เรื่อง วันพระราชทานธงชาติไทย
เรื่อง วันพระราชทานธงชาติไทย
ธงไทย เริ่มใช้ในสมัยใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ปรากฏแต่เพียงว่าในสมัยโบราณเมื่อถึงเวลาจัดทัพไปสงครามจะใช้ธงสีต่างๆ เป็นเครื่องหมายประจำกองทัพ หนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศสกล่าวว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีเรือรบของฝรั่งเศส ชื่อ “เลอร์ไวตูร์” ได้เดินเรือมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาและจะทำการยิงสลุตให้แก่ชาติไทยตามประเพณีของชาวยุโรป แต่ในขณะนั้นไทยเรายังไม่มีธงชาติ จึงนำเอาธงชาติฮอลิดดา (ฮอลันดา) ชักขึ้นที่ป้อมแทน ปรากฏว่าฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุตให้เหตุเพราะเคยเป็นอริกับฮอลิดดามาก่อน บังเอิญในขณะนั้นผ้าสีแดงเป็นผ้าที่หาง่าย ทางป้อมจึงนำเอาผ้าสีแดงมาทำเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วชักขึ้น นับแต่นั้นมาไทยจึงยึดเอาธงสีแดงเป็นธงประจำชาติ อีกทั้งจดหมายเหตุ เรื่อง ทูตไทยไปลังกาทวีปในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ก็กล่าวถึงในทำนองเดียวกันว่า ไทยใช้ธงแดงเป็นธงประจำชาติ
พระราชบัญญัติธงฉบับแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๓๔ (รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐) กำหนดธงต่างๆ ถึง ๑๓ ชนิด และได้กำหนดธงชาติไทยไว้เป็นที่แน่นอน เรียกว่า “ธงชาติสยาม” มีลักษณะเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดงล้วน ใช้สำหรับเรือกำปั่นและเรือของพ่อค้า ส่วนเรือหลวงนั้น ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงด้านบนมีจักร สำหรับชักท้ายเรือพระที่นั่ง พระราชบัญญัติธงได้รับการแก้ไขอีกหลายครั้งจนกระทั่งในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่าธงทุกอย่างควรมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย ประกอบกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไทยได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตร พระองค์ทรงดำรัสว่า การประกาศสงครามครั้งนี้นับเป็นความเจริญก้าวหน้าขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรที่จะมีสิ่งเตือนใจในภายภาคหน้า สิ่งนั้น คือ ธงชาติ และทรงเห็นว่าลักษณะธงที่แก้ไขแล้วนั้นยังสง่างามไม่เพียงพอ จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี ได้ทรงเลือกสีที่มีความหมายด้านความสามัคคีและมีความสง่างาม
ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเรียกว่า พระราชบัญญัติธงพุทธศักราช ๒๔๖๐ แก้ไขธงชาติสยามใหม่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ของขนาดธง อยู่ตรงกลาง มีแถบสีขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่งเป็น ๖ ของขนาดกว้าง ข้างละแถบ แล้วแถบสีแดงเท่ากับแถบสีขาว ให้เรียกธงอย่างนี้ว่า “ธงไตรรงค์”
ที่มา: เจียร สิทธิศุข, ประวัติธงชาติไทยและระเบียบการชักธงชาติ. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ, ๒๕๒๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 1112 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน