รายงานการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา
๑. ชื่อโครงการ
โครงการประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Early State and Cultural Relationship of Mainland Southeast Asia 2016
๒. วัตถุประสงค์
๑. เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ เชิงสหวิทยาการเพื่อการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค เพื่อสนับสนุนกระบวนการศึกษาวิจัยในลักษณะสหวิทยาการอย่างเป็นระบบ โดยต้องการให้เป็นศูนย์อันเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม
๒. เพื่อสร้างและสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายภาคีการวิจัยเชิงสหวิทยาการ เพื่อการศึกษาวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายและดำเนินการวิจัย
๓. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิชาการ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และสารสนเทศ ในภูมิภาคอาเซียน
๓. กำหนดเวลา
ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ (จำนวน ๒ วัน)
๔. สถานที่
๑. ปราสาทบาเสต จังหวัดพระตระบอง
๒. ศูนย์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเลียนแบบเครื่องปั้นดินเผาเขมรโบราณ จังหวัดกำปงชนัง
๓. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กัมพูชา (National Museum of Cambodia) กรุงพนมเปญ
๕. หน่วยงานผู้จัด
ศูนย์วิจัยสหวิทยาการ เฉลิมพระเกียรติ ๕ รอบ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (CRMA Research Center)
๖. หน่วยงานสนับสนุน
สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.)
CEEVEN ประเทศเวียดนาม
EWCC Project ประเทศญี่ปุ่น
๗. กิจกรรม
การสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ ในระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๓ พฤศิจกายน ๒๕๕๙ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก
การศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี, วัดแก้วพิจิตร, โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ, สระแก้ว, พระพุทธบาทคู่ สระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี
การศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในประเทศกกัมพูชา ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ ปราสาทบาเสต, ศูนย์หัตถกรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผากำปงชนัง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กัมพูชา
๘. คณะผู้แทนไทย
๑. พ.อ.รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
๒. พ.อ.หญิง ปิยนุช รัตนวิชัย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
๓. ดร.นันทนา ชุติวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๔. ผศ.ดร.จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๕. นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ กรมศิลปากร
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
๑. กิจกรรมนี้เป็นการไปศึกษาดูงาน ภายหลังการจัดประชุมสัมมนา ซึ่งกำหนดเป้าหมาย ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีคณะเดินทางจำนวน ๒๔ คน (ไทย ๕ คน เวียดนาม ๑๔ คน กัมพูชา ๓ คน ออสเตรเลีย ๑ คน และมาเลเซีย ๑ คน) ออกเดินทางออกจากประเทศไทย ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. ณ ด่านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยรถตู้โดยสาร มุ่งหน้าไปกรุงพนมเปญ ระหว่างทางได้แวะทัศนศึกษาที่ปราสาทบาเสต จังหวัดพระตระบอง และศูนย์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา จังหวัดกำปงชนัง จากนั้นค้างคืนที่กรุงพนมเปญ ๑ คืน รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ภาคเช้า เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กัมพูชา และภาคบ่ายคณะคนไทยเดินทางกลับ โดยเครื่องบินโดยสารจากสนามบินนานาชาติ กรุงพนมเปญ ถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทย เวลาประมาณ ๑๘.๒๐ น.
๒. การทัศนศึกษา ปราสาทบาเสต ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระตระบอง เป็นปราสาทที่อยู่ระหว่างการบูรณะ ประกอบด้วยปราสาทประธาน ปราสาทบริวาร บรรณาลัย โคปุระ มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ปราสาทแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนักเมื่อเทียบกับปราสาทอื่นๆ ในประเทศกัมพูชา แต่มีความโดดเด่น เนื่องจากเป็นตัวแทนของยุคสมัยทางศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะเกลียงหรือคลัง หรือศิลปะแบบประตูพระราชวังหลวง อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ราว พ.ศ. ๑๕๕๐ – ๑๖๐๐) มีลักษณะทับหลังเป็นแบบหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยและมีการแบ่งเสี้ยว ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นศิลปะแบบบาปวนในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตรรษที่ ๑๗ (ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ – ๑๖๕๐) ซึ่งเป็นทับหลังแบบหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย แต่ไม่มีการแบ่งเสี้ยว ปัจจุบันได้มีการบูรณะที่ส่วนมณฑปของปราสาทประธาน และปราสาทบริวารแล้วเสร็จจำนวน ๑ หลัง นอกนั้นยังคงอยู่ในสภาพปรักหักพังดังเดิม ซึ่งจะมีโครงการบูรณะเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
๓. การทัศนศึกษา ศูนย์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ตั้งอยู่ที่จังหวัดกำปงชนัง ศูนย์แห่งนี้ได้รับการสนันสนุน จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา โดยเลียนแบบเทคนิควิธีการผลิตแบบโบราณ ทั้งกระบวนการจัดหาและผสมดิน การปั้นและขึ้นรูปทรง และการเผาในเตาแบบดั้งเดิมโดยใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้ใกล้เคียงกับเครื่องถ้วยเขมรโบราณ ทั้งประเภทจาน ชาม กระปุก แจกัน คนโท ประติมากรรมรูปบุคคลและสัตว์ มีทั้งประเภทน้ำเคลือบสีขาว เคลือบสีเขียว และเคลือบสีน้ำตาล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้นำมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
๔. การทัศนศึกษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กัมพูชา ได้เข้าพบ Mr. Kong Vireak ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กัมพูชา ซึ่งอนุญาตให้คณะเข้าชมถ่ายภาพโบราณวัตถุที่จัดแสดงได้เป็นกรณีพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ตัวอาคารออกแบบประยุกต์สถาปัตยกรรมเขมรสมัยกรุงพนมเปญ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุเนื่องในอารยธรรมเขมรโบราณ ส่วนมากเป็นประติมากรรมศิลาและสำริด จัดเป็นหมวดหมู่ตามยุคสมัย ได้แก่ สมัยก่อนเมืองพระนคร สมัยเมืองพระนคร และสมัยหลังเมืองพระนคร นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการค้นพบและศึกษาอยู่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากการศึกษาโบราณคดีในประเทศกัมพูชาเน้นงานอารยธรรมเขมรซึ่งมีความโดดเด่นและพบแพร่หลายมากกว่า
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
๑. ควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการให้แพร่หลายมากกว่านี้ เนื่องจากยังมีผู้สนใจหลายท่านประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่ทราบช่องทางการติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมกิจกรรม
๒. ควรขยายระยะเวลาในการศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศเพิ่มอีกสัก ๑ หรือ ๒ วัน เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน
๓. ควรมีเป้าหมายในการจัดกิจกรรมให้ต่อเนื่องกันไปทุกปี เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แก่กันอยู่เสมอ
(นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์)
นักโบราณคดีชำนาญการ
ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
๑๔ / ธ.ค. / ๒๕๕๙
(จำนวนผู้เข้าชม 831 ครั้ง)