทิศทางและไม่ผิดพลาดและเสียเวลาและเสียความตั้งใจ

          ๙.๔ การศึกษาแหล่งมรดกวัฒนธรรมของสาธารณรัฐตุรกี

          เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบ และ การประชุมอีก ๓ วันต้องยกเลิกไป นอกจากการมีโอกาสได้ประชุมหารืออย่างเต็มที่กับอีโคโมสแล้ว นางอมรา ศรีสุชาติได้ใช้เวลาที่เหลือในการศึกษาข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่เป็นมรดกโลกแล้วและที่กำลังนำเสนอในTentative listของตุรกีและพูดคุยกับนักวิชาการท้องถิ่นของตุรกีและคนตุรกีทั่วไป เพื่อทราบปัญหาการบริหารจัดการ (เช่น เพราะเหตุใดตุรกีจึงยังไม่นำเสนอแหล่งมรดกโลกทั้งเมืองอีสตันบูลเป็นมรดกโลกในปีนี้) รวมทั้งโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นแหล่งมรดกโลกที่เก็บในพิพิธภัณฑสถานต่างๆของตุรกี เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดทำความรู้และการจัดทำTentative List และ Nomination Dossier ต่อไป

แหล่งที่ได้ศึกษาได้แก่ โบราณสถานฮาเกียโซเฟีย/ ฮิบโปโดม/  ท็อปคาปีพาเล็ช/ สุลต่านทูม/ อียิปเตียนโอเบลิสก์ ดอลมาบาเซพาเลซ/  ย่านเมืองเก่าอิสตันบูล /หอคอยอิสตันบูล โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี ป้อม กำแพงเมืองและการอนุรักษ์ของเมืองอิสตันบูลที่ขอเป็นTentative listทั้งเมืองฯ แหล่งรูเมลิ ฮิซารี อนาโดลู ฮิตารี มัสยิดออฟสไปซ์/พิพิธภัณฑสถานโบราณคดีแห่งเมืองอิสตันบูล (อิสตันบูล อาร์เคโอโลยี มิวเซียม) พิพิธภัณฑสถานศิลปะตะวันออกและพิพิธภัณฑสถานกระเบื้องเคลือบ และอ่างเก็บน้ำโบราณใต้ดิน (ส่วนหนึ่งใน tentative list of world heritage site of Istanbul City)

 

 

๑๐.  ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

          ๑.ประเทศไทยควรเข้าไปมีบทบาทให้เพิ่มมากขึ้นในองค์กรที่ปรึกษาสำคัญ (Advisory Bodies) ของคณะกรรมการมรดกโลกที่เป็นองค์กรพิจารณาประเมินแหล่งสมบัติชาติของแต่ละประเทศ (national property) ว่าสมควรให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม (World Cultural Heritage) มรดกโลกทางธรรมชาติ (World Natural Heritage) และมรดกแบบผสม (World Mixed Heritage) องค์กรสำคัญที่ว่านี้ที่ประเทศไทยควรมีบทบาทให้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ดังนี้:

