เรื่อง “ลักษณะของทุเรียน”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “ลักษณะของทุเรียน”
จันทบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย ทั้งน้ำตก ทะเล หาดทราย และยังเป็นเมืองผลไม้ ที่มีผลไม้นานาชนิด ตอนที่แล้วได้แนะนำ ทุเรียน ที่เป็นผลไม้ปลูกกันมากและมีชื่อเสียงของจันทบุรี เป็นสินค้าส่งออกประเทศจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ผลผลิตทุเรียนสามารถแปรรูปได้หลายอย่างเพื่อเก็บไว้กินนานๆ ในตอนนี้จะมีรายละเอียดที่มาของทุเรียน และสายพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกกันมาก
ทุเรียน อาจมีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะบอร์เนียวหรือเกาะสุมาตรา ปัจจุบันการปลูกทุเรียนกระจายในทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งศรีลังกา แม้ไทยจะไม่ใช่แหล่งกำเนิดของทุเรียน แต่ชื่อเสียงทุเรียนไทยขจรขจายไปทั่วภาคพื้นเอเซีย แหล่งที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนสูงสุด 3 จังหวัดแรก คือ จันทบุรี ชุมพร และระยอง
ทุเรียนเป็นไม้สูงใหญ่ เปลือกไม้หยาบ เนื้อไม้สีแดงเข้มโดยเฉพาะที่ไส้ หรือแกน ใบ สลับบางหรือหนาขึ้นอยู่กับพันธุ์ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปหอก หรือรูปขอบขนานแกนรูปรี ฐานใบแหลมหรือบางทีก็ป้าน ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นเงางาม มีเส้นใบโยงใยเป็นร่างแหชัดกเจน เส้นกลางใบจม ใต้ใบเต็มไปด้วยเกล็ดเล็กๆ สีเงินหรือคล้ายสีทอง ใต้เกล็ดนี้มีชั้นของขนรูปดาวอยู่ เส้นกลางใบนูน เส้นแนงใบ (มีได้ถึง 15 คู่) เรียวโค้งจรดกันใกล้ๆริมใบ หูใบที่รีจนเกือบแหลม ยาว 5-10 มม. อยู่ไม่นานก็ร่วง
ส่วนดอกทุเรียนจะออกดอกแตกต่างกันไปตามพันธุ์และลักษณะอากาศ ช่อดอกทุเรียนออกตามด้านข้างและด้านล่างของกิ่งแก่ ดอกทุเรียนจัดเป็นพวกดอกสมบูรณ์ คือ มีทั้งใบประดับ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรเพศผู้ เกสรเพศเมีย ส่วนต่างๆของดอกทุเรียนเรียงกันอยู่เป็นวง
ผลทุเรียน เปลือกนอกเต็มไปด้วยหนามแหลมคม จึงได้ชื่อว่าดูเรียน (ดูริ Duri แปลว่าหนาม ผิวเปลือกสีเขียว-เหลือง รูปร่างผลกลม รี รูปไข่ บิดเบี้ยว ความสามารถในการพัฒนาของไข่ในพูเป็นตัวกำหนดรูปร่างของผล ปกติผลหนึ่งๆมี 5 พู น้อยครั้งจะพบผลมี 6 พู ก้านผลยาว 3-15 ซม. เนื้อหยาบหรือละเอียด มีสีขาว-เหลือง รสหวาน กลิ่นมากน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์และความแก่ความงอมเมื่อตอนฉีก เมื่อแก่หากไม่ตัดบ่ม ผลจะหล่นทั้งๆที่เปลือกยังไม่เปิด
อ้างอิง : ไพโรจน์ ผลประสิทธิ์. ผลไม้ไทยๆ : สำนักนายกรัฐมนตรี. 2545.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 7440 ครั้ง)