ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี
เรียบเรียงโดย นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
---------------------------------
การนำเสนอข้อมูลครั้งนี้ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาอาจจะยาวกว่าทุกครั้งที่เคยเรียบเรียง เนื่องจากเป็นการประมวลข้อมูลเพื่อให้เห็นทั้งภาพกว้างและรายละเอียด ซึ่งครั้งนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมค่อนข้างมาก รวมถึงมีศัพท์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ศิลปะตลอดทั้งเนื้อหา ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านค่อยๆทำความเข้าใจและดูภาพประกอบตาม คิดว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำมาบอกเล่าในวันนี้คงไม่ยากเกินที่ผู้อ่านทุกท่านจะทำความเข้าใจได้แน่นอน และเรื่องราวที่จะนำเสนอในวันนี้ คือ “ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี”
สุโขทัยและล้านนา คือ สองอาณาจักรยิ่งใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงและสถาปนาขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สุโขทัยสถาปนาขึ้นก่อนในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนล้านนาสถาปนาต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ทั้งสองอาณาจักรมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งในแบบมิตรภาพช่วยเหลือและเป็นคู่แข่งทางการเมืองตามวิถีการก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาหลงเหลือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีจวบจนปัจจุบันสะท้อนออกมาในรูปแบบผังเมือง สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯ
ครั้งนี้เราจะมาลองคลี่ร่องรอยหลักฐานและแนวคิดของสุโขทัย ที่ทิ้งไว้ในพื้นที่ล้านนา ว่ามีอะไร และปรากฏที่ใดบ้าง
ก่อนอื่นถ้าลองลิสต์เรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ของล้านนามาคร่าวๆ เราพอจะเห็นกรอบความสัมพันธ์ว่าล้านนากับสุโขทัยสัมพันธ์ในเรื่องใด ห้วงเวลาใด
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังรายว่าได้เชิญพญางำเมืองกับพญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง) มาให้คำปรึกษาในการสร้างเมือง
ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึง พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาจำพรรษาที่เชียงใหม่เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงท้าวยี่กุมกามพาพระยาไสลือไทเข้ามาตีเอาเมืองเชียงใหม่จากพญาสามฝั่งแกน แต่ไม่สำเร็จ
ส่วนหลักฐานเชิงประจักษ์ อะไรคืออัตลักษณ์แห่งสุโขทัยที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ความเป็นสุโขทัยได้มาตั้งมั่นอยู่ในที่ต่างๆของล้านนาแล้ว
เท่าที่ผู้เขียนพอจะวิเคราะห์ได้ อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยที่เด่นชัดในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประกอบด้วยสิ่งดังนี้
1.เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์
2.บัวถลา (องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเจดีย์)
3.เจดีย์ช้างล้อม
4.มณฑป
5.การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักที่น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดของสุโขทัยที่ปรากฏในล้านนา คือ รูปแบบผังเมืองที่เมืองที่เชียงใหม่อาจได้รับอิทธิพลการวางผังเมืองและระบบน้ำจากสุโขทัย