- ICCROM ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกใน ๑๙๑ ประเทศเท่านั้น แต่ยังไม่เคยสมัครให้ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น คณะกรรมการบริหาร (Council Members of ICCROM ) อีกกรณีหนึ่งประเทศไทยสามารถจัดทำโครงการ/กิจกรรมต่อเนื่อง (ถาวร) ที่เสนอให้ICCROM รับรองเป็นโครงการ/กิจกรรมสากล กรณีสืบเนื่องจากการประชุม ICCROM 2015 (พ.ศ. ๒๕๕๘) ซึ่งนางอมรา ศรีสุชาติเป็นผู้แทนประเทศไทยเสนอขอให้ICCROMจัดตั้งศูนย์การอนุรักษ์และฝึกอบรมเรื่อง Brick Monument and its Associated Finds ซึ่งมีความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียและอัฟริกา ผู้อำนวยการใหญ่ICCROMและที่ประชุมฯให้ความเห็นสนับสนุนและผู้อำนวยการใหญ่ICCROMขอให้ประเทศไทยหรือกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์ฯและโครงการฯดังกล่าวโดยร่วมมือกันให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นศูนย์ฯก่อนแล้วทางICCROMก็จะขานรับให้การสนับสนุนและให้จัดตั้งเป็นโครงการ/กิจกรรมสากลต่อไป ดร.คาบาเด่ ผู้อำนวยการสถาบันการอนุรักษ์แห่งชาติ ผู้แทนประเทศอินเดียและเป็นประธาน Council Members of ICCROM เสนอว่า ขอให้ประเทศไทยส่งผู้แทนไปศึกษางานและเจรจากับสถาบันอนุรักษ์ของอินเดีย (Laboratory of Conservation of Cultural Property) ยินดีจะให้การสนับสนุนในการจัดตั้งศูนย์และหาทุนในการฝึกอบรม หากประเทศไทยประสงค์จะตั้งศูนย์ทางด้านนี้ในประเทศไทยซึ่งผู้แทนของประเทศอิหร่าน (ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการใน Council Members of ICCROM)ก็ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้วย การสร้างโครงการหรือกิจกรรมลักษณะถาวรต่อเนื่องและดำเนินการอย่างจริงจังในการประสานความร่วมมือกับนานาประเทศภายใต้การให้ความสนับสนุนของICCROMจะเป็นหนทางสำคัญถึงการยอมรับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศไทยในระดับสากล มีผลสำคัญยิ่งต่อการประเมินแหล่งสมบัติวัฒนธรรมของชาติ (national property)ให้ก้าวขึ้นเป็นมรดกโลก (World Heritage site) ดังนั้นประเทศไทย โดยกรมศิลปากร ควรดำเนินการกำหนดทิศทางและเตรียมแผนงานการเจรจาความร่วมมือเพื่อการจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าวให้สำเร็จและมีโครงการ/กิจกรรมที่ชัดเจนในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง

-IUCN เป็นองค์กรประเมินทางด้านมรดกธรรมชาติ แม้ว่าประเทศไทยยังมิได้เสนอแหล่งมรดกแบบผสม (Mixed Property)เพื่อเป็นมรดกโลกแบบผสม (World Mixed Heritage) มาก่อน แต่ IUCN ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการประเมินและเสนอความเห็นเอกสารการนำเสนอ (Nomination Dossier) ของแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เนื่องจากชื่อของแหล่งนี้ใช้คำว่า Park และเนื้อในแสดงแนวคิดที่เป็น Cultural Landscape และแสดงให้เห็นว่าอยู่ในพื้นที่สมบัติธรรมชาติ (Natural Property) ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังนั้นจึงต้องได้รับการพิจารณาประเมินส่วนนี้ด้วย หากทางประเทศไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรยังยืนยันคงชื่อเดิมและคงสาระแนวคิดการเป็น Cultural Landscape ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื้อเชิญเจ้าหน้าที่จาก IUCNมาให้คำแนะนำในการดำเนินการจัดทำ Nomination Dossier ใหม่ของแหล่งนี้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งกรมฯนี้ปัจจุบันได้จัดตั้งสำนักมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ว เพื่อให้รับผิดชอบด้านการดำเนินงานมรดกโลกทางธรรมชาติโดยตรง แต่กรมศิลปากรยังไม่มีสำนัก/กองมรดกโลกทางวัฒนธรรม แต่งานมรดกโลกยังเป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ในกรณีของแหล่งภูพระบาทหากปรับเปลี่ยนชื่อใหม่และเปลี่ยนแนวคิด (concept)ใหม่ กล่าวคือไม่ระบุเรื่อง Cultural Landscape) และสร้างแนวคิดใหม่เรื่อง Cross cultural boundaryร่วมกับแหล่งมรดกลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศลาวตามข้อแนะนำใหม่ของ ICOMOS น่าจะแก้ปัญหาความยุ่งยากที่ต้องดำเนินตามผลการประเมินของ IUCN และทำให้เพิ่มคุณค่าความเป็นสากลตามแนวทางใหม่ ซึ่งจะมีความเป็นไปได้ที่จะไปสู่การได้รับการประเมินให้เป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคต

          -ICOMOS  แม้ว่าประเทศไทยจะมีองค์กรที่เรียกว่า อีโคโมส ประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งโดยได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากรมาเป็นเวลานาน แต่ยังมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นหน่วยงานเครือข่ายของอีโคโมสสากล (ICOMOS International) และจะเอื้อประโยชน์ให้กันในการประเมินแหล่งมรดกโลก อันที่จริงอีโคโมสสากล (ICOMOS International) กับหน่วยงานอีโคโมสของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยกับงานมรดกโลก ไม่เกี่ยวเนื่องหรือมีผลต่อการประเมินใดๆ และมิได้เป็นเครือข่ายกัน เพียงแต่มีแนวทางหรืออุดมการณ์ในการอนุรักษ์อย่างเดียวกันเท่านั้น อีโคโมสในแต่ละประเทศ ต่างดำเนินกิจกรรมโดยอิสระ ไม่ขึ้นกับอีโคโมสสากล และงานของอีโคโมสสากลในเรื่องมรดกโลกก็ไม่ใช่งานของอีโคโมสประเทศต่างๆแต่อย่างใด  การประเมินแหล่งมรดกโลกของอีโคโมสสากลในแต่ละประเทศเป็นอิสระและโปร่งใส ดังนั้นการขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากอีโคโมสสากลในการจัดทำTentative List/Nomination Dossier หรือความรู้ที่จะเป็นแนวทางให้ชุมชน/ผู้ดำเนินงานทราบและเข้าใจในการจัดทำเอกสารหรือหลักการในทางปฏิบัติจริงที่สอดคล้องกับเอกสารที่นำเสนอที่จะได้รับการประเมินจากอีโคโมสและหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องมรดกของประเทศเพื่อให้เป็นมรดกโลก หรือพิทักษ์ความเป็นมรดกโลกไว้มิให้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต จึงต้องดำเนินงานประสานโดยตรงกับอีโคโมสสากล การประชุมกับอีโคโมสครั้งนี้จึงนับเป็นการประชุมเจรจาทาบทามครั้งแรกให้อีโคโมสสากลเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษาอย่างจริงจังเพื่อสามารถทำให้ปรับแก้ไขแหล่งที่อยู่ในTentative Listใหม่ให้เหมาะสมก่อนที่จะนำเสนอNomination Dossier เช่น แหล่งเมืองเชียงใหม่ และ แหล่งวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช แหล่งที่อยู่ในTentative List แล้วและได้จัดทำ Nomination Dossier เสนอและอีโคโมสประเมินแล้วว่ายังต้องแก้ไขเพราะขาดความสมบูรณ์อยู่มากเช่น แหล่งภูพระบาท หรือแหล่งที่ประสงค์จะนำเสนอให้อยู่ในTentative List และการก้าวไปสู่การจัดทำNomination Dossier ซึ่งเป็นเอกสารรับรอง(ภาคทฤษฎี)ที่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลจริงที่ดำเนินการปฏิบัติได้จริงตรงตามเอกสารรับรอง (Nomination Dossier)นั้น ดังนั้นกรมศิลปากรจะต้องจัดทำรายละเอียดแผนการขอความช่วยเหลือในการให้มาเป็นที่ปรึกษาฯ ระบุกิจกรรมที่จะให้เจ้าหน้าที่ของอีโคโมสมาช่วยเหลือดำเนินการ ทั้งกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายซึ่งประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่อีโคโมสตลอดกิจกรรม และค่าบริหารจัดการตามรายละเอียดการเจรจาต่อรองในเงื่อนไขที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่ายในข้อตกลงตามสัญญาร่วมกัน (a contractual agreement which would stipulate details) ซึ่งเจ้าหน้าที่อีโคโมสขอให้ทางผู้ร้องขอฯ (กรมศิลปากร)ร่างแผนงานขอความช่วยเหลือฯดังกล่าวและนำไปหารือกับคณะกรรมการของอีโคโมส (หมายถึงการเจรจาต่อรองและแสดงข้อตกลงตามเงื่อนไข)ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกต่อเนื่องที่กรุงปารีสในปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ดังนั้นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินการเรื่องTentative Listและ/หรือNomination Dossier ทั้งกรมศิลปากร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ หากประสงค์ได้รับความช่วยเหลือ การให้คำแนะนำปรึกษาเพื่อสามารถจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ นำไปสู่ผลการประเมินที่จะเป็นไปในทางบวก จึงควรดำเนินการวางแผนรองรับเรื่องนี้และการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อการนี้ไว้โดยเฉพาะและเตรียมความในการประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะฯจากองค์กรที่ปรึกษาฯข้างต้น สำหรับการดำเนินการที่จะมีสัมฤทธิผลต่อไป

