...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศอินโดนีเซีย International Seminar: Srivijaya in the Context of Regional Southeast Asia and South Asia ระหว่างวันที่ ๒๐ ถึง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศอินโดนีเซีย

๑.ชื่อโครงการ   International Seminar: Srivijaya in the Context of Regional Southeast Asia and South Asia

๒.วัตถุประสงค์

                   ๑)เพื่อระดมความคิด-ความเห็นจากผลจากศึกษาค้นคว้าที่แสดงความก้าวหน้าใหม่ในอารยธรรมศรีวิชัยในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

                   ๒)เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะ การประสานความร่วมมือระหว่างนักโบราณคดีและนักวิจัยอินโดนีเซียกับนักโบราณคดีและนักวิจัยใน ๒ ภูมิภาคข้างต้น

                   ๓)เพื่อนำผลทางวิชาการมาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม

 

๓.กำหนดเวลา    ระหว่างวันที่ ๒๐ ถึง ๒๕  สิงหาคม  ๒๕๕๗

 

๔.สถานที่        ๔.๑ โรงแรมGrand Abadi Hotel, Jl. Jend. Gatot Subroto No. 92-98, Jambi,

Indonesia.

                   ๔.๒ แหล่งโบราณคดี Muara Jambi Archaeological Site

                   ๔.๓ พิพิธภัณฑสถาน Siginjai

 

๖. หน่วยงานสนับสนุน Pusat Arkeologi Nasional (Centre of National Archaeology of

Indonesia), Balai Pelestarian Cagar Budaya Jambi (Preservation Office for Cultural Properties of Jambi), กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 

๗. กิจกรรม

                   ๗.๑ การบรรยายนำเสนอ (speech and presentation) ของนักวิชาการต่างประเทศและของอินโดนีเซียที่ได้รับเชิญ

                   ๗.๒ การถาม-ตอบและการอภิปรายเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อ

                    ๗.๓ การศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดีเมารา จัมบี  พิพิธภัณฑสถานซิกินไจ และนิทรรศการเรื่องศรีวิชัยในห้างสรรพสินค้า เมืองจัมบี

 

 ๘.คณะผู้แทนไทย

                    ดร. อมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

 

                   ๙.๑ การบรรยายนำเสนอ(speech and presentation) จากนักวิชาการต่างประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วม จำนวน  ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และนักวิชาการอินโดนีเซีย รวมทั้งสิ้น  ๒๖  คน มีผลงานการนำเสนอ รวม  ๒๖ เรื่อง ใน หัวข้อ   (7 Topics) ดังนี้

          ๑.๑) Key Note Paper เรื่อง “Srivijaya on Our Nation” โดย  Dr. Harry Truman Simanjuntak

          ๑.๒) Settlement and Environment: Pre Srivijaya (early settlement), urban settlement มีผู้บรรยาย ๕ คน  มีเรื่องบรรยายเสนอ ๕ เรื่อง ดังนี้

-Pierre-Yves Manguin : The History of Srivijaya: Facts, fancies…and informed 

          speculation

-Daud Aris Tanudirdjo: The Proto-History of Srivijaya: the Emergence of Srivijaya in

          Regional Context

-Nurhadi Rangkuti: The Way of Life Pre-Srivijaya Society in Lowland Area of East Coast

          of Sumatra

-Agustijanto Indradjaja: The Pre-Srivijaya Period on the Eastern Coast of Sumatra:

          Progress Report Research at the Air Sugihan Site

-Bagyo Prasetyo: Megalithic in the Interior of Sumatra: the Communities that

          Developed During the Srivijaya Period

๑.๓) Religion: Buddha and Islam มีผู้บรรยาย ๗ คน มีเรื่องบรรยายเสนอ ๗  เรื่อง ดังนี้

-John N. Miksic: Esoteric Buddhism and Political Structure of Jambi, 11th to 13th

Centuries

-Bambang Budi Utomo: Islam in Kadatuan Srivijaya

-Hasan Djafar: The Invasion of Srivijaya to Bhumijawa (=Tarumanagara): The Spread of

Mahayana Buddhism and the Art Style of Nalanda in the Temple Complex of Butujaya

-Amara Srisuchat: A Reappraisal of Inscriptions and Icons in Southern Thailand

Reflecting Religious Perceptions of the Srivijayan People

-Rila Mukherjee: Between Land and Sea: The Bay of Bengal and Srivijaya 8th -11th

centuries

-Himanshu Prabha Ray: Contexualizing Nagapattinam: Srivijaya’s Maritime Links with

the Tamil coast

-Naoko Ito: The Traces of Tantric Buddhism in Srivijaya: Through the Analysis of

           Statues and Instruments

          ๑.๔) Technology มีผู้บรรยาย ๓  คน  มีเรื่องบรรยายเสนอ ๓ เรื่อง ดังนี้

-Nik Hassan Shuhaimi: Srivijayan Art

-Ery Soedewo: Element Comparison on Bronze Artifacts From Srivijaya(Sumatra) and

Mataram (Java)

-Sukawati Susetyo: Motifs of Makaras during the Srivijaya Period

          ๑.๕) Trade / Maritime มีผู้บรรยาย ๓ คน มีเรื่องบรรยายเสนอ ๓ เรื่อง ดังนี้

-M. Th. Naniek Harkantingsih: Natuna: The Peak Period of Srivijayan Trade

-Edmund Edwards McKinnon: The Aceh Besar Coast: Pancu, Lamreh, and Relationship

with Srivijaya Jambi

-Sila Tripati: Maritime contacts of Odisha, East coast of India with Southeast Asia and

the Roman World: Why are evidences limited on Odisha-Roman world contacts?

          ๑.๖) Epigraphy มีผู้บรรยาย ๓ คน มีเรื่องบรรยายเสนอ ๓ เรื่อง ดังนี้

-Arlo Griffiths: The Nalanda Copperplate of Devapala and its Relevance for the

History of Contacts between India and Indonesia

-Tai Yew Sheng: The Inscriptions of Restoration of Tianqing Temple in Canton and the

Chandi Kembarbatu Gong and other Chinese Sources

-Kuo-wei Liu: Analysis on Tibetan Textual Sources Regarding Asita’s (982-1054) Travel

to Sumatra

          ๑.๗) Site Management of Maura Jambi มีผู้บรรยาย ๒ คน มีเรื่องบรรยายเสนอ ๒ เรื่อง ดังนี้

-Hariani Santiko: The Structure of the Buddhist Monuments At Muara Jambi

-Retno Purwanti: Chandi Kedaton: Vihara from the 11th century A.D.

 

                    ๙.๒ การถาม-ตอบและการอภิปรายเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อ

          สรุปสาระของการถาม-ตอบและการอภิปรายเสริม สาระสำคัญ ดังต่อไปนี้      

          ๑)การตั้งศูนย์ศรีวิชัยขึ้นในสุมาตรา ณ บริเวณ เมาราจัมบี น่าจะมีความเป็นไปได้ ทั้งนี้ต้องมีการร่วมมือกันทุกฝ่าย โดยมุ่งเน้นให้มองถึงอดีตที่มีรากฐานความเข้มแข็งในการพาณิชนาวี การบริหารจัดการ การศาสนา การสัมพันธ์ติดต่อข้ามพรมแดนระยะใกล้-ไกล การศึกษาความสำเร็จรุ่งเรืองเหล่านี้ควรเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นองค์กรที่รับใช้สังคมในปัจจุบันและอนาคต ตามปาฐกถาพิเศษนำเสนอโดย Dr. Harry Truman Simanjuntak

๒) การศึกษาเรื่องศรีวิชัยแต่เดิมไม่ได้ศึกษาโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโบราณคดีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันการค้นพบใหม่ๆ ข้อมูลทั้งทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยาควรนำมาใช้ในการศึกษาแบบองค์รวมให้มากขึ้น โดยถือให้ประวัติศาสตร์ศรีวิชัยเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่แยกส่วนจากโบราณคดี-ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงได้