จากการเปรียบเทียบผังเมืองเชียงใหม่และสุโขทัย พบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมีนัยยะทั้งในเรื่องรูปแบบ แผนผังและขนาด โดยพบว่าผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยทิศตะวันตกของเมืองเป็นภูเขา มีการชักน้ำจากเขาด้านตะวันตกมาสัมพันธ์กับเมือง เมืองสุโขทัยมีการวางระบบชลประทานด้วยการสร้างคันดินกั้นระหว่างเขาเกิดเป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำที่เรียกกันว่า สรีดภงส์ น้ำจากสรีดภงส์ไหลเข้าสู่คูเมืองสุโขทัยบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้นชักน้ำจากดอยสุเทพผ่านห้วยแก้วมาเข้าคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือแจ่งหัวลิน ทั้งสองเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สุโขทัยมีบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เป็นทำนบ 3 ด้าน ระบบชลประทานเหล่านี้ของสุโขทัยน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดังปรากฏคำจารึกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ (พ.ศ.1835) ว่า “เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏี พิหาร ปู่ครูอยู่ มี สรีดภงส์...” ถ้าดูในส่วนของเมืองเชียงใหม่จะพบว่าแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 แสดงตำแหน่งสระขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หนองบัว” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเมือง สอดคล้องกับเนื้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงชัยมงคลข้อหนึ่งในการสร้างเมืองที่เป็นหนองน้ำใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ด้านขนาดพบว่าทั้งสองเมืองมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเมืองเชียงใหม่มีขนาดกว้างด้านละประมาณ 1,600 เมตร ส่วนเมืองสุโขทัย กว้าง 1,400 เมตร ยาว 1,810 เมตร เมื่อเทียบเวลาการครองราชย์และช่วงเวลาสร้างเมืองพบว่าพญาร่วงครองราชย์ปี 1822 โดยเวลานั้นมีการย้ายเมืองจากบริเวณวัดพระพายหลวงมาเป็นเมืองสุโขทัยที่มีผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่นี้แล้ว โดยเมืองเชียงใหม่ถูกการสถาปนาขึ้นให้หลังไปอีกเล็กน้อยในปี 1839 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองเชียงใหม่อาจได้รับรูปแบบการวางผังเมืองจากสุโขทัย (ในประเด็นนี้ได้มีการเสนอแนวคิดใหม่ในปัจจุบันว่า อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผังเมืองเชียงใหม่จะได้รับอิทธิพลจากทางพม่าหรือจีนด้วยอีกทาง)
มาสู่เรื่องหลักฐาน รูปแบบ องค์ประกอบเจดีย์ของสุโขทัย ที่ปรากฏตามที่ต่างๆของล้านนา อัตลักษณ์แรกของสุโขทัยที่จะหยิบยกมากล่าว คือ “เจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์” ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ชนิดที่ว่าไปอยู่ที่ไหน เหมือนมีเสียงตามสายประกาศว่า สุโขทัยมาแล้วจ้า
ในล้านนาพบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งหมด 4 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง ซึ่งเป็นวัดร้างนอกประตูเมืองเชียงใหม่ทิศใต้ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ เจดีย์ประจำมุมของวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ และเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน ปัจจุบันปรากฏสภาพหลงเหลือเพียง 2 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง และเจดีย์วัดพระเจ้าดำ
เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ คืองานรังสรรค์ออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของสุโขทัย เพราะเป็นการนำของเก่า คือ องค์ประกอบของปราสาทขอม ล้านนา ผสมผสานเข้ากับการออกแบบใหม่ การนำฐานบัวลูกแก้วอกไก่แบบล้านนา ต่อด้วยฐานบัวลูกฟักแบบขอม เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุแบบขอมที่บีบให้สูงเพรียวประดับด้วยกลีบขนุนที่มุม คือการนำอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมประยุกต์และผนวกเข้ากับส่วนยอดที่เป็นองค์ระฆังแบบดอกบัวตูมซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ ทำให้เกิดเป็นเจดีย์รูปแบบใหม่ต่างจากเจดีย์ทุกแบบที่มีในโลก ทั้งนี้เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ในล้านนาที่มีความเหมือนกับต้นแบบในเมืองสุโขทัยมากที่สุด คือ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ โดยมีสัดส่วนและระเบียบเหมือนกับที่มีในสุโขทัย ประกอบกับการพบกำแพงแก้วล้อมรอบวัดเป็นลักษณะเสาระเนียด แบบเดียวกันกับที่ปรากฏที่เมืองศรีสัชนาลัยที่วัดช้างล้อม ต่างเพียงเสาระเนียดของวัดช้างล้อมสร้างด้วยศิลาแลง แต่วัดพระเจ้าดำสร้างด้วยอิฐหน้าวัวก่อเรียงขึ้นรูปเป็นเสากลม จึงกล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้มีความเป็นสุโขทัยอย่างแท้จริง ในส่วนเจดีย์วัดธาตุกลางนั้น มีลักษณะที่กลายไปจากต้นแบบพอสมควร คือ เหนือเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังแทนที่จะเป็นลักษณะดอกบัวตูมตามแบบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ และเหนือองค์ระฆังมีบัลลังค์ในผังกลม ซึ่งตามระเบียบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ส่วนเจดีย์อีกสององค์ที่ไม่ปรากฏสภาพในปัจจุบันแต่ทราบได้จากภาพถ่ายเก่าคือเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน และเจดีย์ประจำมุมวัดสวนดอก ซึ่งถูกก่อครอบในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อพิจารณาถึงอายุสมัยและเนื้อหาประวัติศาสตร์พบว่า เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนรัชสมัยพระเจ้าลิไท ของสุโขทัย เนื่องจากปรากฏข้อความในจารึกเขาสุมนกูฎ ที่ระบุว่าพระยาลิไทเสด็จไปปิดทองพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.1912 แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นรูปแบบหลักของเจดีย์ประธานช่วงสมัยพระเจ้าลิไท ในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการแพร่เข้ามาของอิทธิพลสุโขทัยในล้านนา คือ การที่พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย มาประดิษฐานศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้รูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในช่วงเวลานี้
อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยลำดับสองที่จะขอกล่าวถึง คือ “บัวถลา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มักจะพบในเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย มีลักษณะอย่างไร
เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีรูปแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยฐานเขียงผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและต่อด้วยบัวคว่ำซ้อนกันหรือที่เรียกว่าบัวถลาซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังมีขนาดใหญ่ ส่วนบนเป็นปล้องไฉนและปลียอด ในล้านนามีการนำองค์ประกอบสำคัญในเจดีย์สุโขทัยมาประยุกต์ใช้กับเจดีย์ล้านนา คือ การนำบัวถลา (ชุดบัวคว่ำ) มารองรับองค์ระฆังแทนชุดบัวคว่ำ-หงาย
เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยที่เหมือนกับต้นแบบในสุโขทัยที่สุดที่พบในล้านนา คือ กู่ม้า จังหวัดลำพูน โดยเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่อยู่บนฐานเขียงแบบเรียบง่าย องค์เจดีย์รองรับด้วยบัวถลาซ้อน 3 ชั้น กู่ม้านี้กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 จากการเทียบเคียงกับเครื่องถ้วยล้านนาจากการขุดทางโบราณคดีในพื้นที่ เมื่อพิจารณาร่วมกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่ากู่ม้าอาจสร้างขึ้นในคราวที่พระสุมนเถระพำนักอยู่ที่เมืองลำพูนก่อนจะไปจำพรรษายังเมืองเชียงใหม่ อีกแห่งคือเจดีย์วัดป่าแดงบุนนาค จังหวัดพะเยา วัดแห่งนี้พบจารึกระบุผู้สร้างคือพญาร่วง ซึ่งน่าจะหมายถึง พญายุธิษฐิระ ที่มาจากเมืองสองแควมาสวามิภักดิ์ต่อพญาติโลกราชและได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองพะเยา ภายในเจดีย์พบพระพุทธรูปที่ระบุว่าสร้างปี 2019 หลักฐานดังกล่าวจึงยืนยันถึงอิทธิพลสุโขทัยที่มีอย่างต่อเนื่องในต้นพุทธศตวรรษที่ 21
