องค์ความรู้สุพรรณบุรี เรื่อง ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
เรียบเรียง/ภาพ : นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เดิมเรียก ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ตั้งอยู่ในตัวเมืองเก่าสุพรรณบุรี พื้นที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีเคารพนับถือกันมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี เป็นประติมากรรมศิลาสลักรูปทิพยบุคคล 2 องค์ เป็นรูปพระวิษณุตามพระมติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงสันนิษฐานไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2479
ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปเรื่องราวที่ชาวเมืองสุพรรณบุรีนับถือเจ้า ผี และปลูกศาลให้พำนัก จนกลายเป็นศาลเทพารักษ์ต่างๆ ในหนังสือโบราณคดี เรื่องที่ 4 “ห้ามไม่ให้เจ้ามาเมืองสุพรรณ” และในหนังสือ “สาส์นสมเด็จฯ” ว่า คงเป็นอุปนิสัยของชาวเมืองที่ติดมาช้านาน โดยเชื่อว่าเจ้า ผี สามารถบันดาลให้ตนเองอยู่เย็นเป็นสุข หรือทำร้ายเมื่อทรงพิโรธ จึงพากันกราบไหว้และเส้นสรวงเป็นอย่างดี เพื่อให้ เจ้า ผี หรือ เทพารักษ์มีความพอใจ มิให้เบียดเบียน ที่กล่าวว่า “เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรี” ดุร้าย ก็น่าจะเอาคติการนับถือเจ้า ผี ไปปนกับเทพารักษ์ก็เป็นได้ ต่อมาจึงเคารพบูชาเป็นหลักของเมือง เช่นเดียวกับเสาไม้แก่นลงอาคมปักไว้กลางเมือง เหมือนเมืองอื่นทั่วไป
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สุพรรณบุรี เป็นทรงไทยอยู่ใต้อาคารหลังใหญ่แบบก๋งจีน ประกอบไปด้วย ศาลทรงไทยที่ประดิษฐานองค์เจ้าพ่อหลักเมือง เป็นศาลทรงไทยรูปพระอุโบสถ มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน คันทวย ทรงคล้ายโบสถ์ หน้าบันมีช้างสามเศียร ด้านซ้ายมีราชสีห์ ด้านขวาคือคชสีห์ชูฉัตร 5 ชั้น หมายถึงกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมในสมัยก่อน
ภายในศาลทั้ง 3 ด้าน แสดงภาพเขียนศิลปะจีน เป็นเทพธิดาบรรเลงทิพยสังคีต ด้านหลังศาลมีภาพแกะสลักนูนต่ำ เรื่องราวของเทพทั้ง 8 (โป๊ยเซียน) ที่มารวมกลุ่มบันดาลความสุข โชคลาภและอำนวยพรให้ผู้เข้ามาสักการบูชา ด้านข้างทั้ง 2 ของศาลแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นรูปลูกพญามังกร และภาพวาดแสดงสัญญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลคบไฟที่สืบทอดกันมาเป็นพันกว่าปี ในปลายเดือน 6 ของปฏิทินเกษตร เพื่อรำลึกถึงบรรพชนและขอพรปีใหม่จะมีการถือคบไฟแห่แหนไปในทุ่งกว้าง และดื่มเหล้าจาจิ่ว โดยเทใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วเวียนกันดื่มด้วยหลอดก้านปอ ครบทุกคน ตามความเชื่อของชาวเมืองสุพรรณบุรีมาช้านานว่า เจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรีทั้ง 2 องค์ โปรดปราณความรื่นเริง
ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวสุพรรณบุรีนับถือกันมาก มีพิธีแห่อันเชิญเจ้าพ่อและงานทิ้งกระจาดทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7
กรมศิลปากรได้ ประกาศ ขึ้นทะเบียนโบราณสถานศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
อ้างอิง :
คู่มือสุพรรณบุรี. นนทบุรี : สื่อเสรี, 2544.
เลขหมู่ 915.937 ค695
ตรี อมาตยกุล. เรื่องจังหวัดสุพรรณบุรี. พระนคร : ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยวัฒนาพานิช แผนกการพิมพ์, 2500.
เลขหมู่ 915.9593 ต181รพ
พระมหาอดิศร ถิรสีโล. ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ :โอเดียนสโตร์, 2547.
เลขหมู่ 959.373 พ358ป
49 ปี แห่งความมุ่งมั่น จารึกไว้...ในแผ่นดิน. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, 2556.
เลขหมู่ 915.9373 ส733
สุพรรณบุรี 400 ปี ยุทธหัตถี. สุพรรณบุรี : ม.ป.พ., ม.ป.ป.
เลขหมู่ 959.373 ส829
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี. ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สุพรรณบุรี . [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/fad2/ (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565)
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร
กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
(จำนวนผู้เข้าชม 3710 ครั้ง)