...

พระเดชพระคุณพระปกเกศเกล้า ฯ ไพร่ฟ้าอยู่ชุ่มสุขเย็น ฯ
องค์ความรู้ สำนักการสังคีต
“พระเดชพระคุณพระปกเกศเกล้า ฯ ไพร่ฟ้าอยู่ชุ่มสุขเย็น ฯ”
รูปแบบและแนวคิดในการสร้างสรรค์การแสดงชุด “ระบำซออาศิรวาท”
............................................
ธำมรงค์ บุญราช
เรียบเรียงฉลองพระเดชพระคุณเนื่องในโอกาสมหามงคล
เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
“ระบำซออาศิรวาท” เป็นการแสดงชุดหนึ่ง ซึ่งสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดแสดงขึ้น เพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และได้นำออกแสดงครั้งแรกเนื่องในรายการแสดง “เหมันต์บันเทิง รื่นเริงสังคีต” โครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ ๖๕ ครั้งที่ ๗ การแสดงวิพิธทัศนา “รำลึกศิลป์ ถิ่นล้านนา” เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร การแสดงชุด “ระบำซออาศิรวาท” นี้ ผู้ออกแบบได้นำรูปแบบและโครงสร้างการแสดงมาจากการแสดง “ระบำซอ” ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกและนำออกแสดงเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙ เพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ในพุทธศักราช ๒๔๖๙ โดยสร้างขึ้นตามพระดำริของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา และโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ชื่อ “สุนทร” หรือ “ท้าวสุนทรพจนกิจ” กวีประจำคุ้มเชียงใหม่ อดีตมหาดเล็กในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประพันธ์บทขับร้องยอพระเกียรติขึ้นใหม่ เพื่อใช้ขับซอถวายประกอบการแสดงระบำซอในครั้งนั้น โดยมีเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงช่วยขัดเกลาสำนวนภาษาให้มีความเหมาะสมกับพระมหากษัตริย์อีกทอดหนึ่ง สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ ผู้ออกแบบต้องการสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติคุณและถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รูปแบบของการสร้างสรรค์ผลงานนั้น สามารถอธิบายโดยแบ่งตามขั้นตอนของการออกแบบองค์ประกอบการแสดงทั้ง ๕ องค์ประกอบ ดังนี้
๑) การออกแบบบทการแสดง
บทการแสดงระบำซออาศิรวาทนั้น ใช้ฉันทลักษณ์แบบกลอนลำนำ มีคำราชาศัพท์ปนกับภาษาพื้นเมืองล้านนาและประพันธ์บทให้สอดคล้องกับทำนองของเพลงที่บรรจุอยู่ในการแสดง โดยความหมายของบทการแสดงเป็นบทอาศิรวาทยอพระเกียรติคุณและถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในส่วนของบทประพันธ์คำร้องทำนองโยนกและทำนองจ๊อยเชียงแสนนั้น เป็นพระนิพนธ์ในเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ส่วนบทประพันธ์คำร้องทำนองซอยิ้นนั้น นายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้ประพันธ์บทขึ้นใหม่
๒) การคัดเลือกนักแสดง
ใช้นักแสดงหญิงล้วน ตามรูปแบบระบำซอของเดิม ทั้งนี้เนื่องจากนักแสดงหญิงนั้น มีลักษณะทางกายภาพที่ดูนุ่มนวลอ่อนหวาน เหมาะสมกับลีลาการเคลื่อนไหวของร่างกายในรูปแบบการแสดงประเภท “ระบำ” ดังจะเห็นได้ว่าการแสดงระบำถวายพระพรชุดต่าง ๆ ของกรมศิลปากร นิยมคัดเลือกนักแสดงหญิง สำหรับการแสดงชุดระบำซออาศิรวาทนี้ ผู้ออกแบบได้กำหนดให้ใช้นักแสดงหญิงล้วน จำนวน ๖ คน มีทักษะทางด้านนาฏศิลป์ไทยแบบจารีตและนาฏศิลป์ไทยแบบพื้นเมือง
๓) การออกแบบลีลานาฏศิลป์
ลีลานาฏศิลป์ของการแสดงชุดระบำซออาศิรวาท เป็นการผสมผสานกันระหว่างท่ารำนาฏศิลป์ไทยแบบราชสำนักกรุงเทพ ฯ และท่าฟ้อนแบบนาฏศิลป์พื้นเมืองล้านนา ในช่วงทำนองร้องเพลงซอยิ้นนั้น เป็นการรำใช้บทและรำตีบท ส่วนในช่วงท้ายของระบำนั้น เป็นการรำแปรแถวในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ แถวตอน แถวหน้ากระดาน วงกลมและการแปรแถวเป็นรูปมังกร ซึ่งการแปรแถวเป็นรูปมังกรนี้ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากญวนรำกระถางหรือรำโคม ซึ่งนิยมแสดงกันในราชสำนักไทย ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อถวายพระพรพระมหากษัตริย์ในเวลากลางคืน