          ๒.แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ปรากฏชื่อในTentative List สามารถปรับปรุงแก้ไขชื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าความเป็นสากล(Outstanding Universal Value)ที่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบใหม่ได้และพิจารณาให้สอดคล้องกับขอบเขต(Boundary)ที่จะกำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์และการคุ้มครอง หากขอบเขตมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ครอบคลุมตามชื่อที่ระบุ มีผลต่อการประเมินให้กลับมาแก้ไข และไม่สามารถให้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ องค์กรที่ปรึกษาและคณะกรรมการมรดกโลกเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ยินยอมให้มีการปรับเปลี่ยนชื่อที่ปรากฏในTentative List หรือแม้เป็นWorld Heritage Listแล้วก็สามารถปรับแก้ไขชื่อได้หากจำเป็นต้องลดขอบเขตหรือต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้สอดคล้องกับการปฏิบัติด้านการอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น แหล่ง Nalanda Mahavihara คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบตามข้อเสนอแนะขององค์กรที่ปรึกษาคืออีโคโมสโดยให้เปลี่ยนชื่อเป็น Archaeological Site of Nalanda Mahavihara และให้กำหนดขอบเขตเฉพาะแหล่งโบราณคดีซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของArchaeological Survey of India (ASI) สามารถดำเนินการตามขอบเขตที่ประกาศขึ้นทะเบียนไว้ได้ ไม่ต้องขยายขอบเขตไปในส่วนโบราณสถานอื่นๆหรือส่วนซ้อนทับกับชุมชนปัจจุบันที่ไม่อาจเข้าไปบริหารจัดการแก้ไขสภาพได้ อีกตัวอย่างคือ แหล่งBotanical Garden ของประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ก็ขอแก้ไขชื่อเพื่อให้จำกัดขอบเขตพื้นที่ให้แคบและชัดเจนขึ้น กรณีของประเทศไทยแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในTentative List  แล้ว ที่ควรปรับเปลี่ยนชื่อคือ (๑)แหล่งเมืองเชียงใหม่ ควรปรับคำว่า Landscape ออกไปและหาคำอื่นที่แสดงความเป็น ประวัติศาสตร์ของเมือง เช่น Historical Sites และเลือกนำเสนอเฉพาะแหล่งโบราณสถานสำคัญของเมืองมากกว่าการใช้ตัวเมืองทั้งเมืองซึ่งมีปัญหาต่อการนำเสนอแผนการอนุรักษ์และการบริหารจัดการในภาคปฏิบัติที่จะขัดแย้งได้ (๒)แหล่งอุทยานภูพระบาท (Phu Phrabat Historical Park)ซึ่งเนื้อหาในNomination Dossier ระบุว่าเป็นCultural Landscape ทำให้ต้องนำไปผูกโยงกับการประเมินของIUCN ที่ประเมินไม่ให้ผ่าน ให้กลับไปทำเพิ่มเติมใหม่ เพราะIUCN เห็นว่า ยังขาดต้องแผนบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ  ดังนั้นแหล่งอุทยานภูพระบาท จึงสมควรปรับเปลี่ยนชื่อเป็น Phu Phrabat Archaeological Sites  หรือ Archaeological Sites of Phu Phrabat and …….. (...ที่เว้นไว้เพื่อใส่ชื่อแหล่งของประเทศลาว) กรณีเสนอร่วมกับแหล่งของประเทศลาวที่พบหลักฐานแหล่งใบเสมาตามแนวเทือกเขาในประเทศลาวที่ต่อเนื่องเป็นเทือกเดียวกันกับภูพานที่ตั้งภูพระบาทของประเทศไทย ซึ่งยังต้องรอการสำรวจเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่างไทย-ลาว อันเป็นแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมศิลปากรของประเทศไทยและกรมมรดกของประเทศลาว หลังจากการลงนามในหนังสือข้อตกลงความร่วมมือกันสองฝ่ายแล้ว จึงควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง    อีโคโมสสากลมีความเห็นว่า การนำเสนอแหล่งร่วมกัน-เชื่อมโยงกันเช่นนี้จะทำให้คุณค่าความเป็นสากล(Outstanding Universal Value) ปรากฏชัดเจนและมีน้ำหนักมากขึ้น

