รายงานการไปราชการ ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย
๑. ชื่อโครงการ
Kedah Tua International Conference 2016: The Kedah Tua from the 6th Century BCE to 12th century AD
“ การประชุมระดับนานาชาติแห่งรัฐเกดะห์ ๒๕๕๙ : เมืองเก่าเกดะห์จากก่อนพุทธศักราช ๑๐๐ ปี ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗
๒. วัตถุประสงค์ของการประชุม
๒.๑ แลกเปลี่ยนความรู้และงานวิจัยของอารยธรรมโลกในช่วงก่อนพุทธศักราช ๑๐๐ ปี ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗
๒.๒ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการอนุรักษ์และปกป้องแหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุที่พบในแต่ละพื้นที่
๒.๓ พัฒนาความร่วมมือและเพิ่มประสิทธิภาพของนักศึกษาระดับปริญญาโท – เอก ในระดับนานาชาติ
๓. วัตถุประสงค์ของผู้ขออนุมัติเดินทาง
๓.๑ เพื่อนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานเขาคลังนอก เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดี ในประเทศไทย
๓.๒ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีในประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๓.๓ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลด้านการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศมาเลเซีย
๔. สถานที่จัดกิจกรรม
๔.๑ โรงแรมปาร์ค อเวนิว (Park Avenue Hotel) เขตสุไหง ปัตตานี (Sungai Petani) รัฐเกดะห์ สถานที่จัดการประชุม
๔.๒ แหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู (Sungai Batu) เขตสุไหง บาตู (Sungai Batu) รัฐเกดะห์ สถานที่จัดงานเทศกาลเมืองเก่าเกดะห์
๔.๓ แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งบูจัง วัลเล่ย์ (Bujang valley) เขตเปกัน เมอบก (Pakan merbok) รัฐเกดะห์
๕. หน่วยงานผู้จัด สถาบันวิจัยทางโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเซน มาเลเซีย (Center of Global Archaeological Research)
๖. หน่วยงานสนับสนุน มหาวิทยาลัยเซน มาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia (USM))
ฝ่ายปกครองเขตสุไหง ปัตตานี
รัฐเกดะห์
๗. กิจกรรม รูปแบบของกิจกรรมจะแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
๗.๑ การประชุมทางวิชาการ
จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่โรงแรมปาร์ค อเวนิว เขตสุไหง ปัตตานี รัฐเกดะห์ โดยเป็นการรวมนักวิชาการทางด้านประวัตศาสตร์และโบราณคดีเกือบทั่วโลก ที่เชี่ยวชาญในเรื่องอารยธรรมของโลกในแต่ละภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง อนุทวีปอินเดีย เมโสโปเตเมีย กรีก-โรมัน อเมริกากลาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก ร่วมนำเสนองานวิจัยต่อหน้าที่ประชุม โดยมีผู้ร่วมสังเกตการณ์เป็น นักวิชาการ นักศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศ มาเลียเซียจำนวนมาก
๗.๒ การทัศนศึกษา
ในส่วนของการทัศนศึกษาจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๐ และ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ ก่อนและหลังการประชุมทางวิชาการ โดยทัศนศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและความสำคัญทางโบราณคดี รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุในหลายวัฒนธรรม รวมทั้งเข้าร่วมงานเทศกาลเมืองเก่าเกดะห์ที่จัดขึ้นในช่วงนี้ด้วย
๘. คณะผู้แทนไทย
๘.๑ นายภีร์ เวณุนันท์ อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
๘.๒ นายอนุรักษ์ ดีพิมาย นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา
๙. สรุปสาระสำคัญของกิจกรรม
๙.๑ การประชุมทางวิชาการ
