การทำสมุดไทย และการเตรียมใบลาน
การทำสมุดไทย และการเตรียมใบลาน
การทำสมุดไทยและการเตรียมใบลาน มีวิธีการที่แปลก น่าสนใจ และควรศึกษาอย่างยิ่ง แต่ละอย่างต้องใช้แรงงานและเวลาพอสมควร จึงผลิตออกมาเป็นเล่ม เป็นผูก ใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนได้อย่างดี
โดยทั่วไปหนังสือสมุดไทยมี ๒ สี คือ สีดำ และสีขาว เรียกว่าสมุดไทยดำ และสมุดไทยขาว ในภาคใต้นิยมเรียกสมุดไทยดำและสมุดไทยขาวว่า บุดดำและบุดขาว สมุดไทยนี้ส่วนใหญ่ทำจากเปลือกของต้นข่อย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมุดข่อย
หนังสือใบลาน เป็นหนังสือโบราณประเภทหนึ่งซึ่งจารลายลักษณ์อักษรลงบนใบของต้นลาน ใบลานที่ใช้เป็นใบลานที่ไม่แก่จัด เรียกกันว่าเพสสาด คือใบอ่อนที่สองซึ่งเริ่มจะคลี่กลีบใบออกนั่นเอง ใบลานที่รวมได้มาทั้งหมดมีขนาดไม่เท่ากัน ก่อนที่จะนำไปตกแต่งเพื่อใช้ประโยชน์ต้องคัดเลือกให้ได้ขนาดเท่า ๆ กันทุกใบ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ แล้วจึงนำไปเจียนก้านลาน ลานที่เจียนก้านแล้วจะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า นำลานไปแช่น้ำนาน ๑ คืน หรือประมาณ ๒๔ ชั่วโมง บางท้องถิ่นนำใบลานไปต้มในน้ำซาวข้าว ต้มให้เดือดแล้วจึงนำออกผึ่งหรือตากให้แห้ง ตากให้ถูกแดดและน้ำค้าง ประมาณ ๑-๒ วัน ใบลานที่แห้งสนิทดีแล้วต้องคลี่ออก เช็ดทำความสะอาดทีละใบก่อนที่จะนำมาแทงลาน ซึ่งใช้ขนอบเป็นพิมพ์สำหรับแทงลานโดยเฉพาะ นำใบลานที่แทงแล้วประมาณ ๑๐-๒๐ ใบ มาเรียงซ้อนกันแล้วประกับด้วยขนอบตามขนาดที่ต้องการ
ใบลานแต่ละกับที่แห้งแล้ว ต้องนำลานทั้งกับมาไสด้วยกบให้ขอบลานเรียบเสมอกันทั้ง ๔ ด้าน แล้วทำความสะอาดลานทีละใบโดยใช้ทรายละเอียดคั่วหรือตากแดดให้ร้อนจัดโรยลงบนใบลาน แล้วใช้ลูกประคบลูบไปมาให้ผิวหน้าลานเรียบพร้อมทั้งใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดใบลานดีแล้ว จากนั้นจึงใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะตามช่องที่แทงไว้ในตอนแรก แล้วจัดใบลานเข้าผูก พร้อมจะใช้จารหนังสือได้ทันที
หนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลาน เป็นหลักฐานวิชาการที่มีคุณลักษณะทางเสริมสร้างทักษะแก่นักศึกษาและประชาชนในด้านประวัติการของประเทศชาติ และภูมิหลังของอารยธรรมแห่งสังคมกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วราชอาณาจักรไทย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เอกสารที่บันทึกสรรพวิชาการของบรรพชนไทยเหล่านั้น เป็นเสมือนกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นอารยธรรม วัฒนธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม และคุณธรรม ที่มีมาแต่อดีต ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการปูพื้นฐานสู่สังคมปัจจุบันและอนาคต
รวมรวบโดย. นางสมร พูนพนัง บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช
อ้างอิง. ก่องแก้ว วีรประจักษ์. หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. กรุงเทพฯ ; กรมศิลปากร, ๒๕๓๐.
ดาวน์โหลดไฟล์: ทำสมุดไทย1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ทำสมุดไทย2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ทำสมุดไทย3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ทำสมุดไทย4.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 1458 ครั้ง)