...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ การประชุมและสัมมนาทางวิชาการของสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (The Southeast Asia – Pacific Audio Visual Archives Association : SEAPAVAA) หัวข้อ Advocate : The why And How of It and Succession Planning : A Step To Sustain

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

๑. ชื่อโครงการ

          การประชุมและสัมมนาทางวิชาการของสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (The Southeast Asia – Pacific Audio Visual Archives Association : SEAPAVAA) หัวข้อ Advocate : The why  And How of It and Succession Planning : A Step To Sustain

 

๒. วัตถุประสงค์

          ๒.๑ เพื่อเข้าร่วมประชุม 19th SEAPAVAA General Assembly

          ๒.๒ เพื่อเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ 19th “Advocate, Connect, Engage

          ๒.๓ เพื่อร่วมงาน Archival Gems Screening

          ๒.๔ เพื่อศึกษาดูงาน ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  หอสมุด Esplanade Lee Kong Chain  Natural History Museum และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

 

๓. กำหนดเวลา

          วันอังคารที่ ๒๑ วันพุธที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

 

๔. สถานที่

          หอสมุดแห่งชาติ (National Library)

 

๕. หน่วยงานผู้จัด

          สมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเเปซิฟิก Asia – Pacific Audio Visual Archives Association : SEAPAVAA

. หน่วยงานสนับสนุน

          กลุ่มแผนงาน โครงการและวิเทศสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร

 

๗. กิจกรรม

          การประชุม SEAPAVAA General Assembly

 

๘. คณะผู้แทนไทย

          ๘.๑ นางสาวนัยนา แย้มสาขา                ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

          ๘.๒ นางสาวกรพินธุ์ ทวีตา                   นักจดหมายเหตุ ชำนาญการพิเศษ

          ๘.๓ นางสาวกษมาณัชญ์ นิติยารมย์          นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ

 

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

          ๙.๑ การประชุมคณะกรรมาธิการบริหารสมาคม (Executive Council Meeting)

                   กรรมาธิการบริหารสมาคม ประกอบด้วย นายกสมาคมจากประเทศออสเตรเลีย เลขาธิการสมาคมจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ และเหรัญญิกจากสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะกรรมการจากประเทศต่างๆ

          ๙.๒ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี (19th SEAPAVAA General Assembly)

                   มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับรองสมาชิกใหม่ ๑๐ ราย รายงานสถานภาพการเงินของสมาคม การนำเงินของสมาคมโอนจากประเทศฟิลิปปินส์มาฝากที่ธนาคาร OCBC ที่สิงคโปร์ การปรับปรุงเว็บไซต์ การอนุญาตให้นำตราสัญลักษณ์ของสมาคมไปใช้สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวาระครบรอบ ๒๐ ปี ในปีหน้า การพิจารณาข้อเสนอให้เกาะกวมเป็นสถานที่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ ๒๐ และการประชุมทางวิชาการในปีหน้า การพิจารณาหลักเกณฑ์การมอบรางวัลต่างๆ เช่น SEAPAVAA Fellowship สำหรับบุคคลที่ปฏิบัติงานด้านอนุรักษ์ดีเด่น  รางวัล NFSA – SEAPAVAA Preservation Award ของหอภาพยนตร์และเสียงแห่งชาติของออสเตรเลีย ความร่วมมือระหว่างสมาคมกับหน่วยงานอนุรักษ์ ระดับ International Relations and Partnership ได้แก่ UNESCO AMIA FIAF INSA ICCROM PARBICA ฯลฯ

          ๙.๓ การสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง Advocate, Connect, Engage (การสนับสนุน การเชื่อมต่อ และการมีส่วนร่วม)

                   วิทยากรจากประเทศต่างๆ จำนวน ๔๔ คนนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการอนุรักษ์เอกสารประเภทสื่อโสตทัศน์ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการแปลงข้อมูลสื่อโสตทัศน์ การจัดเก็บรักษา การให้บริการและเผยแพร่เอกสารสื่อโสตทัศน์ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจในการเก็บเอกสาร การสำรวจ คำค้นเทคโนโลยี และวิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มความสำเร็จและความยั่งยืนของการทำงานจดหมายเหตุ

                   นายยาคอบ ฮิบราฮิม (Mr. Yaacob Ibrahim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศสิงคโปร์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา และนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ มาร่วมเป็นเกียรติในงาน