การประชุมทางวิชาการจัดขึ้นในวันที่ ๒๑ – ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมปาร์ค อเวนิว เขตสุไหง ปัตตานี รัฐเกดะห์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๕๐๐ คน ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการทางด้านโบราณคดี และนักเรียนนักศึกษาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งรูปแบบของการนำเสนอจะเป็นการนำเสนอโดยมีผู้ดำเนินรายการร่วมด้วย เพื่อควบคุมเวลาและประเด็นในการซักถาม ตามรูปแบบของการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติโดยทั่วไป
สาระสำคัญในการนำเสนอส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น ๔ ประเด็นหลัก ดังนี้
๑. ปาฐกถาหลัก
ในหัวข้อนี้มีผู้ปาฐกถาหลักจำนวน ๓ ท่าน ซึ่งเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาการโบราณคดีในภูมภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก
ผู้ปาฐกถาท่านแรก คือ Prof. Dr. Stephen Oppenhimer จาก Oxford University, London ประเทศอังกฤษ นักวิชาการท่านนี้ทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องพันธุกรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยนำเสนอในหัวข้อ “ความสำคัญของคาบสมุทรมาเลย์ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์และอารยธรรม” มีสาระสำคัญที่นำเสนอความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของมนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเทียบกับจีนและไต้หวัน ซึ่งสามารถสรุปในขึ้นต้นว่ามนุษย์ในช่วงเวลาประมาณสมัยโฮโลซีนช่วงหนึ่ง อาจแพร่กระจายลงมาจากเกาะไต้หวัน ผ่านหมู่เกาะฟิลิปปินส์เข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นเส้นทางการติดต่อของมนุษย์ในสมัยนั้น
ผู้ปาฐกถาท่านที่สอง คือ Prof. Dr. Mokhtar Saidan จาก Universiti Sains Malaysia ประเทศมาเลเซีย ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการศึกษาวัฒนธรรมมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในคาบสมุทรมาเลเซีย และเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาแหล่งโบราณคดีบูจัง วัลเล่ย์ โดยนำเสนอในหัวข้อ “เมืองเก่าเกดะห์: หลักฐานใหม่จากสุไหง บาตู” มีสาระสำคัญที่นำเสนอข้อมูลใหม่จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณคดีบูจังวัลเลย์ แหล่งโบราณคดีสุไหงบาตูตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำที่ไหลออกสู่ทะเลทำให้ง่ายต่อการติดต่อค้าขายกับดินแดนภายนอก จากการสำรวจพบเนินดินทั้งสิ้น ๙๗ แห่ง และหลังจากการขุดค้นพบว่าเนินดินเหล่านี้ประกอบไปด้วย ศานสนสถาน ท่าเรือขนาดเล็ก และพื้นที่ถลุงเหล็ก กระจายตัวเป็นบริเวณกว้างกว่า ๔ ตารางกิโลเมตร ผลจากการกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ (AMS and C14 Dating) พบว่าอิฐจากเนินดินที่พบ โดยเฉพาะในส่วนของศาสนสถานอาจเก่าไปได้ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑ ซึ่งอาจจัดเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้ปาฐกถาท่านที่สาม คือ Dr. Zainah Ibrahim ผู้ประสานงานด้านมรดกโลก กรมมรดกโลก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดงานเทศกาลเกดะห์ในครั้งนี้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของมาเลเซีย นำเสนอในหัวข้อ “สุไหง บาตู, เลมพะ บูจัง: ก้าวต่อไปสู่ความเป็นมรดกโลกของยูเนสโก้” สาระสำคัญอยู่ที่การพยายามผลักดันให้บูจัง วัลเลย์ที่มีแหล่งโบราณคดีจำนวนมากในพื้นที่ ๔๐๐ ตารางกิโลเมตร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งหลังจากที่ประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว ซึ่งดำเนินแผนการระยะยาวประมาณ ๒๐ ปี เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่อื่นๆ
๒. ร่องรอยหลักฐานของอารยธรรมในช่วง ๑๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ในประเด็นนี้เป็นการนำเสนอลักษณะสำคัญของอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก โดยยกพื้นที่ตัวอย่างจากตะวันออกกลาง “อารยธรรมเมโสโปเตเมีย และอียิปต์” อนุทวีปอินเดีย “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” ตะวันออกไกล “อารยธรรมจีน” เมดิเตอเรเนียน “อารยธรรมกรีกและโรมัน” และทวีปอเมริกา “อารยธรรมเมโสอเมริกา” แต่อย่างไรก็ตามลักษณะการนำเสนิเป็นการกล่าวถึงภาพรวมของแต่อารยธรรมเท่านั้น ไม่ได้นำเสนอถึงการศึกษาที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์หรือวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปในแนวทางของการพรรณนารูปแบบและความสำคัญของแต่ละวัฒนธรรมมากกว่า
แม้กระนั้น ก็ยังมีการนำเสนอจากประเทศจีนที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดย Dr. Yu Xiyun จาก Wuban university ประเทศจีน เสนอผลการศึกษาโดยการขุดค้นพื้นที่แถบตะวันออกของจีน กำหนดอายุย้อนไปได้ถึง ๔,๐๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช เริ่มมีการตั้งชุมชนในแถวลุ่มแม่น้ำหยางซี แม่น้ำเหลือง และแม่น้ำเหล่าโห สภาพชุมชนค่อนข้างมีแบบแผนทั้งด้านแผนผังชุมชน การจัดการน้ำ และระบบสาธารณสุข ต่อมาในช่วง ๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชเริ่มมีประชากรหนาแน่นรวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านโลหะกรรมที่พัฒนาขึ้น จึงทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่ระบบรัฐหรือเมืองขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนทางสังคมมากขึ้น รวมทั้งมีการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่น ศาสนสถานหรือกำแพงเมือง ลักษณะสำคัญเช่นนี้อาจนำมาใช้เปรียบเทียบหรือใช้เป็นเป็นโมเดลในการศึกษาเรื่องการกำเนิดรัฐเริ่มแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
๓. หลักฐานล่าสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในประเด็นนี้มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอผลการศึกษาทางโบราณคดีของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งจากการศึกษาจากนักวิชาการท้องถิ่นหรือนักวิชาการต่างชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างสำคัญในการศึกษาเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทย สามารถแบ่งสาระสำคัญตามรายประเทศ ดังนี้
ประเทศไทย นำเสนอโดย นายภีร์ เวณุนันท์ อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “ความหลากหลายของการผลิตเหล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนแผ่นดินใหญ่: ผ่านหลักฐานที่พบจากไทยและมาเลเซีย จากการศึกษาตัวอย่างเหล็กที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านดีลังและบ้านดงพลอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมื่อวิเคราะห์หลักฐานจากการขุดค้นพบว่ามีการกระบวนการผลิตเฉพาะตัว เช่น ลักษณะเตา ท่อลม การคัดเลือกวัตถุดิบ เป็นต้น เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีสุไหง บาตูของมาเลเซียที่มีกระบวนการผลิตแตกต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางเทคโนโลยีการผลิตเหล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศพม่า นำเสนอโดย Mr. Nyunt Han คณะกรรมการ SEMEO ประเทศเมียนมาร์ ในหัวข้อ “การดำเนินการทางโบราณคดีในประเทศเมียนมาร์ภายใต้การค้นหาอารยธรรมเริ่มแรก” โดยนำดสนอข้อมูลจากการขุดค้นเมืองโบราณในวัฒนธรรมปยู ได้แก่ เมืองฮาลิน เมืองเบกถโน และเมืองศรีเกษตร ซึ่งผลจากการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเมืองเหล่านี้อาจมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๑๔ โดยช่วงหนึ่งอาจร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย ทั้งนี้ทางเมียนม่าร์ได้ทำการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจนสามารถผลักดันให้ขึ้นทะเบียนระดับรายชื่อของบัญชีมรดกโลก ยูเนสโก เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๗ นอกจากนี้ยังนำเสนอผลการสำรวจและขุดค้นเมืองวินกะและเมืองทาการ่า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า โดยเป็นผลการดำเนินการทางโบราณคดีล่าสุดของเมียนมาร์ในช่วงนี้ ทั้งสองเมืองมีพัฒนาการทางวัฒนธรรมอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔ – ๑๔ ใกล้เคียงกับเมืองในวัฒนธรรมปยูและทวารวดี
