...

องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่าน หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี เรื่อง รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม รางวัลเกียรติยศของนักเขียน
          รางวัลโนเบล (Nobel Prize) นับว่าเป็นรางวัลเกียรติยศที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง มอบให้กับผู้ที่ได้สร้างผลงานอันเป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับต่อนานาอารยชน รางวัลโนเบลเกิดมาจากแรงบันดาลใจที่ต้องการจะเห็นมนุษย์ทำประโยชน์ให้แก่กันของ อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประดิษฐ์ดินระเบิดไดนาไมต์ เมื่อโนเบลล่วงลับไปแล้วในปี ค.ศ. 1896 เขาได้เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้นำไปจัดตั้ง มูลนิธิโนเบล (Nobel Foundation) ขึ้น มูลนิธินี้จะสนับสนุนและมอบรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์และบุคคลที่มีผลงานดีเด่นสร้างสรรค์ในแต่ละปี ซึ่งมีทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาการแพทย์และสรีรวิทยา สาขาวรรณกรรม สาขาสันติภาพ และสาขาเศรษฐศาสตร์
           พิธีมอบรางวัลโนเบลจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 10 ธันวาคม โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากโนเบลเสียชีวิตได้ 5 ปี ตรงกับปี ค.ศ. 1901 ผู้พระราชทานรางวัลคือ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหราชอาณาจักรสวีเดน เหรียญรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่เหมาะสมประกอบด้วยเหรียญทองซึ่งด้านหน้าสลักเป็นรูปหน้าของอัลเฟร็ด โนเบล พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล โดยผู้รับรางวัลแต่ละสาขาได้รับรางวัลร่วมกันได้ไม่เกิน 3 คน และจะมอบรางวัลให้แก่สถาบันหรือองค์กรนิติบุคคลก็ได้
          รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (Nobel Prize in Literature) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นที่สุดในแนวทางอุดมคติและมีคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์เป็นประจำทุกปี โดยราชบัณฑิต กรุงสตอกโฮล์มเป็นผู้คัดเลือก ในช่วงปี ค.ศ. 1946 ได้มีการขยายขอบเขตของรางวัล โดยคัดเลือกนักเขียนที่สร้างมุมมองใหม่ต่อโลกและภาษา ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1978 คณะกรรมการเริ่มให้ความสำคัญกับนักเขียนผู้มีผลงานโดดเด่น แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากนัก เพื่อไม่ให้ผู้อ่านพลาดงานชิ้นสำคัญของนักเขียนเหล่านั้น และเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับบทกวีมากขึ้น ปัจจุบันรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้มอบให้แก่บุคคลแล้ว จำนวน 121 ราย ผู้เขียนขอแนะนำนักเขียนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่น่าสนใจ จำนวน 7 ท่าน ดังนี้
          1. ซุลลี พรูดอม (Sully Prudhomme) เป็นนามแฝงของ เรอเน ฟรองซัวร์ อาร์มองด์ พรูดอม กวีชาวฝรั่งเศส เป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ. 1901 มีชื่อเสียงจากผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ชุดแรกชื่อ “Stances et Poèmes” (Stanzas and Poems) นอกจากนี้ผลงานอื่นๆ ของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น “La Justice” ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทกวีนิพนธ์เชิงวิเคราะห์ที่งดงามมาก “La Bonheur” เป็นกวีนิพนธ์แนวปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์ มีความยาวถึง 4,000 บรรทัด และบทกวีนิพนธ์เรื่อง “La Vase Brisé” (The Broken Vase) ได้รับการยกย่องจนถึงปัจจุบันในด้านความงามและไพเราะของภาษาที่ใช้ มีผู้นิยมนำไปขับขานกันอย่างกว้างขวาง พรูดอมได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ ค.ศ. 1881 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
          2. รุดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1907 เขาเกิดที่กรุงบอมเบย์ ประเทศอินเดีย เป็นอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ เจ้าของนวนิยายเรื่อง “The Jungle Book” ซึ่งเป็นวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็กทั่วโลกและได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและสามารถพูดได้ มีตัวละครเอกของเรื่องชื่อว่า “เมาคลี” โดยในช่วงทศวรรษ 1880 เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ของคิปลิงได้รับความนิยมมากในประเทศอังกฤษ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นทายาททางวรรณกรรมของชาร์ล ดิกเกนส์ (Charles Dickens)
          3. ฮอร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1946 เป็นกวีและนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) ชาวเยอรมัน เป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมและมีผลงานขายดีที่สุดทั่วโลก ได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรมมากมาย นวนิยายเรื่องแรกของเขาคือ “Peter Camenzide” มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับระบบการศึกษาของเฮสเส ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1904 และได้รับความสำเร็จทันทีที่วางจำหน่าย ผลงานอื่นๆ ที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง เช่น Demian, Siddhartha, Der Steppenwolf และผลงานชิ้นเอก คือ Das Glasperlenspiel ซึ่งใช้เวลาเขียนกว่า 12 ปี และแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในโลกตะวันตกของเขา
          4. เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1954 เป็นนักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงด้านวรรณกรรมมากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 หนังสือเล่มแรกของเขาชื่อ Tree Stories and Ten Poems ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1923 มีวิธีการเขียนที่เรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนการปฏิวัติรูปแบบการเขียนด้วยการใช้โครงสร้างต่าง ๆ ในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อแวดวงวรรณกรรมในยุคนั้น นวนิยายเรื่อง The Sun Also Rises และ A Farewell to Arms ถูกจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อนวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด 100 เล่ม แห่งศตวรรษที่ 20 และนวนิยายเรื่อง The Old Man and the Sea ก็ได้รับความชื่นชมจากผู้อ่านมากจนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี ค.ศ. 1953
          5. กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1982 เป็นนักประพันธ์ นักเขียนบท และนักหนังสือพิมพ์ชาวโคลอมเบีย ผลงานที่โดดเด่นของเขาคือนวนิยายแนวสัจนิยม เรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (Cien años de soledad, 1967) ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากนักอ่านเป็นอย่างมาก มาร์เกซได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเขียนผู้สร้างสรรค์งานเขียนแนว “สัจนิยมมหัศจรรย์” (Magical Realism) ซึ่งผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกแห่งจินตนาการ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเขียนที่สำคัญที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20
          6. บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 2016 ดีแลนมีเชื้อสายยิว-อเมริกัน เป็นหนึ่งในนักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวอเมริกันที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการเพลงโฟล์กป็อป และได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายในฐานะนักดนตรี คณะกรรมการรางวัลโนเบลยกย่องดีแลนว่าเป็นผู้สร้างสรรค์การแสดงออกด้วยบทกวีแบบใหม่ผ่านดนตรีอเมริกัน ซึ่งสะท้อนสังคมอเมริกัน และกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน นับได้ว่าเขาเป็นศิลปินทางด้านดนตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผลงานบทเพลงที่กลายเป็นตำนาน และสะท้อนปัญหาของสังคมอเมริกัน เช่น Blowin’ in the Wind, Subterranean Homesick Blues และ The Times They are A-Changin
          7. ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด ในปี ค.ศ. 2024 จากผลงานร้อยแก้วเชิงกวีอันเข้มข้นที่เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ และเปิดเผยความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ ฮัน คัง มีผลงานเรื่องสั้นที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในปี 2007 จากผลงานนวนิยายเหนือจริงเรื่อง “Vegetarian” ซึ่งผลงานฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเรื่องนี้ได้รับรางวัลหนังสือนานาชาติในปี 2016 เช่นกัน ทั้งนี้ผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กันอีกเรื่อง คือ “Human Acts” ได้รับรางวัล Manhae Prize ในปี 2014
          หากผู้ใช้บริการสนใจหนังสือที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม สามารถสืบค้นข้อมูลหนังสือผ่านบริการสืบค้นข้อมูลฐานบรรณานุกรมออนไลน์ของหอสมุดแห่งชาติ ได้ที่ http://search.nlt.go.th:1701/primo-explore/search?vid=NLT  ซึ่งเป็นหนังสือฉบับแปลภาษาไทยของนักเขียนที่ได้รับรางวัลบางท่าน และเข้าใช้บริการได้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ หรือหอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค 11 แห่งทั่วประเทศ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
วารี วิไล.  Bob Dylan ศิลปินวัยใกล้ 80 เจ้าของโนเบลวรรณกรรม: กับอัลบั้มใหม่ในรอบ 8 ปี Rough
     and Rowdy Ways.
  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2567, จาก:
     https://www.matichonweekly.com/column/article_322074    
สิทธา  พินิจภูวดล.  อัลเฟรด โนเบล.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2542.
สุทัศน์ ยกส้าน.  100 ผู้พิชิตรางวัลโนเบล.  กรุงเทพฯ: ปาเจรา, 2549.
ฮัน คัง นักเขียนหญิงโสมใต้ คว้าโนเบลสาขาวรรณกรรม จากผลงานสะท้อนความเปราะบางของ
     มนุษย์. 
[ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2567, จาก: 
     https://www.matichon.co.th/foreign/news_4839612 
The Nobel Prize in Literature 2024.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2567 จาก: 
     https://www.nobelprize.org/.../lit.../2024/bio-bibliography/

ผู้เรียบเรียง : นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร
บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 74 ครั้ง)


Messenger