                   Keynote Speaker คือ Mr. Hisashi Okajima ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวในหัวข้อ Into the Digital Woods : Archival Utopia or Pandaemonium  เป็นเรื่ององค์ประกอบสำคัญสำหรับการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ มี ๔ อย่าง ได้แก่ ความสามารถของบุคลากร งบประมาณ กฎหมาย และเทคโนโลยี แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเข้าใจยาก                            แต่นักจดหมายเหตุและนักอนุรักษ์รุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้

๙.๔ การฉายภาพยนตร์อนุรักษ์ดีเด่นของประเทศสมาชิก (Archival Gems Screening)

          ประเทศสมาชิกได้คัดเลือกภาพยนตร์เก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ จำนวน ๑๔ เรื่อง นำมาฉายรวมทั้งประเทศไทย พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ได้นำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาร่วมในกิจกรรมนี้

๙.๕ การศึกษาดูงาน

๙.๕.๑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ แบ่งส่วนงานเป็น ๕ ส่วน ได้แก่ ส่วนบริหารเอกสาร (Records Management) ทำหน้าที่ประเมินคุณค่าเอกสาร ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ ในด้านการจัดการเอกสาร ด้านการอนุรักษ์ ส่วนการบริการจดหมายเหตุ (Archives Services) ให้บริการข้อมูลออนไลน์มากกว่า ๔๐๐,๐๐๐ เอง ศูนย์ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า (Oral History Center) แต่ละปีมีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายในการสัมภาษณ์บุคคลเพื่อทำประวัติสาสตร์บอกเล่า ส่วนจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ (Audio Visual Archives) ทำหน้าที่เก็บรวบรวมสื่อโสตทัศน์ที่มีความสำคัญทางสังคม วัฒนธรรมของสิงคโปร์ และแปลงสื่อโสตทัศน์ที่มีความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัล เพื่อรักษาข้อมูลที่มีคุณค่าไว้ให้คนรุ่นต่อไป ส่วนบริการภายนอก (Outreach) ทำหน้าที่เผยแพร่ประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านเอกสารจดหมายเหตุที่มีคุณค่า โดยการจัดนิทรรศการ ผลิตสิ่งพิมพ์ และจัดโครงการกิจกรรมต่างๆ

๙.๕.๒ ห้องสมุด Esplanade อยู่บนศูนย์การค้า เป้นห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกของสิงคโปร์ ที่เน้นศิลปะการแสดงโดยเฉพาะ ได้แก่ ดนตรี การเต้น ละครและภาพยนตร์ มีเอกสารที่อยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ ๕๐,๐๐๐ เรื่อง และยังมีเวทีสำหรับจัดการแสดงและพื้นที่จัดนิทรรศการ ในขณะเข้าศึกษาดูงาน ห้องสมุดกำลังจัดนิทรรศการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สูญหาย (Southeast Asian lost Films Exhibition) โดยมีภาพยนตร์ ไทยเรื่อง โชคสองชั้นสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย จัดแสดงในรูปคลิปวิดีโอ ฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ชำรุดเสียหายมากไม่สามารถซ่อมแซมได้และสูญหายไป

การเยี่ยมชมหน่วยงานทั้งสองแห่ง จะเห็นได้ว่าประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเก็บรักษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ โดยการสนับสนุนงบประมาณสร้างแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ประธานในปัจจุบันและในอนาคตได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล ได้ศึกษารากเหง้า ประวัติศาสตร์ของประเทศ เกิดความตระหนักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม

ในการสนทนากับเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ มีข้อสรุปว่าทางสถานทูตไทย ณ  สาธารณรัฐสิงคโปร์ ขอความร่วมมือสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในการค้นคว้าภาพจดหมายเหตุที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย – สิงคโปร์ เพิ่มเติม เพื่อจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ไทย –สิงคโปร์ และจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ ๕๐ ปี

 

๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ควรมีแผนงานโครงการเรียนรู้การอนุรักษ์เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร ด้านการบริหารจัดการเอกสารประเภทนี้ของสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (The Southeast Asia – Pacific Audio Visual Archives Association : SEAPAVAA) มาบรรยาย ให้ข้อมูลทางวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่นักจดหมายเหตุและบุคลากรของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อการเรียนรู้ เพิ่มพูนศักยภาพ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อการอนุรักษ์เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ให้มีสภาพดี มีอายุยาวนานและสามารถเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอย่างกว้างขวางสู่สาธารณชน

  

                                                        นางสาวกรพินธุ์ ทวีตา ผู้สรุปรายงานการเดินทางไปราชการ

(จำนวนผู้เข้าชม 682 ครั้ง)