ลีลานาฏศิลป์ระบำซอของเดิมนั้น นางลมุล ยมะคุปต์ และครูละครในคุ้มเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ร่วมกันประดิษฐ์ท่ารำและฝึกหัดช่างฟ้อน โดยวิธีการฝึกหัดเริ่มต้นนั้น จะให้ช่างฟ้อนฝึกรำและฝึกร้องเพลงระบำไก่ (เพลงลาวเซิ้ง) ด้วยเหตุนี้ท่ารำที่ปรากฏในระบำซอบางท่า จึงมีลักษณะคล้ายกับท่ารำในการแสดงชุดระบำไก่ ซึ่งการแสดงชุดนี้ ถือเป็นการแสดงนาฏศิลป์ล้านนาชุดแรกที่ถูกเรียกว่า “ระบำ” ไม่เรียกว่า “ฟ้อน” เหมือนการแสดงพื้นเมืองล้านนา ชุดอื่น ๆ
สำหรับการออกแบบลีลานาฏศิลป์ชุด “ระบำซออาศิรวาท” นี้ นางสาวเสาวรักษ์ ยมะคุปต์ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงท่ารำในบางช่วงขึ้นใหม่จากท่ารำระบำซอของเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับบทการแสดงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ ซึ่งนางสาวเสาวรักษ์ ยมะคุปต์ ได้รับคำปรึกษาและได้รับการถ่ายทอดท่ารำระบำซอของเดิมมาจาก นางช่อแก้ว ลัดดาอ่อน อดีตนาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตามรูปแบบท่ารำระบำซอที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
๔) การออกแบบการบรรจุเพลงและวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง
ทำนองเพลงที่ใช้บรรจุประกอบบทการแสดงนั้น บรรจุทำนองเพลงบรรเลงและเพลงขับร้อง ทั้งหมด ๙ เพลง ดังนี้ เพลงปุ๋มเม้น สำหรับให้นักแสดงรำออก ร้องเพลงทำนองโยนก สำหรับให้นักแสดงรำตีบทในท่าถวายบังคมได้อย่างสวยงามแช่มช้อย ร้องเพลงทำนองซอยิ้น สำหรับรำตีบทและรำใช้บทอย่างกระชับ ส่วนเพลงลาวต้อยตลิ่ง เพลงลาวกระแตเล็กและเพลงลาวดวงดอกไม้นั้น สำหรับให้นักแสดงรำแปรแถวในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงท้ายของการแสดงนั้น เป็นการร้องเพลงทำนองจ๊อยเชียงแสน สำหรับให้นักแสดงรำตีบทในท่าถวายบังคมอย่างช้า ๆ อีกครั้ง และใช้เพลงลาวกระแซและท้ายรัวเสมอลาว สำหรับให้นักแสดงรำแปรแถวเป็นรูปมังกรแล้วรำเข้า สำหรับวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนั้น เป็นวงปี่พาทย์ไทยผสมกับวงดนตรีพื้นเมืองล้านนา
๕) การออกแบบเครื่องแต่งกาย
การออกแบบเครื่องแต่งกาย เป็นการนำรูปแบบเครื่องแต่งกายของสตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบอาร์ตเดโค (Art Deco) มาผสมกับเครื่องแต่งของสตรีชาวเผ่ากระเหรี่ยง โดยได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบเครื่องแต่งกายมาจากเครื่องแต่งกายระบำซอของเดิม ที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงออกแบบไว้และถึงแม้เครื่องแต่งกายของนักแสดงอาจดูไม่สอดคล้องกับลีลาท่ารำของการแสดงชุดนี้ ด้วยเหตุที่ว่าเครื่องแต่งกายเป็นแบบวัฒนธรรมตะวันตกผสมกับวัฒนธรรมตะวันออ ส่วนลีลาท่ารำและเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงนั้น เป็นแบบตะวันออก แต่ทว่าอีกนัยหนึ่งนั้น ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแปลกตาและความร่วมสมัยให้ปรากฏอยู่ในการแสดงชุดนี้ ซึ่งมีความไม่เข้ากันแต่มาปรากฏอยู่ในผลงานการแสดงเดียวกันตามแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานแบบนาฏศิลป์หลังสมัยใหม่ (Post - Modern Dance)
หลังจากที่ได้อธิบายถึงรูปของแบบของการแสดงสร้างสรรค์ชุด “ระบำซออาศิรวาท” มาแล้วนั้น ส่งผลให้ผู้ออกแบบได้มาซึ่งแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงานการแสดง โดยสามารถอธิบายและจำแนกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑) การคำนึงถึงการถวายพระพรพระมหากษัตริย์
ผู้ออกแบบการแสดง ได้นำการคำนึงถึงการถวายพระพรพระมหากษัตริย์ โดยนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานการแสดงชุด “ระบำซออาศิรวาท” ดังปรากฏอยู่ในการออกแบบบทการแสดง ที่มีเนื้อหาของบทประพันธ์กล่าวถึงการถวายพระพรและยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์
๒) การคำนึงถึงผู้ชม