          ๓) พัฒนาการของผู้คนและบ้านเมืองก่อนมีศรีวิชัย นับเป็นรากฐานสำคัญต่อความเติบโตและพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของศรีวิชัยอย่างที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบพัฒนาการมนุษย์ในภูมิภาคนี้ เช่น วัฒนธรรมหินใหญ่ (Megalithic Culture) ชาวเรือที่เป็นออสโตรเนเซียนที่พัฒนาการมาก่อน คติความเชื่อดั้งเดิมของชนท้องถิ่น การปรับตัวและการรับวัฒนธรรมศาสนาในรุ่นแรกๆโดยเฉพาะวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา ตามข้อเสนอของ Dr. Daud Aris Tanudirdjo, Dr. Agustijanto Indradjaya, Dr. Bagyo Prasetyo, Dr. Amara Srisuchat ควรนำมาใช้ในการทำความเข้าใจการรับ ปรับใช้ของชนท้องถิ่นที่นำไปสู่การสร้างรัฐศรีวิชัย และพลวัตพัฒนาการของรัฐศรีวิชัย

          ๔)ศรีวิชัย ควรเรียกว่าเป็นราชอาณาจักร หรือ จักรวรรดิ (Kingdom or Empire) มากกว่าเรียกว่าเป็นเพียง รัฐ หรือ ประเทศ (state or country) ตามข้อเสนอของ Dr. Nik Hassan Shuhaimi ด้วยเหตุที่ว่า มีขอบเขตทั้งพื้นที่และอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนมากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของผู้คนในอาณาจักรนี้ เช่น ศิลปะศรีวิชัย (Srivijayan Art) ตามข้อสนับสนุนของ Dr. Amara Srisuchat และ Ms. Sukavati Susetyo, Dr. Hariani Santiko   ศรีวิชัยเป็นแหล่งกำเนิดของนักปราชญ์/นักปรัชญาทางพระพุทธศาสนาที่โดดเด่นในโลก (Srivijayan Scholars & Buddhist Philosophers) ตามข้อสนับสนุนจากการนำเสนอของ Mr. Kuo-wei Liu การพาณิชนาวีและยุทธนาวีที่เกรียงไกร ตามข้อสนับสนุนของ Dr. Pierre-Yves Manguin และ Prof. Edmund Edwards McKinnon รวมไปถึงเทคโนโลยีในการผลิตศิลปกรรมเครื่องมือเครื่องใช้ การติดต่อกับรัฐ/อาณาจักรภายนอกที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าและวัฒนธรรมของโลกตะวันตกกับตะวันออก ที่สำคัญคือมีประวัติศาสตร์การแผ่ขยายอำนาจ/อิทธิพลที่มีผลต่อความเชื่อ คตินิยมของผู้คนในช่วงเวลายาวนานช่วงเวลาหนึ่งที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาค ตามข้อสนับสนุนของ Dr. Rila Mukherjee, M.Th. Naniek Harkantiningsih

          ๖) ศูนย์อำนาจหรือศูนย์การแผ่อำนาจของราชอาณาจักรศรีวิชัย น่าจะอยู่ที่เกาะสุมาตราทั้งปาเล็มบังและเมารา จัมบี เพราะปัจจุบันพบหลักฐานที่เป็นศิลาจารึก พุทธสถานที่ใหญ่โต มากมายและเมืองท่าการค้านานาชาติในรุ่นแรกๆจนถึงรุ่นรุ่งเรืองต่อเนื่องไม่ขาดสาย สอดคล้องกับหลักฐานเอกสารจีนและทิเบตที่แสดงให้เห็นว่า ศรีวิชัยที่สุมาตราเป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่สำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ ตามการนำเสนอสนับสนุนของ Dr. John Norman Miksic, Dr. Pierre-Yves Manguin, Mr. Kuo-wei Liu, Mr. Bambang Budi Utomo, Dr. Hasan Djafar