การปรากฏของบัวถลาในล้านนาในเวลาต่อมาเริ่มมีการนำส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นบัวถลาผสมผสานเข้ากับชุดฐานบัวแบบล้านนา ดังปรากฏในเจดีย์กลุ่มเมืองลำปาง อาทิ เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่น่าจะกำหนดอายุได้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ตามหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงการบูรณะพระธาตุลำปางหลวงในปี 2019 และเจดีย์วัดพระแก้วดอนเต้า ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบดูว่าการนำบัวถลาไปเป็นองค์ประกอบเจดีย์ทรงระฆังปรากฏอยู่ที่พื้นที่ใดของล้านนามากที่สุด พบว่าเชียงใหม่คือพื้นที่ที่ปรากฏบัวถลาในเจดีย์มากที่สุด อาทิ บัวถลาในผังกลม ที่วัดป่าพร้าวใน วัดหนองหล่ม วัดแสนตาห้อย วัดกลางเวียง (เวียงท่าท่ากาน) / บัวถลา 8 เหลี่ยม วัดเชษฐา วีดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น วัดป่าอ้อย วัดอุโมงค์อารยมณฑล / บัวถลา 12 เหลี่ยม พระธาตุดอยสุเทพ วัดชมพู วัดหมื่นพริก วัดหัวข่วง วัดต้นโพธิ์ (เวียงท่ากาน) ฯ ในส่วนของบัวถลาที่ปรากฏในเจดีย์พื้นที่เมืองแพร่นั้น เป็นกรณีพิเศษแยกออกมากล่าวถึงเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีการสร้างรูปแบบเป็นลักษณะโดดเด่นเฉพาะตน โดยขอหยิบยกเจดีย์พระธาตุช่อแฮมาเป็นกรณีศึกษา
พระธาตุช่อแฮมีความเป็นสุโขทัยปรากฏในการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลา ส่วนความเป็นล้านนา คือ การทำส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม หากพิจารณาถึงหลักฐานการมีขึ้นของเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม พบว่าเกิดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สมัยพระเจ้าติโลกราช ปรากฏที่เจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้หากทบทวนการเกิดขึ้นของรูปแบบเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ที่รัตนเจดีย์ เมืองหริภุญชัย(ลำพูน)ก่อน จากนั้นจึงมาปรากฏหลักฐานในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ที่เจดีย์อินทขิล เชียงใหม่ และมาปรากฏหลักฐานอีกครั้งที่อนิมิสเจดีย์ หนึ่งในสัตมหาสถานของวัดเจ็ดยอดในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงค่อนข้างแน่ชัดว่ารูปแบบการสร้างเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมเกิดขึ้นบริเวณล้านนาฝั่งตะวันตก (แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน) แต่สิ่งที่เมืองแพร่ปรับปรุงให้มีความเป็นเฉพาะตนคือ การมีหน้ากระดานของชุดบัวถลาแต่ละชุดมีขนาดใหญ่กว่าบัวถลาค่อนข้างมาก บัวถลาในผังแปดเหลี่ยมของวัดพระธาตุช่อแฮ (และในเมืองแพร่) มีพัฒนาการต่อเนื่องจากบัวถลาซ้อน 7 ชั้น สู่ 10 ชั้น ที่เจดีย์วัดพระธาตุจอมแจ้ง ส่วนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่พบการทำชั้นบัวถลาเพียง 3 – 5 ชั้น จึงกล่าวได้ว่าเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมซ้อน 7 – 10 ชั้น เป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์เมืองแพร่ที่ผนวกทั้งความเป็นสุโขทัย ล้านนาฝั่งตะวันตก และความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้เขียนมีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งเกี่ยวกับการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแบบต่างๆ ว่าตั้งแต่ช่วงพญาสามฝั่งแกน – พญาติโลกราช (กลางพุทธศตวรรษที่ 20 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) รูปแบบเจดีย์น่าจะเป็นเรื่องสำคัญของสังคมสงฆ์ในเวลานั้นที่ค่อนข้างแบ่งฝักฝ่าย