          ๓.ความซับซ้อนและยุ่งยากของการดำเนินงานจากการทำTentative Listไปสู่ Nomination Dossierที่จะให้ได้รับการยอมรับในการประเมินจากองค์กรที่ปรึกษา (Advisory Bodies) และคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) จนได้รับการยอมรับให้ประกาศขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชี “เป็นมรดกโลก” (World Heritage List) ไม่ใช่เรื่องจะทำได้ง่ายๆกันในชั่วไม่กี่เดือน กี่ปี บางประเทศเมื่อเสนอเป็นTentative Listแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการได้ บางประเทศดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน เช่นกรณีของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีความพยายามเสนอแหล่งKey works of Modern Architecture by Frank Lloyd Wright จนมาเป็นปีที่ ๘ ในปีนี้แล้วก็ยังมีข้อบกพร่องที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับให้เป็นมรดกโลก ต้องนำมาแก้ไข ทั้งๆที่ประเทศนี้มีทั้งกำลังบุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนมากตลอดจนงบประมาณสนับสนุนอย่างมาก แต่ก็ยังไม่บรรลุจุดประสงค์ แหล่งมรดกโลกของหลายประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่ยังทำไม่สำเร็จ ก็มีอยู่มาก  เช่น ประเทศฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี แม้บางประเทศซึ่งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมฯ กรณีประเทศตุรกีในปีนี้ ก็ยังไม่ถือว่าได้เปรียบในการนำแหล่งของประเทศตนให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนฯ ประเทศตุรกีควรนำแหล่งเมืองอีสตันบูล ซึ่งอยู่ในTentative list ประกาศขึ้นทะเบียนฯ แต่ได้รั้งรอไว้ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า การอนุรักษ์ยังพร่องอยู่มาก แหล่งหลายแหล่งยังประสบปัญหาการครอบครองพื้นที่ของเอกชนซ้อนทับพื้นที่โบราณสถาน บางแห่งมีสิ่งปลูกสร้างทับอยู่บนโบราณสถาน จึงไม่ผลักดันที่จะนำเสนอแหล่งเมืองอีสตันบูลในปีนี้ จะรอต่อไปจนกว่าแก้ไขปัญหาให้ได้ก่อน ประเทศแคนาดาเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่ขอยอมรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้ตามการประเมินขององค์กรที่ปรึกษา เพราะเห็นว่า ยังไม่พร้อมเพียงพอในการจัดทำแผนการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ จึงขอรั้งรอไว้ก่อน และขอไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้ รอจนกว่าแผนบริหารด้านการอนุรักษ์สามารถปฏิบัติได้จริง ประเทศเหล่านี้ล้วนตระหนักถึงความเข้มงวดของคณะกรรมการในการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก และคณะกรรมการฯได้มีการปรับวิธีการพิจารณา เน้นเรื่องคุณค่าความเป็นสากลที่ต้องมีคุณค่าระดับโลกจริงๆ ต้องมีมาตรฐานในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการดูแลรักษา การอนุรักษ์คุ้มครองไว้ได้จริงจังและตลอดไปและเคร่งครัดในการตรวจสอบแหล่งมรดกโลก ทั้งติดตาม เฝ้าระวัง การรายงานผลกระทบเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้พิจารณาว่าอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ อย่างไร  ดังนั้นปัจจุบันหลายประเทศในโลกนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะไม่แข่งขันกันนำเสนอแหล่งให้อยู่ในTentative List หรือ เร่งรัดทำและนำเสนอNomination Dossier ที่ไม่สามารถจัดการได้จริงและนำไปสู่การตกอยู่ในสภาวะมรดกโลกในภาวะเกือบวิกฤต หรือ ภาวะวิกฤต ที่ส่งผลด้านลบต่อสายตาประชาคมโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนในปีนี้คือ ทวีปอัฟริกามีประเทศรวมกันจำนวน ๕๑ ประเทศ แทบไม่เสนอแหล่งใดให้เป็นมรดกโลกเลย มีเพียงแหล่งเดียวคือแหล่ง Ennedi Massif: Natural and Cultural Landscapeของประเทศชาด(Chad) ซึ่งเพียรพยายามนำเสนอปรับปรุงแก้ไขแผนการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์มาหลายปีทั้งที่คุณค่าความเป็นสากลของแหล่งนี้โดดเด่นมาก คณะกรรมการมรดกโลกจึงเห็นว่า แม้การบริหารจัดการฯยังมีข้อต้องแก้ไข แต่ถ้าไม่ประกาศให้เป็นมรดกโลกในปีนี้ก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือในการแก้ไข และในปีนี้ก็จะไม่มีแหล่งมรดกโลกในทวีปอัฟริกาแม้แต่แหล่งเดียว จึงประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและมีเงื่อนไขให้นานาประเทศร่วมกันช่วยเหลือ โดยระดมทุนและทรัพยากรบุคคลเข้าไปช่วยด้านการอนุรักษ์เพื่อนำไปสู่การเป็นแหล่งมรดกโลกที่สมบูรณ์แบบต่อไป