          ๗)ผลการวิเคราะห์วัตถุโลหะ โดยเฉพาะรูปเคารพที่ทำด้วยโลหะ จากแหล่งโบราณคดีศรีวิชัยในเกาะสุมาตรา ของ Mr. Ery Suededo พบว่า ผู้คนในศรีวิชัย ไม่ได้รับเทคโนโลยีหรือภูมิปัญญาช่างในการสร้างรูปเคารพ/เครื่องมือเครื่องใช้จากอินเดียแต่อย่างใด เนื่องจากผลวิเคราะห์พบว่า องค์ประกอบของการทำวัตถุต่างๆด้วยสำริด/ดีบุก/เงิน ล้วนแตกต่างออกไปจากองค์ประกอบของวัตถุจากอินเดีย แต่ทั้งนี้ยังต้องหาแหล่งผลิตที่ชัดเจนต่อไป ขณะนี้พบเพียงร่องรอยก้อนทองแดงหลอมในบางแหล่งบนเกาะสุมาตรา แต่ยังไม่พบเตาหลอมโลหะแต่อย่างใด หากข้ออภิปรายของDr. Amara Srisuchat ที่กล่าวว่า ปัจจุบันได้พบแหล่งผลิตโลหกรรมสำริด และดีบุกในประเทศไทยและประเทศลาวหลายแหล่งและกำหนดอายุที่แน่นอนจากการขุดค้นตลอดจนการวิเคราะห์องค์ประกอบวัตถุโลหะเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุสำริดที่มีปริมาณดีบุกสูง (high tin bronze) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุด และน่าจะเป็นเทคโนโลยีของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นนี้แล้ว ก็น่าจะมีความร่วมมือในการศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป

          ๘) เมือง ประเทศ หรือรัฐที่ศรีวิชัยไปสัมพันธ์ติดต่อในช่วงเวลาหนึ่งๆ ควรให้ความสนใจศึกษาค้นคว้ามากยิ่งขึ้น เพื่อเข้าใจบทบาทความสัมพันธ์ทางการทูต การเมือง การศาสนาและการค้า เช่น นาคปัฏฏินัม ทมิฬนาฑู นาลันทา เบงกอล เวียดนาม จีน ทิเบต ฯ หลักฐานจารึกและเอกสารที่เกี่ยวกับศรีวิชัยควรได้รับการตรวจสอบ ค้นคว้า ศึกษา ตีความใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับการนำเสนอเป็นแนวทางของ Dr. Amara Srisuchat, Dr. Himanshu Prabha Ray, Dr. Arlo Griffiths, Dr. Tai Yew Sheng, Dr. Kuo-wei Liu. และ Mr. Bambang Budi Utomo.

 

๙.๓ การศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดีเมารา จัมบี และพิพิธภัณฑสถานซิกินไจ และนิทรรศการเรื่องศรีวิชัยในห้างสรรพสินค้า ในเมืองจัมบี

-แหล่งโบราณคดีเมารา จัมบี : เป็นกลุ่มวัดโบราณในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ มีศาสนสถาน ใหญ่-น้อยอยู่หลายหลัง สร้างด้วยอิฐทั้งสิ้น ขณะนี้ยังขุดค้น-ขุดแต่งต่อเนื่องตลอด พบหลักฐานที่เป็นอักษรจารึกข้างรูปมกรหินซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นของโบราณสถาน ผู้นำชมหลัก ณ แหล่งโบราณสถานฯ บรรยายเป็นภาษาอินโดนีเซียทั้งหมด โดยไม่แปลเป็นภาษาอังกฤษเลย ทำให้นักวิชาการต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาอินโดนีเซียประสบปัญหาที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จึงต้องถามหานักวิชาการอินโดนีเซียที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาฯด้วยให้เป็นผู้พานำชมเป็นการเฉพาะ บางคนมีโอกาสดี ก็ได้ผู้ที่เป็นนักโบราณคดีที่ปฏิบัติงานอยู่ในแหล่งนั้นพานำชมก็จะได้ข้อมูลมาก แต่ก็ไม่เป็นไปเช่นนี้ทุกคน

ความใหญ่โตและมากมายของศาสนสถานที่นี้แสดงให้เห็นว่า เมารา จัมบี น่าจะเคยเป็นราชธานีของศรีวิชัยรัฐใดรัฐหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ อย่างไรก็ดีพุทธสถานเหล่านี้ส่วนใหญ่พบเพียงส่วนฐาน และมีห้องกลางเพียงห้องเดียว จึงยากที่จะคาดคะเนหน้าที่ใช้สอยและรูปร่างของส่วนเรือนยอด มีเพียงแห่งเดียวที่พบยอดสถูปรูปกรวยที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานหลังนี้เป็นสถูป