ประเทศกัมพูชา นำเสนอโดย Dr. Thuy Chanthorn จาก The Royal University of Fine Arts ประเทศกัมพูชา ในหัวข้อ “หลักฐานล่าสุดในอารยธรรมเขมรสมัยพระนคร (เหล็กในอาณาจักรเขมรโบราณ) จุดประสงค์ของหัวข้อนี้มุ่งเน้นไปที่โบราณวัตถุประเทศเหล็กทั้งเครื่องมือเหล็กและอาวุธที่ทำจากเหล็ก โดยตีความใหม่ว่าเป็นวัตถุที่ส่งผลต่อพัฒนาการของรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกัมพูชา วัฒนธรรมเขมรสมัยพระนคร ศาสนสถานที่สร้างด้วยหินทรายจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเหล็กในการตัดเอาก้อนหินที่เป็นวัสดุหลักมาใช้ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ยังมีการเสนอว่าวัสดุในการก่อสร้างศาสนสถานเปลี่ยนไปโดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเทคโนโลยีการผลิตเหล็กด้วยปัจจัยหนึ่ง
ประเทศลาว นำเสนอโดยนายสุริยา บุญสายทิพย์ นักโบราณคดีจากกลุ่มโบราณคดี กรมมรดกโลก ประเทศลาว นำเสนอในหัวข้อ “ภาพรวมของหลักฐานค้นพบใหม่ในประเทศลาว” ถึงแม้ชื่อหัวข้อดูเหมือนจะกว้าง แต่สาระสำคัญอยู่ที่การสำรวจและขุดค้นในพื้นที่จังหวัดสุวรรณเขต ภาคกลางล่างของประเทศลาว ซึ่งพบเหมืองทองแดงโบราณอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วในเขตเซโปน บริเวณเหมืองทองแดงพบโบราณวัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองและการถลุงทองแดงจำนวนมาก โดยยังคงรูปแบบที่สมบูรณ์อย่างมากเหมือนเช่นในอดีต นอกจากนี้ยังมีการพบโบราณวัตถุกลุ่มหนึ่งจำพวกขวานและหอกสำริดที่คล้ายกับโบราณวัตถุที่พบในเขตประเทศเวียดนามตอนเหนือไปจนถึงประเทศจีนตอนใต้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนและวัฒนธรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ประเด็นที่สำคัญคือในระยะต่อไปของการศึกษาเรื่องเหมืองทองแดงในเขต เซโปนคือการพยายามค้นหาร่องรอยของชุมชนหรือผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการดำรงชีวิตจากการทำโลหะกรรม ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และผลกระทบต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและอาจใช้เป็นโมเดลในการศึกษาชุมชนในแหล่งโลหะกรรมโบราณในประเทศไทยได้
ประเทศฟิลิปปินส์ นำเสนอโดย Prof. Dr. Euzebio Z. Dizon จาก National Museum, Manila ประเทศฟิลิปปินส์ นำเสนอในหัวข้อ “ฟิลิปปินส์: หลักฐานล่าสุดของสมัยแห่งอารยะ” ในหัวข้อนี้นำเสนอผลการขุดค้นล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พบแหล่งโบราณคดีที่แสดงถึงการฝังศพในไหหรือโอ่งขนาดใหญ่ บริเวณแหล่งโบราณคดีบาคอง ทางตะวันออกของหมู่เกาะวิซายาส รวมทั้งแหล่งฝังศพและพื้นที่อยู่อาศัยในแถบเทือกเขากันฮามติก จังหวัดควูซอน ทางตอนใต้ของเกาะลูซอน ทั้งสองแหล่งโบราณคดีอาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปที่ว่าพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์โดยเฉพาะในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ เกิดการพัฒนาอย่างมากแล้วในดินแดนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน หรืออินเดีย ตามทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของ วี กอร์ดอน ไชด์ ฟิลิปปินส์เปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อทางทะเลระหว่างดินแดนแผ่นดินใหญ่เหล่านั้น และด้วยความเป็นจุดเชื่อมต่อจึงรับเอารูปแบบวัฒนธรรมเข้ามาในระยะหลังจากที่ดินแดนเหล่านั้นเจริญขึ้นแล้วก็เป็นได้
ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอโดย Prof. Dr. Agus Aris Munandar จาก University of Indonesia นำเสนอในหัวข้อ “มุโรจัมบิ: หลักฐานของมหามันดาละ (มณฑล)” การศึกษานี้เน้นการตีความใหม่จากหลักฐานที่พบบริเวณแหล่งโบราณคดีมุโรจัมบิที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปตังคารี แม่น้ำสายหลักของเกาะสุมาตรา แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นกลุ่มพุทธสถานในพื้นที่กว้างขวางตลอดแนวลำน้ำถึง ๑๒ กิโลเมตร จัดเป็นมหา มันดาละที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งบนกะสุมาตรา ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการทบทวนข้อสันนิษฐานของศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย โดยเมืองโฟชิที่ภิกษุอี้จิงเดินทางมาและพักศึกษาพระธรรม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ นั้น อาจจะไม่ใช่ปาเล็มบัง แต่ควรจะเป็นที่มุโรจัมบิ เนื่องจากหลักฐานแวดล้อมบ่งบอกถึงความเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในเกาะสุมาตรา สอดคล้องกับบันทึกของภิกษุอี้จิงที่กล่าวถึงพุทธสถานมีภิกษุศึกษาเล่าเรียนถึง ๑,๐๐๐ รูป นอกจากนี้ยังมีการยกประเด็นอื่นๆมาสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย เช่น ทิศทางการขึ้นของดวงอาทิตย์ ทิศทางและระยะเวลาของลมมรสุมที่ใช้ในการเดินเรือ เป็นต้น หัวข้อที่นำเสนอนี้ถือว่ามีประโยชน์ในเชิงการวิพากย์ข้อมูลเก่าได้อย่างสมบูรณ์
ประเทศเวียดนาม นำเสนอโดย Dr. Le Thi Lian จากสถาบันโบราณคดีแห่งเวียดนาม นำเสนอในหัวข้อ “เวียดนามใต้ในบริบทการอยู่ร่วมกันของศาสนาพุทธและฮินดู ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖” พื้นที่ในการศึกษาของหัวข้อนี้ถูกกำหนดไว้ในดินแดนเวียดนามตอนใต้ใกล้กับแหล่งโบราณคดีออกแก้วที่มีชื่อเสียงของการเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำยางคูลองเป็นเส้นทางสำคัญในการติดต่อปฏิสัมพันธ์ของคนในแถบนี้ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้ากับภูมิภาคอื่นๆ เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินและการค้านี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธและพราหมณ์ที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข อย่างไรก็ตามจากหลักฐานที่สำรวจพบล่าสุดทำให้การศึกษาขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้นไปกว่าประวัติศาสตร์ของศาสนาแต่ศาสนาทั้งสองสะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของคนและรูปแบบสังคมอีกระดับหนึ่งที่มีความซับซ้อนคล้ายกับพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งในภูมิภาคนี้ ดังนั้นศาสนาจึงมิใช่แค่เรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยในการพัฒนาของสังคมมนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้ ในหัวข้อนี้หากย้อนกลับไปมองทฤษฎีปฏิวัติสังคมเมืองของ วี กอร์ดอน ไชด์ อีกครั้งหนึ่งจะพบว่าศาสนาเป็นมูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์อย่างก้าวกระโดดในทุกวัฒนธรรมบนโลกนี้เช่นเดียวกัน
๔. การนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก
ประเด็นนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้นำเสนอหัวข้องานวิจัยของตนเอง โดนกระผมได้นำเสนอบทคัดย่อเรื่อง “เจดีย์สำคัญที่เมืองศรีเทพ: ตัวแทนของศูนย์กลางความเจริญของพุทธศาสนาแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก” และได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอผลงานร่วมกับนักวิชาการรุ่นใหม่ท่านอื่นๆในประเด็นนี้ด้วย
ข้อสังเกตสำคัญที่ได้จากการร่วมนำเสนอและพูดคุยกันในประเด็นนี้คือ งานนำเสนอส่วนใหญ่เป็นงานจากภาคสนามล่าสุดของแต่ละประเทศ ที่นักวิชาการผู้นำเสนอเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการทางโบราณคดีเอง โดยผ่านการวิเคราะห์และตีความแล้วในขั้นต้น แต่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยซึ่งกันและกันเป็นข้อมูลเชิงลึกกว่าที่บรรยายในประเด็นอื่น นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนระเบียบวิธีวิจัยของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่มากนั้นให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
