รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ๓-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
๑. ชื่อโครงการ การประชุมระดับโลกขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติและองค์การยูเนสโกว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ในหัวข้อเรื่อง “ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนใหม่” UNWTO/UNESCO World Conference on Tourism and Culture: “Building a new Partnership” ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
๒. วัตถุประสงค์ เพื่อร่วมเป็นผู้คณะแทนกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมการประชุมระดับโลกขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติและองค์การยูเนสโกว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ในหัวข้อเรื่อง “ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนใหม่” UNWTO/UNESCO World Conference on Tourism and Culture: “Building a new Partnership” ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
๓. กำหนดเวลา เดินทางไปตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และเดินทางกลับในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘รวมเวลาเดินทางไปราชการทั้งสิ้น ๔ วัน ๓ คืน
๔. สถานที่ โรงแรม Le Meridien Angkor Hotel ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
๕. หน่วยงานผู้จัด องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติและองค์การยูเนสโก
๖. หน่วยงานสนับสนุน เบิกค่าใช้จ่ายจากงบประมาณของกรมศิลปากร
๗. กิจกรรม
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
๙.๐๐ น. พิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ
๑๔.๐๐ น. การหารือระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเจรจาทางด้านนโยบายและแนวคิดการกำกับดูแล
ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนรูปแบบความร่วมมือใหม่ระหว่างการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดความรับผิดชอบและการตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมรวมถึงการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
๑๙.๐๐ น. งานเลี้ยงต้อนรับและการแสดงทางวัฒนธรรม ณ Elephant Terrace of Angkor Wat
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนีทรงเป็นเจ้าภาพ
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ๙.๑๐ น. การประชุมครั้งที่ ๑ : การส่งเสริมและการคุ้มครองทางวัฒนธรรม ( Promoting and Safeguarding Culture)
๑๐.๕๐ น. การประชุมครั้งที่ ๒ : การคงอยู่ของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์( Living Cultures and Creative Industries)
๑๔.๐๐ น. การประชุมครั้งที่ ๓ : การเชื่อมโยงประชาชนกับเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Linking People Along Cultural Tourism Routes)
๑๕.๒๐ น. การประชุมครั้งที่ ๔ : การฟื้นฟูเมืองผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม(Urban Regeneration Through Cultural Tourism)
๑๗.๐๐ น. พิธีปิดการประชุม
๑๙.๐๐ น. งานเลี้ยงอำลาและการแสดงทางวัฒนธรรม
๘. องค์ประกอบของคณะผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย
๑. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
๒. นายสมชาย ณ นครพนม นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร
๓. นางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
๔. นางสาวขนิษฐา โชติกวณิชย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานรัฐมนตรี
๙. สรุปสาระของกิจกรรม สรุปได้ดังนี้
ในการประชุมมีการหยิบยกเรื่องการท่องเที่ยวอาจเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรม แต่หากมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม การท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยในการคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรม ขณะเดียวกันยังก่อให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิในวัฒนธรรมของตนและแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกด้วย
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนที่ก่อให้มนุษย์มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(Creative Industries) อาทิ เพลง ภาพยนตร์ หัตถกรรม สถาปัตยกรรมหรือการออกแบบ ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างประสบการณ์พิเศษให้แก่นักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเองมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆรวมถึงการเกิดประโยชน์ทางด้านเศรษบกิจและสังคมต่อชุมชนท้องถิ่น
ที่ประชุมได้อภิปรายถึงเรื่องเส้นทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดโอกาสกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ การบูรณาการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงด้านเศรษบกิจและวัฒนธรรมในระดับประเทศและระหว่างประเทศด้วย
ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอีกเรื่องคือ การที่การท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็วในเขตเมือง ด้วยเหตุนี้จึงต้องพึงระวังในการพัฒนาการท่องเที่ยว ควบคุ่ไปกับการคุ้มครองอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและการเพิ่มคุณค่าชีวิตในเมืองและต้องไม่ลืมว่า วัฒนธรรมในพื้นที่ชนบท เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มที่จะรุกไปในพื้นที่เหล่านั้น
ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดทำเป็น Siem Reap Declaration on Tourism and Culture โดยประกาศเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ มีเนื้อหาสรุปได้ตามสาระของการประชุมข้างต้น ( ดังรายละเอียดตามเอกสารที่แนบ)
๑๐.ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
เป็นการประชุมในระดับนานาชาติที่สำคัญ ทำให้เห็นว่าทั่วโลกกำลังนำวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และการท่องเที่ยวมิได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อการปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรม แต่ควรใช้โอกาสจากการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้วัฒนธรรมมีชีวิตและได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่สู่ประชาคมโลก ซึ่งจะเป็นผลดีทางเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันระหว่างการท่องเที่ยวกับวัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งในปัจจุบัน
นายสมชาย ณ นครพนม ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 471 ครั้ง)