นอกจากนี้ยังได้ชมพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น-ขุดแต่งโบราณสถานเมารา-จัมบี และห้องปฏิบัติการเก็บและศึกษาโบราณวัตถุ ซึ่งผู้ดำเนินการขุดค้นนำเครื่องปั้นดินเผามาให้Dr. Amara Srisuchatพิจารณา วิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นกุณฑีและเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเผาในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะแหล่งเตาปะโอ ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งผลิตขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

ประเทศอินโดนีเซียมีแผนการที่จะนำเสนอแหล่งโบราณสถานเมารา จีมบีเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่มีแนวความคิดว่า จะดำเนินการขุดค้น-ขุดแต่งโบราณสถานให้มากเพียงพอและมีเรื่องราวมากกว่านี้จึงจะนำเสนอ

สำหรับการดำเนินงานทางโบราณคดีในแหล่งนี้อยู่ภายใต้หน่วยงานย่อยทางโบราณคดีของประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เมืองจัมบี การดำเนินงานทางโบราณคดีในแหล่งนี้ ในแต่ละปีจะไม่เร่งร้อนการทำงาน จะมีการขุดค้น-ขุดแต่งเพียง ๓ เดือน แล้วหยุดรวบรวมข้อมูลศึกษาวิเคราะห์ ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มใหม่อีก ๓ เดือน และหยุดพัก และจะใช้งบประมาณบริหารจัดการ ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นงบประมาณของหน่วยงานโบราณคดี ขึ้นตรงกับส่วนกลางเป็นงบประมาณการดำเนินการรวมทั้งเงินเดือนเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการ ส่วนที่สอง เป็นงบประมาณของจังหวัดจัมบีซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าจ้างคนงานท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการขุดค้น-ขุดแต่ง

          -พิพิธภัณฑสถานซิกินไจ เป็นพิพิธภัณฑสถานประจำเมืองจัดแสดงเรื่องราวของเมืองจัมบีด้านธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์เมือง วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ประเพณีท้องถิ่น แต่นักวิชาการส่วนใหญ่สนใจ ตู้จัดแสดง ๒ ตู้ที่แสดงโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานฯให้เปิดตู้เพื่อให้นักวิชาการได้ศึกษาและถ่ายรูปวัตถุ คือ ฆ้องที่มีอักษรจีน ซึ่งตรงกับการค้นคว้าศึกษาของ Dr. Tai Yew Sheng ผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องฆ้องที่มากับเรือจีนมาสู่ศรีวิชัย และ รูปเคารพสำริด ซึ่ง Dr. Amara Srisuchat วิเคราะห์ว่า บางองค์มีรูปแบบคล้ายกับที่พบที่แหล่งสทิงพระ จังหวัดสงขลา

          -นิทรรศการเรื่องศรีวิชัยที่ห้างสรรพสินค้าของเมืองจัมบี: เป็นแนวความคิดที่ดีในการนำนิทรรศการมาเผยแพร่ไว้ในห้างสรรพสินค้าแห่งใหญ่ที่สุดของเมือง และอยู่ตอนหน้าสุดเมื่อผ่านประตูเข้าห้างมาทีเดียว แม้จะเป็นนิทรรศการเล็กๆ จัดแสดงเรื่องราวด้วยภาพ หุ่นจำลองและเนื้อหาบรรยายภาษาอินโดนีเซียและภาษาอังกฤษ ไม่มีของจริงเลย แต่คำบรรยายและเนื้อหาดีมาก ภาษาอังกฤษที่ใช้สละสลวยและเป็นวิชาการที่เข้าใจง่าย ทำให้เข้าใจในแนวคิดรวมของศรีวิชัยได้ทั้งหมด และเชิดชูเกียรติบุคคลของอินโดนีเซียผู้บุกเบิกศึกษาเรื่องศรีวิชัยด้วย  ข้อบกพร่องมีเพียงว่า ไม่มีแผ่นพับนำชมนิทรรศการที่บรรจุเนื้อหาย่อๆหรือหนังสือประกอบนิทรรศการที่มีเนื้อหาการจัดแสดงอันน่าสนใจและดีมากครั้งนี้