จากการสังเกตการณ์ผู้เข้าร่วมสัมมนาในประเด็นนี้ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการท้องถิ่น อาจารย์ และนักศึกษาทางด้านโบราณคดีของมาเลเซีย ถึงแม้ในประเด็นนี้จะนำเสนอในช่วงเวลาค่อนข้างดึกประมาณ ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป แต่ก็ยังมีเข้าร่วมฟังจำนวนกว่า ๓๐๐ คน โดยเฉพาะนักศึกษาโบราณคดีที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
จากการสอบถามคณะผู้จัดงาน ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยเซนมาเลเซียระบุว่ามีความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมความสัมพันธ์ในระดับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาโท – เอก ให้มั่นคง ทั้งภายในประเทศ และขยายขอบเขตไปในระดับภูมภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มการผลิตงานทางด้านโบราณคดีจากนักวิชาการรุ่นใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เพื่อการทดแทนบุคลากรในอนาคต จุดประสงค์นี้ทำให้ฉุกคิดได้ว่าประเทศไทยควรจะสนับสนุนนักวิชาการรุ่นใหม่โดยเปิดโอกาสให้ผลิตงานวิชาการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรของรัฐอย่างกรมศิลปากรหรือมหาวิทยาลัยศิลปากรที่รับผิดชอบเรื่องวิชาการโบราณคดีโดยตรง
๙.๒ การทัศนศึกษา
นอกจากการเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในการประชุมทางวิชาการแล้ว ทางผู้จัดยังได้บรรจุการทัศนศึกษาไว้ในกิจกรรมด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในสถานที่จริง และประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่นักวิชาการต่างชาติ เนื่องจากนักโบราณคดีหรือนักวิชาการที่ทำงานในแต่ละพื้นที่เป็นผู้นำชมเอง ทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกและสามารถตอบข้อซักถามได้อย่างชัดเจน โดยสามารถแบ่งกิจกรรมทัศนศึกษาได้ ดังนี้
๑. แหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู
แหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู ตั้งอยู่เขตตอนกลางของพื้นที่เขตโบราณคดีบูจัง วัลเลย์ ในพื้นที่ ๔๐๐ ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิศาสตร์ของแหล่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่มีทางอออกสู่ทะเลทางด้านทิศตะวันตก พื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากแหล่งประมาณ ๓ กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของภูเขากุนัง เจราย ซึ่งปรากฏศาสนสถานของทั้งศาสนาพุทธและฮินดูอยู่บนภูเขาด้วย
แหล่งโบราณคดีสุไหง บาตูมีหน้าที่การใช้งานแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนนหลวงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นศาสนสถานและท่าเรือขนส่ง ศาสนสถานที่เก่สำคัญที่สุดคือโบราณสถานหมายเลข SB1B โดยมีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้าง ๒ สมัยซ้อนกัน สมัยแรกสร้างเป็นฐานอิฐรูปวงกลม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคติของการนับถือผี หรือการนับถือภูเขากุนัง เจราย ที่ถือกันว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่นี้ กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑ สมัยที่สองก่อสร้างอาคารในผังสี่เหลี่ยมมีฐานบัวและช่องท้องไม้คล้ายศิลปะแบบอินเดียหรือทวารวดี อาคารสมัยนี่สร้างทับอยู่บนฐานวงกลมในมัยแรก กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๗ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเนื่องในคติของพุทธหรือพราหมณ์ นอกจากนี้ยังมีร่องรอยโครงสร้างของท่าเรือขนาดเล็กเพื่อการขนส่งปรากฏอยู่ตามแนวขอบแม่น้ำหลายแห่ง สิ่งก่อสร้างในประเภทแรกนี้กำหนดอายุเก่าที่สุดได้ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑ ซึ่งหากเชื่อตามผลการกำหนดอายุจะถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแกที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค้นพบในปัจจุบัน