          ข้อมูลข้างต้นเป็นสิ่งเตือนให้ตระหนักว่า ประเทศไทยไม่ควรเร่งร้อนที่จะนำเสนอแหล่งใดๆก็ตามให้เป็นTentative Listจำนวนมาก และต้องผูกมัดกับสัญญาประชาคมและให้ความหวังกับประชาชนในพื้นที่ว่าจะเป็นมรดกโลกในเร็ววัน เพราะการทำเอกสารNomination Dossierให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของแหล่งที่แสดงคุณค่าความเป็นสากลควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นมรดกโลกและมีแผนการจัดการด้านการอนุรักษ์อย่างไม่บกพร่องและยั่งยืนในสภาพของการพัฒนาในโลกปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่ได้ตามอุดมการณ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเนสโก (UNESCO sustainable development declaration)นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย มีความซับซ้อนยุ่งยากหลายประการในทางปฏิบัติ (ไม่ใช่เขียนครบถ้วนตามเอกสาร แต่สภาพจริงของแหล่งต้องเป็นไปตามนั้น และปฏิบัติได้ตามนั้น)และมีพันธะสัญญาที่ต้องยืนยันรับรองแข็งขันว่าจะปฏิบัติเช่นนั้นในการรักษาแหล่งตลอดไป  ดังนั้นหากประเทศไทยประสงค์เสนอแหล่งใดแหล่งหนึ่งไปสู่การขอขึ้นบัญชีและขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจึงควรดำเนินตามขั้นตอนดังต่อไปนี้:

 ๑)สอบค้นข้อมูลและพิจารณาศักยภาพของแหล่งอย่างรอบด้านตาม operation guidelineของศูนย์มรดกโลกในการพิจารณาว่าอยู่ในเกณฑ์ (criteria)ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร หากอยู่ในเกณฑ์อย่างเพียงพอ จึงเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำเอกสารการขอเป็นTentative List และเตรียมการดำเนินงานให้แหล่งอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการเพื่อการนำเสนอเป็นมรดกโลกในเวลาต่อไป

๒)เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับสากลจากองค์กรที่ปรึกษาของศูนย์มรดกโลก (ICCROM/ICOMOS/ IUCN) ที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องของแหล่งนั้นๆให้ร่วมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแหล่งข้างต้น ว่ามี คุณค่าความเป็นสากลและมีการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พิทักษ์แหล่งอย่างดีพอ ทั้งที่ผ่านมาในอดีต ปัจจุบันและอนาคต (ควรต้องฟังความเห็นจากคนนอกประเทศที่มองเห็นคุณค่าความเป็นสากล เพราะใช้ความคิดเห็นเฉพาะคนในประเทศยอมมีอคติในการมองหรือพิจารณา)