 

๑๐. ข้อเสนอแนะของกิจกรรม

          ๑. การบริหารจัดการในการจัดประชุมสัมมนา: คณะกรรมการจัดการประชุมสัมมนา (Organizing Committee of the International Seminar)ซึ่งมีศูนย์กลางการดำเนินการจากหน่วยงานที่เรียกว่า Pusat Arkeologi Nasional (Centre of National Archaeology of

Indonesia) เป็นหน่วยงานกลางในการรับผิดชอบงานโบราณคดีทั้งหมดในประเทศอินโดนีเซีย แม้จะได้เตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานานและแจ้งการเชิญล่วงหน้า ตลอดจนให้ระยะเวลาของวิทยากรหรือผู้ที่จะมาบรรยายมากพอที่จะเตรียมการจัดทำบทคัดย่อ และเอกสารฉบับเต็มประกอบการประชุมสัมมนา แต่ในการประชุมสัมมนามีเพียงบทคัดย่อที่รวมพิมพ์พร้อมกำหนดการ รายนามและสถานที่ติดต่อของวิทยากรเท่านั้น บทความฉบับเต็มส่วนใหญ่มาจากวิทยากรต่างประเทศ ส่วนที่ขาดไปคือ บทความฉบับเต็มของนักวิชาการอินโดนีเซียซึ่งนำเสนอการบรรยายถึง ๑๒ คน แต่มีบทความวิชาการฉบับเต็มเพียง ๒ คนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว ในที่ประชุมสัมมนานักวิชาการบางคนยังนำเสนอการบรรยาย หรือการตอบคำถามและอภิปราย เป็นภาษาอินโดนีเซียด้วย บางครั้งผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายแปลสรุปให้บ้าง บางครั้งไม่แปลเลย ทำให้นักวิชาการต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาอินโดนีเซีย ไม่อาจมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนสำคัญว่า การจัดประชุมนานาชาติที่มีนักวิชาการต่างชาติหรือชาวต่างชาติร่วมอยู่ด้วย และใช้ชื่อการสัมมนาว่า “International Seminar”และระบุว่าภาษาที่ใช้ในการสัมมนาคือ “ภาษาอังกฤษ” ก็ไม่ควรยอมให้มีการนำเสนอบทความเป็นภาษาท้องถิ่นหรือภาษาอื่นใด โดยปราศจากการแปลความหรือจัดหาการแปลอย่างจริงจังให้กับที่ประชุมฯ แม้ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะเป็นชาวท้องถิ่นของประเทศผู้จัดก็ตาม

          ๒.การให้ผู้ดำเนินการอภิปรายแต่ละหัวข้อในแต่ละsessionเป็นนักวิชาการอินโดนีเซียทั้งหมด ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่น่ายกย่องของการทำงานวิชาการของฝ่ายจัดการประชุมสัมมนานานาชาติของอินโดนีเซีย เพราะแสดงความสง่างามทางวิชาการและการสื่อสารระดับสากลที่ให้ชาติตะวันตกยอมรับ การสัมมนานานาชาติในบางประเทศมักเชิญชาวต่างชาติที่สันทัดภาษามาเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ซึ่งย่อมจะแสดงความอ่อนด้อยของนักวิชาการประเทศตน

          ๓. การประชุมสัมมนาครั้งนี้มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ผู้จัดให้นักวิชาการแต่ละท่านบรรยายเพียง ๒๐ นาทีและควบคุมเวลาอย่างเข้มงวด การบรรยายในsessionวันแรก แน่นมากเกินไป ขณะที่วันที่ ๒ หลวมมากเกินไป ควรปรับให้สมดุล ควรย้ายบาง topic ของ session วันแรกมาอยู่วันที่ ๒ เพื่อได้มีช่วงเวลาการซักถามมากยิ่งขึ้น และไม่ให้ผู้ฟังอ่อนล้าในการรับฟังมากเกินไปในวันแรก