ประเภทที่สองเป็นแหล่งถลุงโลหะ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนหลวงปัจจุบัน บริเวณนี้แต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกปาล์ม เมื่อทำการสำรวจในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ พบเนินดินจำนวนมาก และเมื่อเสร็จสิ้นการขุดค้นในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๗ พบว่าเนินดินดังกล่าวเป็นเตาถลุงเหล็กที่ใช้ต่อเนื่องกันอย่างยาวนาน ปรากฏหลักฐานที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างเตา ตะกรันเหล็ก อิฐ ท่อลมขนาดใหญ่จำนวนมาก จากการกำหนดอายุจากถ่านที่พบ กิจกรรมการถลุงเหล็กเริ่มแรกในพื้นที่นี้อาจมีอายุเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๑ ร่วมสมัยกับกลุ่มศาสนสถานที่อยู่อีกฟากหนึ่งด้วย
แหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู นอกจากจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าทางวิชาการแล้ว แนวคิดการจัดการแหล่งโบราณคดีกลับเป็นจุดเด่นที่มองข้ามไม่ได้ การบริหารจัดการทั้งหมดของแหล่งรับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเซนมาเลเซีย ซึ่งทำการสำรวจ ขุดค้น และอนุรักษ์ตั้งแต่เริ่มแรกโดยรัฐบาลและหน่วยราชการเป็นเพียงที่ปรึกษาและฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยเซนมาเลเซียจึงในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ออกภาคสนามของนักศึกษาเป็นประจำเกือบทุกปี กระทั่งการขุดค้นในช่วงแรกสิ้นสุดลงในปีพ.ศ. ๒๕๕๗ ผลจากการบริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยคือ สภาพคล่องทางการบริหารและการเงิน ทำให้แหล่งโบราณคดีได้รับการอนุรักษ์และจัดการอย่างรวดเร็วตามหลักวิชาการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการขุดค้นและนำชมแหล่งโบราณคดี ก่อให้เกิดการกระจายรายได้แล้เผยแพร่ความรู้ไปในชุมชนและระดับภูมิภาคอีกด้วย
๒. แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งบูจัง วัลเล่ย์
แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งบูจัง วัลเล่ย์ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านทิศใต้ของภูเขากุนัง เจราย สภาพพื้นที่เป็นชิงเขามีลำน้ำไหลผ่าน บริเวณแนวลำน้ำมีแหล่งตัดหินขนาดเล็กที่ใช้ในการสร้างโบราณสถานอยู่ด้วย โบราณสถานแห่งบูจัง วัลเลย์เป็นกลุ่มศาสนสถานขนาดกลาง สร้างด้วยอิฐและหินภูเขา ตั้งอยู่ตามแนวเชิงเขาที่ลดหลั่นกันขึ้นไป ปัจจุบันผ่านการบูรณะด้วยวัสดุใหม่เกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงโบราณสถาน “จันทิบูกิตบาตูพาหัต” เพียงหลังเดียวที่ยังคงสภาพใกล้เคียงในอดีต จันทิหลังนี้เป็นอาคารประธานของกลุ่มโบราณสถานบนเขากุนัง เจราย สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดู ข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งศาสนสถานบนเชิงเขาหรือภูเขาประการหนึ่ง คือ คติภูเขาศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นที่สถิตของเทพนั้น เป็นคติสากลของทุกศาสนาและความเชื่อที่พบร่วมกันทั้งโลกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบคตินี้เช่นเดียวกัน และมีการสร้างศาสนสถานให้คล้ายคลึงกับภูเขาหลายแห่งด้วยกัน โดยรวมเรียกว่าศาสน-บรรพต เช่น ปราสาทนครวัด เจดีย์บุโรพุทโธ เป็นต้น
นอกจากกลุ่มโบราณสถานสำคัญแล้ว ในพื้นที่นี้ยังมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมโบราณศิลปวัตถุที่พบในเขตบูจัง วัลเลย์ไว้จำนวนมาก ลักษณะพิพิธภัณฑ์ยังคงเป็นแบบท้องถิ่นเรียบง่าย เน้นการจัดแสดงโบราณวัตถุเป็นหลัก แต่มีป้ายบรรยายข้อมูลที่ชัดเจน รวมทั้งจัดแสดงควบคู่กับรูปถ่ายเก่าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโบราณวัตถุแต่ละชิ้นขณะที่ค้นพบอีกด้วย