ผู้ออกแบบการแสดง ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้ชมที่สนใจงานนาฏศิลป์ไทยแบบจารีต ด้วยเหตุนี้จึงออกแบบองค์ประกอบการแสดงที่เป็นไปตามขนบและจารีตของการสร้างสรรค์นาฏศิลป์ไทยสำหรับรำถวายพระพร ดังจะเห็นได้จากการออกแบบลีลานาฏศิลป์ที่มีการรำใช้บท และรำตีบทจากแม่ท่าต่าง ๆ ในรำเพลงช้าเพลงเร็วและรำแม่บท รวมถึงการรำแปรแถวในรูปแบบ ต่าง ๆ ตามรูปแบบการแสดงประเภท “ระบำ” ส่วนการบรรจุเพลงและวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนั้น ออกแบบตามรูปแบบการบรรจุเพลงและวงดนตรีประกอบการแสดงระบำซอของเดิม กล่าวคือ วงปี่พาทย์ไทยผสมกับวงดนตรีพื้นเมืองล้านนาและสำหรับการออกแบบเครื่องแต่งกายนั้น ผู้ออกแบบการแสดงได้นำพื้นฐานการออกแบบมาจากรูปแบบเครื่องแต่งกายระบำซอของเดิม
๓) การคำนึงถึงความหลากหลายของรูปแบบการแสดง
ผู้ออกแบบการแสดงได้คำนึงถึงความหลากหลายทางพหุธรรม ดังปรากฏอยู่ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย ที่มีการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันออกและเนื่องจากการแสดงชุดนี้ เป็นการแสดงที่มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสังคมแบบพหุวัฒนธรรมจากชนเผ่าต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการแสดง ที่สร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุนี้การออกแบบเครื่องแต่งกายจึงมีความหลากหลายให้ปรากฏอย่างเด่นชัด อาทิ การทำทรงผมและรูปแบบของชุดแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ตามความนิยมของสตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่สอดแทรกการปักลายของชุดในลวดลายของเครื่องแต่งกายชนเผ่ากะเหรี่ยง เป็นต้น
๔) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในผลงานการแสดง
ผู้ออกแบบการแสดงได้คำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในผลงานการแสดง ดังปรากฏอยู่ในการออกแบบลีลานาฏศิลป์ ที่มีการรำใช้บทและรำตีบท ซึ่งถือเป็นการใช้ลีลาการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่ออธิบายถึงความหมายในการถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๕) การคำนึงถึงแนวคิดทางด้านนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์
ผู้ออกแบบการแสดงได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ดังปรากฏอยู่ในการออกแบบลีลานาฏศิลป์ ที่มีการแปรแถวในการแสดงชุดนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการออกแบบลีลานาฏศิลป์ไทยประเภทระบำ ที่มุ่งเน้นความงดงามของกระบวนท่ารำ ความพร้อมเพรียงของผู้แสดงและการแปรแถวอย่างเป็นระเบียบสวยงาม นอกจากนี้ผู้ออกแบบการแสดงยังได้แบ่งช่วงการบรรจุเพลงประกอบการแสดง ให้เป็นไปตามแนวคิดการบรรจุเพลงสำหรับเพลงระบำอีกด้วย กล่าวคือ มีทำนองเพลงให้นักแสดงรำออก มีทำร้องให้นักแสดงรำใช้บทและรำตีบทและมีทำนองเพลงให้นักแสดงรำเข้า
จากการสร้างสรรค์ผลงาน “ระบำซออาศิรวาท” ของกรมศิลปากรในครั้งนี้ ผู้ออกแบบการแสดง ได้สร้างสรรค์รูปแบบองค์ประกอบการแสดงที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญ อีกทั้งยังได้นำประเด็นดังกล่าว มาใช้เป็นแรงบันดาลใจและแนวทางในการออกแบบบทการแสดง การคัดเลือกนักแสดง การออกแบบลีลานาฏศิลป์ การออกแบบการบรรจุเพลงและวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงและการออกแบบเครื่องแต่งกาย
การสร้างสรรค์ผลงานการแสดงที่เกี่ยวข้องกับการถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ถือเป็นการเทิดพระเกียรติคุณและแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรที่มีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งควรค่าแก่นำมาเผยแพร่และนำไปต่อยอดสำหรับสร้างสรรค์การแสดงเกี่ยวกับการถวายพระพรชุดอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์และถวายเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป
รายการอ้างอิง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ประพาสเวียงพิงค์. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๖๑.
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 392 ครั้ง)