๔. เนื้อหาที่ผู้นำเสนอในการบรรยายในที่ประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีทั้งการประมวลข้อมูลเดิม การนำเสนอข้อมูล/ความรู้ใหม่ๆ/การตีความ แปลความหมายใหม่ๆ จึงน่าสนใจมาก เมื่อเวลาจำกัดผู้บรรยายบางคนที่มีเนื้อหามาก จึงต้องตัดทอนหรือข้ามสิ่งที่ต้องการนำเสนอบางตอนไป หรือบรรยายอย่างรวดเร็วเกินไป หรือบรรยายไม่จบก็ต้องหยุดตามคำแจ้งของผู้ดำเนินการอภิปราย ถึงกระนั้น ข้อนี้ผู้จัดฯได้แจ้งล่วงหน้าถึงระยะเวลาที่กำหนดให้นำเสนอฯแล้ว ดังนั้นผู้ที่ได้รับเชิญให้บรรยายควรเตรียมการที่จะสามารถกระชับการบรรยายตามกำหนดเวลาให้ได้ และควรมีบทความฉบับเต็มประกอบเพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาฯ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มี  ผู้จัดได้จัดพิมพ์เฉพาะบทคัดย่อของแต่ละการบรรยายเท่านั้น (เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหากับนางอมรา ศรีสุชาติ ผู้แทนจากประเทศไทยที่ได้รับเชิญครั้งนี้ เพราะบรรยายกระชับ รักษาเวลาได้ดี และนำเสนอครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด จึงเป็นที่พึงพอใจของผู้ดำเนินการอภิปราย และ ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ทั้งยังส่งบทคัดย่อและบทความฉบับเต็มตามกำหนดเวลา และผู้จัดฯได้จัดพิมพ์บทความฉบับเต็มนี้แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทั้งหมด)

๕.ผู้จัดควรจัดพิมพ์บทความหรือสื่อการนำเสนอเพิ่มเติมหลังจากการประชุมสัมมนาแล้ว หรือแม้แต่ข้อคิดเห็นในการประชุมระดมความคิดก็ควรจัดพิมพ์ในลักษณะเอกสารที่เรียกว่า Proceedings of the International Seminar และเผยแพร่ จะทำให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี คณะผู้จัดฯครั้งนี้ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องนี้โดยทำสำเนาpower point presentation ของนักวิชาการผู้บรรยายทุกท่านแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาหลังการสัมมนาเสร็จสิ้นลง

          ๖.การศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดีเมารา จัมบี ฝ่ายจัดการฯ ควรจัดหานักวิชาการที่จะเป็นผู้สื่อสารทางภาษาให้นักวิชาการต่างชาติสามารถเข้าใจและสามารถซักถามได้ประจำตัวนักวิชาการต่างชาติแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม

          ๗. ควรมีเอกสารหรือหนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานและเอกสารนำชมนิทรรศการเป็นภาษาอังกฤษ

          ๘. เอกสารวิชาการที่ผู้จัดให้กับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาพอสมควร แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอินโดนีเซีย มีภาษาอังกฤษเพียงเล่มเดียวเท่านั้นคือนำชมแหล่งโบราณคดีเมารา จัมบี การจัดประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ ฝ่ายจัดการควรจัดเตรียมเอกสารที่เป็นภาษาที่ใช้ในการประชุมสัมมนา(ภาษาอังกฤษ)เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ไปในวงกว้าง

          หากประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่องใดๆในอนาคต ข้อคิดเห็นและเสนอแนะข้างต้นจากบทสรุปการไปร่วมการประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ในประเทศอินโดนีเซีย ควรได้รับการนำมาพิจารณาเพื่อจะนำมาบริหารจัดการและดำเนินการให้เหมาะสมและเป็นมาตรฐานสากลต่อไป

                                                  

 

นางอมรา ศรีสุชาติ

ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ

(ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุศิลปวัตถุ)

ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ

(จำนวนผู้เข้าชม 882 ครั้ง)


Messenger