๙.๓) การร่วมกิจกรรมเทศกาลเมืองเก่าเกดะห์
อันที่จริงแล้วการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเมืองเก่าเกดะห์ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ โดยความร่วมมือจากส่วนราชการรัฐเกดะห์ เขตสุไหง ปัตตานี และมหาวิทยาลัยเซนมาเลเซีย จัดงานเทศกาลขึ้นนะแหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู ภาพรวมของงานมีการออกร้านสินค้าท้องถิ่น ออกซุ้มให้ความรู้ทางด้านโบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดจำลองกระบวนการเผาอิฐและถลุงเหล็ก รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้เยาวชนอีกมากมาย งานมีระยะเวลาจัดทั้งสิ้น ๔ วัน รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมในท้องถิ่นกว่า ๕,๐๐๐ คน ตลอดการจัดงาน
แนวคิดที่น่าสนใจภายในงานที่ถือเป็นสาระสำคัญสำหรับงานโบราณคดี คือ การหยิบยกเอากิจกรรมถลุงเหล็กเป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน ดังนั้นจึงมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องการถลุงเหล็กจำนวนมาก เช่น การจำลองเตาถลุงเหล็ก การเตรียมวัตถุดิบสำกรับถลุง การถลุงเหล็กโดยวิธีโบราณและวิธีสมัยใหม่ การจัดให้ให้เยาวชนประกวดออกแบบเตาถลุงเหล็กที่ใช้ได้จริง และการวาดภาพจินตนาการของแหล่งโบราณคดี ดังนั้นภาพรวมของกิจกรรมจึงออกมาเป็นงานเทศกาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นการจัดกิจกรรมในพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่เป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมเดียวกันนี้ในอดีต ยิ่งทำให้แหล่งโบราณคดีได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
๑. กรมศิลปากรควรมีการส่งเสริมให้นักโบราณคดีและนักวิชาการเข้าเสนอผลงานการวิจัยให้มากกว่านี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและเปิดโลกทัศน์ทางด้านโบราณคดีในพื้นที่ที่อื่น จะทำให้ความรับรู้ทางวิชาการกว้างขวางขึ้นกว่าในปัจจุบัน แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนนั้นได้ควรส่งเสริมให้นักวิชาการรุ่นใหม่ของกรมศิลปากรมีงานวิจัยเป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มพูนข้อมูลและประสบการณ์ในการทำวิจัยต่อไป
๒. ทักษะภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการสื่อสารกับนักวิชาการต่างชาติ ปัญหาที่พบคือ บุคลากรของไทยมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะวิชาการโบราณคดีในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สนใจอย่างมากของนักวิชาการทั่วโลก แต่ติดขัดด้านปัญหาในการสื่อสารที่เป็นปัญหาสำคัญ ควรมีการจัดอบรมระยะยาว (๓ – ๖ เดือน) ด้านภาษาอังกฤษทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่าการจัดชั้นเรียนภาษาอังกฤษสั้นๆ เนื่องจากไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร โดยอาจจะทยอยส่งนักวิชาการเป็นกลุ่มเล็กๆ เข้าอบรมทุกปี เพื่อไม่ให้กระทบกับงานหลัก และหลังจากอบรมควรมีการติดตามวัดผลอย่างต่อเนื่องด้วย
๓. อันที่จริงแล้วจุดประสงค์หลักของการจัดประชุมนานาชาติที่ประเทศมาเลเซียในครั้งนี้จริงๆแล้วคือการประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณคดีในสุไหง บาตูเป็นหลัก และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ข้อสังเกตที่ยกมานี้กรมศิลปากรควรจัดงานประชุมระดับนานาชาติในพื้นที่แหล่งโบราณคดีแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่ผ่านการวิจัยอย่างต่อเนื่องและมีการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพอย่างดีแล้ว โดยอาจจัดเป็นงานเทศกาลเล็กๆ ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
นายอนุรักษ์ ดีพิมาย ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1213 ครั้ง)