๓)เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงประสานการวางแนวทางในการเขียนTentative list โดยให้ผู้เชี่ยวชาญระดับสากลตรวจสอบเอกสารTentative List ของแหล่ง โดยต้องสามารถกำหนดคุณค่าความเป็นสากล (Outstanding Universal Value)ของแหล่งนั้นๆได้อย่างชัดเจนและมีแผนงานอนุรักษ์ที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

๔) ดำเนินการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกอย่างครบถ้วน เพื่อให้คุณค่าของแหล่งเด่นชัดขึ้น เช่น ถ้าเป็นแหล่งโบราณคดี (Archaeological site) จำเป็นต้องดำเนินงานทางโบราณคดีให้ได้ค่าอายุสมัย การกำหนดอายุสิ่งก่อสร้างทุกตำแหน่งของแหล่งและใช้ข้อมูลจากหลักฐานโบราณคดีทั้งหมดเชื่อมโยงเรื่องราวที่เปรียบเทียบได้กับแหล่งอื่นที่มีคุณค่าเป็นสากลได้เสมอกันหรือโดดเด่นยิ่งกว่า ถ้าเป็นสถาปัตยกรรม ต้องมีข้อมูลการออกแบบ แบบแปลนแผนผัง แนวคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นในการออกแบบและก่อสร้าง ความครบถ้วนในข้อมูลประวัติ สาระจากรูปลักษณ์ที่สะท้อนคุณค่าความเป็นมนุษย์หรืออัจฉริยภาพ

๕)ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพแหล่ง ไม่ให้แหล่งตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมทั้งทางกายภาพของแหล่งและการใช้มาตรการบังคับไม่ให้แหล่งถูกทำลาย เช่น มาตรการทางกฎหมาย การคุ้มครองด้วยกฎระเบียบ การประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองที่มิให้เปลี่ยนแปลงสภาพ หรือเคลื่อนย้ายสิ่งที่จะทำให้สภาพของแหล่งเสื่อมค่า เช่น ให้พื้นที่กันชนหรือขอบเขตของแหล่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมในการรักษาคุณค่าของแหล่ง

๖) จัดทำเอกสารอันเป็นข้อเขียนที่เกิดจากผลการศึกษาที่แสดงคุณค่าความเป็นสากล-ผลการอนุรักษ์ แสดงหลักฐานที่บ่งชัดถึงมาตรการคุ้มครองปกป้องอย่างมีประสิทธิภาพและถาวรในปัจจุบันและอนาคต เอกสารนี้เรียกว่าNomination Dossier ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการโบราณคดีและการอนุรักษ์แหล่ง/สิ่งก่อสร้างในแหล่งมรดกนั้นๆเป็นผู้ดำเนินการเขียนและจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ และประสานให้ผู้เชี่ยวชาญสากลขององค์กรที่ปรึกษาของศูนย์มรดกโลกตามที่กล่าวมาข้างต้นตรวจสอบ แก้ไข และได้รับการพิจารณาประเมินชั้นต้นว่าสมควรที่จะนำเสนอได้ ไม่มีข้อบกพร่องหรือบกพร่องเพียงเล็กน้อย ก่อนการนำเสนอตามขั้นตอน

 ๗) นำเสนอNomination Dossierของแหล่งนั้นๆต่อคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อเอกสารมีความครบถ้วนสมบูรณ์เช่นเดียวกับแหล่งที่คงความครบถ้วนในภาคปฏิบัติตามที่เอกสารระบุสามารถให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา

๘)ต้องดำเนินกิจกรรมคู่ขนานกับการดำเนินงานในระหว่างการจัดทำTentative Listและ/หรือNomination Dossier คือการประชาสัมพันธ์ให้แหล่งเป็นที่รู้จักในระดับสากล เช่น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องที่เกี่ยวกับแหล่งหรือเกี่ยวเนื่องถึงแหล่งที่จะนำเสนอฯ หายุทธวิธีที่กระตุ้นให้นักวิชาการทั้งในและนอกประเทศเขียนบทความทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่ง และให้ปรากฏการลงพิมพ์ในเอกสาร/หนังสือ/สื่อ ซึ่งแพร่หลายและรู้จักเป็นสากล สร้างความเป็นมาตรฐานและความเป็นที่รู้จักด้านการอนุรักษ์ของแหล่งนี้ เช่น การจัดตั้งศูนย์การอนุรักษ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ใช้แหล่งเป็นสนามปฏิบัติการ การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์ในระดับนานาชาติ การจัดตั้งYouth Forum หรือเยาวชนในท้องถิ่น/ในประเทศและนานาชาติเป็นกำลังพิทักษ์อนุรักษ์แหล่งฯ และสืบทอดภารกิจอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมเหล่านี้ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการและเป็นกิจกรรมระยะยาวที่ยั่งยืนและขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ 

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ควรกำหนดเป้าหมายการดำเนินการแหล่งใดแหล่งหนึ่งอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงจะเป็นผลดีมากกว่าการดำเนินการหลายแหล่งพร้อมๆกัน ควรยอมรับความจริงว่า แหล่งมรดกของชาติเราแม้มีอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่มีคุณค่าเพียงสมบัติชาติ (National Property)ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและต้องร่วมกันปกปักรักษาของคนในชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อไปเทียบเคียงกับมรดกของชาติอื่นทั่วทั้งโลก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะนับได้ว่า พอจะก้าวไปสู่คุณค่าความเป็นสากล และการทำให้บังเกิดคุณค่าความเป็นสากลของแหล่งที่มีอยู่น้อยมากนี้ให้เป็นไปได้จำเป็นต้องดำเนินงานค้นหาข้อมูลทางโบราณคดีเพิ่มเติมอย่างมากและใช้เวลาอีกยาวนาน ทั้งยังต้องวางแผนในการจัดการคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่งให้ได้มาตรฐานสากลด้วย จึงไม่ควรกำหนดให้ต้องนำเสนอแหล่งเพื่อขึ้นTentative Listทุกปีหรือปีละหลายแหล่งและต้องบังคับให้ดำเนินการอย่างเร่งรัดในการผลักดันให้ดำเนินการจัดทำNomination Dossierเพื่อไปถึงความเป็นมรดกโลกอันเป็นจุดมุ่งหมาย ท้ายที่สุดแล้วผลที่ได้คือ มีความเป็นไปได้มากที่จะได้รับการประเมินไม่ผ่านหรือให้กลับมาจัดทำใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก (ตัวอย่างของหลายประเทศที่ยกมาข้างต้นย่อมเป็นบทเรียนแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว) ดังนั้นจึงควรอยู่บนพื้นฐานการยอมรับความจริงดังกล่าว ในหนึ่งปี/สองปี/สามปี/หลายๆปี อาจมีเพียงแหล่งเดียวก็เพียงพอที่จะนำเสนอให้อยู่ใน Tentative List  และเริ่มดำเนินการแหล่งนั้นๆอย่างจริงจังและทุ่มเทให้บรรลุเป้าหมาย โดยดำเนินตามขั้นตอนที่นำเสนอข้างต้น จนสามารถจัดทำNomination Dossier ได้ก่อน ครั้นเมื่อได้รับการประกาศให้แหล่งนั้นๆเป็นมรดกโลกแล้วจึงจะวางแผนดำเนินการในแหล่งใหม่ที่ได้พิจารณาแล้วและได้รับการประเมินรับรองจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกแล้วว่า เป็นแหล่งที่มีคุณค่าความเป็นสากลและมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์และสามารถอนุรักษ์คุ้มครองได้ตามมาตรฐานในข้อกำหนดของความเป็นมรดกโลกต่อไป หากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเห็นว่า ยังไม่พร้อมเพียงพอ ก็ควรดำเนินการในส่วนที่บกพร่องให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะนำเสนอเป็นTentative List หรือ Nomination Dossier ตามลำดับต่อไป

 

นางอมรา ศรีสุชาติ.......ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ

(จำนวนผู้เข้าชม 1004 ครั้ง)