แต่ละนิกายจึงต้องมีรูปแบบทางศิลปกรรมของตนเองที่ชัดเจนและพยายามรักษารูปแบบของตนเองเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของนิกาย เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน เจดีย์แบบดั้งเดิมที่นิยมในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน เชียงแสน คือเจดีย์ทรงทรงปราสาท (เจดีย์กู่กุด เจดีย์เชียงยืน เจดีย์วัดธาตุเขียว เจดีย์วัดป่าสัก เจดีย์กู่คำ) โดยมีการปรากฏขึ้นของเจดีย์ทรงกลมที่เก่าแก่ที่สุดคือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ในพุกามที่เป็นศิลปะลังกา คือ เจดีย์ฉปัฏ ที่สร้างขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถ้าพิจารณาตามนี้จะเห็นว่ารูปแบบเจดีย์ในนิกายพื้นเมืองเดิมก่อนการเข้ามาของพระสุมนเถระ คือ เจดีย์แบบปราสาทยอดที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากหริภุญชัย และเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาที่ได้รับมาจากพุกาม ซึ่งอย่างหลังนี้ได้ถูกพัฒนาต่อโดยการรักษาส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายไว้ แต่ดัดแปลงเปลี่ยนเส้นลูกแก้วทั้งสองเส้นที่คาดที่ท้องไม้ชุดบัวไปเป็นลูกแก้วอกไก่ และเปลี่ยนจากฐานเขียงไปเป็นชุดฐานบัวสองฐานในผังยกเก็จ ซึ่งรูปแบบนี้มีระเบียบสมบูรณ์ครั้งแรกในเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเจดีย์ที่เป็นจุดเปลี่ยนทางรูปแบบที่สำคัญ คือ เจดีย์วัดป่าแดง และเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า พญาติโลกราชเลือกสร้างเจดีย์วัดป่าแดง (พ.ศ.1991) ให้มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเป็นบัวถลาและฐานมีช้างล้อมแทนที่จะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เพราะเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา ซึ่งสองพระองค์น่าจะอุปถัมป์สงฆ์นิกายวัดสวนดอก(ลังกาวงศ์สายรามัญ) ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยพญากือนา และพญาติโลกราชน่าจะมองเห็นว่าบัวถลาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับลังกา (พอๆกับการทำประติมากรรมช้างล้อม) พญาติโลกราชจึงเก็บบัวถลาไว้เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับนิกายที่พระองค์อุปถัมป์เป็นพิเศษ คือนิกายวัดป่าแดงที่เป็นลังกาวงศ์สายใหม่ โดยจะเห็นการผสมผสานองค์ประกอบสำคัญในรัชสมัยพระองค์คือ การสร้างประติมากรรมช้างล้อมรอบฐานเจดีย์ทรงปราสาท อาทิ เจดีย์วัดป่าแดง เจดีย์หลวง เจดีย์วัดเชียงมั่น ซึ่งเดิมก่อนหน้าสมัยพระเจ้าติโลกราชพบหลักฐานการทำช้างล้อมปรากฏเฉพาะกับเจดีย์องค์ระฆัง อาทิ เจดีย์วัดสวนดอก (เชียงใหม่) และพระธาตุช้างค้ำ (น่าน) นอกจากนั้นยังผนวกบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมเหนือหลังคาลาดของเรือนธาตุ ดังนั้นบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมจึงน่าจะริเริ่มและเป็นที่นิยมขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช พร้อมๆกับความซบเซาลงของเจดีย์ทรงระฆังที่มีบัวถลาในผังกลมที่อาจเป็นตัวแทนของนิกายวัดสวนดอก และเจดีย์ทรงระฆังกลมแบบล้านนา(แบบหริภุญชัย) ที่น่าจะสัมพันธ์กับนิกายพื้นเมืองเดิมที่มีรูปแบบสืบมาตั้งแต่เจดีย์วัดอุโมงค์
คราวนี้มากล่าวถึงอีกหนึ่งอัตลักษณ์ ที่ปรากฏที่ไหนก็ต้องคิดถึงสุโขทัยอยู่ร่ำไป “เจดีย์ช้างล้อม”
ปัจจุบันในล้านนาพบเจดีย์ช้างล้อมทั้งหมด 13 องค์ จาก 7 พื้นที่ คือ เมืองเชียงใหม่ สบแจ่ม แม่อาย เวียงกุมกาม เมืองเชียงแสน เมืองแพร่ และเมืองน่าน ที่พบในเมืองเชียงใหม่ประกอบด้วย เจดีย์วัดป่าแดงหลวง เจดีย์หลวง เจดีย์วัดเชียงมั่น เจดีย์วัดพระสิงห์ เจดีย์วัดสวนดอก ที่พบในเวียงกุมกาม ประกอบด้วยเจดีย์วัดหัวหนองและเจดีย์วัดช้างค้ำ ที่เมืองเชียงแสน ประกอบด้วยเจดีย์วัดช้างค้ำและเจดีย์วัดภูข้าว ที่เมืองน่าน คือ เจดีย์วัดช้างค้ำ เมืองแพร่ คือ เจดีย์วัดหลวง ส่วนเจดีย์ช้างค้ำสององค์ที่พบใหม่ล่าสุดของล้านนา คือ เจดีย์วัดช้างค้ำ ที่แหล่งโบราณคดีสบแจ่ม ซึ่งเป็นบริเวณที่ลำน้ำแจ่มสบกับลำน้ำปิงในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งโบราณคดีนี้ยังพบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีความเหมือนกับของสุโขทัยที่สุด ทำให้พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามว่า “สุโขทัยน้อยแห่งล้านนา” และเจดีย์ช้างล้อมอีกแห่ง คือ วัดส้มสุก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าจากทั้งหมดนี้พบการทำช้างล้อมคู่กับการทำบัวถลารองรับองค์ระฆังถึง 6 แห่ง คือ เจดีย์วัดป่าแดง เจดีย์หลวง(เชียงใหม่) เจดีย์วัดเชียงมั่น เจดีย์วัดช้างค้ำ(น่าน) เจดีย์วัดหลวง(แพร่) และเจดีย์วัดส้มสุก(เชียงใหม่) นอกนั้นคือเจดีย์วัดสวนดอกและวัดพระสิงห์ ส่วนรองรับองค์ระฆังไม่ใช่บัวถลาแบบสุโขทัยแต่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายในผังกลมแบบล้านนา และเจดีย์อื่นๆไม่ปรากฏส่วนที่จะสันนิษฐานรูปแบบของส่วนรองรับองค์ระฆังได้
ออกจากเรื่องเจดีย์ มาเข้าสู่อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ ที่สะท้อนถึงความเป็นสุโขทัย “มณฑป”
มณฑป คือ อาคารที่มีผังเป็นรูปที่เหลี่ยม ภายในมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนขึ้นไป เชื่อกันว่ามณฑปหมายถึง คันธกุฎี สถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าขณะยังพระชนม์ชีพ
มณฑปท้ายวิหารโถงที่วัดพระธาตุภูเข้า อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีองค์ประกอบที่แสดงถึงอิทธิพลแบบสุโขทัย เหนือเรือนธาตุเป็นชั้นหลังคาลาด หลังคาเป็นชั้นซ้อน รูปแบบมณฑปที่มีหลังคาเช่นนี้พบโดยทั่วไปในศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัย เช่น มณฑปวัดกุฏีราย มณฑปวัดสวนแก้วอุทยานน้อย อายุสมัยการสร้างมณฑปแบบหลังคาซ้อนชั้นนี้ไม่อาจกำหนดอายุจากรูปแบบได้มากนัก แต่หลักฐานจากการขุดค้นที่วัดสระปทุม ศรีสัชนาลัย ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระธาตุภูเข้า พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง จึงกำหนดอายุที่ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทั้งนี้มณฑปในล้านนาอาจมิใช่การรับอิทธิพลจากสุโขทัยเพียงสายเดียว แต่อาจเป็นการรับรูปแบบจากพุกามในอีกทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากมณฑปของวัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน กับมณฑปวัดล่ามช้าง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีระบบเสาแกนกลางรับน้ำหนักแบบศิลปะพม่าที่พุกาม
และร่องรอยสุดท้ายของสุโขทัยในล้านนาที่นำมาบอกเล่าในวันนี้ คือ การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน ในเมืองสุโขทัยพบหลักฐานคูน้ำล้อมศาสนสถานแทบทุกแห่ง คูน้ำนี้อาจเป็นสัญลักษณ์แทนมหานทีสีทันดรที่ล้อมเขาพระสุเมรุที่เหนือขึ้นไปเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์จุฬามณี ที่มีเจดีย์ประธานของวัดเป็นตัวแทน และอาจเป็นประโยชน์ในเชิงการกักเก็บและจัดการน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่ จากการศึกษาพบว่าวัดในล้านนาแทบจะไม่ปรากฏการทำคูน้ำล้อมรอบวัด มีเพียงสองแห่งที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คือ วัดเสาหิน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่มีการขุดคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำคูน้ำล้อมเป็นเขตของวัดในล้านนาว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพระสุมนเถระมาจำพรรษที่เมืองเชียงใหม่ เห็นได้จากวัดสวนดอกที่พระสุมนเถระจำพรรษามีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ คือ เป็นวัดที่มีคูน้ำ-คันดินล้อมรอบ มีเจดีย์วัดสวนดอกเป็นประธานกลางพื้นที่ จึงกล่าวได้ว่าเวียงสวนดอกนี้คือการรับอิทธิพลแนวคิดในการสร้างศาสนสถานโดยการสถาปนาเป็นพื้นที่ศักด์สิทธิ์ตามคติจักรวาลวิทยาที่ได้มาจากสุโขทัย แนวคิดนี้น่าจะมีการขยายและนำไปปรับใช้ในระยะเวลาต่อๆมาในล้านนา ดังจะเห็นได้ว่าในล้านนามีศาสนสถานหลายแห่งที่มีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ ที่สร้างศาสนสถานบนเนินหรือยอดเขาโดยมีการขุดคูล้อมรอบ จำนวนตั้งแต่ 1-3 คูคันดิน
และที่นำมาบอกเล่าในวันนี้ คือภาพรวมของร่องรอยความเป็นสุโขทัยในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และแนวคิดการก่อสร้างต่างๆที่ปรากฏในล้านนา ที่ผู้เขียนพยายามเรียบเรียงนำมาบอกเล่าให้กระชับที่สุดด้วยเกรงว่าผู้อ่านจะเบื่อหน่ายเนื่องด้วยมีเรื่องราวรูปแบบและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในรายละเอียดพอสมควร ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ยังไม่กระจ่างและต้องการการอธิบายเพิ่มเติม ขอผู้อ่านพิมพ์ข้อคำถามทิ้งไว้ใต้การนำเสนอนี้ได้ ผู้เขียนจักได้ตอบเพื่อความเข้าใจของทุกท่านยิ่งขึ้น และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามการนำเสนอองค์ความรู้ของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เสมอมา
-----------------------------------
สุดท้ายนี้อยากจะขอฝากติดตามชม การบรรยายทางวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง "ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี" โดย นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ผ่านทาง Facebook live เพจ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เรื่อง ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี
เรียบเรียงโดย นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
---------------------------------
การนำเสนอข้อมูลครั้งนี้ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาอาจจะยาวกว่าทุกครั้งที่เคยเรียบเรียง เนื่องจากเป็นการประมวลข้อมูลเพื่อให้เห็นทั้งภาพกว้างและรายละเอียด ซึ่งครั้งนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมค่อนข้างมาก รวมถึงมีศัพท์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ศิลปะตลอดทั้งเนื้อหา ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านค่อยๆทำความเข้าใจและดูภาพประกอบตาม คิดว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำมาบอกเล่าในวันนี้คงไม่ยากเกินที่ผู้อ่านทุกท่านจะทำความเข้าใจได้แน่นอน และเรื่องราวที่จะนำเสนอในวันนี้ คือ “ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี”
สุโขทัยและล้านนา คือ สองอาณาจักรยิ่งใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงและสถาปนาขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สุโขทัยสถาปนาขึ้นก่อนในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนล้านนาสถาปนาต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ทั้งสองอาณาจักรมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งในแบบมิตรภาพช่วยเหลือและเป็นคู่แข่งทางการเมืองตามวิถีการก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาหลงเหลือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีจวบจนปัจจุบันสะท้อนออกมาในรูปแบบผังเมือง สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯ
ครั้งนี้เราจะมาลองคลี่ร่องรอยหลักฐานและแนวคิดของสุโขทัย ที่ทิ้งไว้ในพื้นที่ล้านนา ว่ามีอะไร และปรากฏที่ใดบ้าง
ก่อนอื่นถ้าลองลิสต์เรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ของล้านนามาคร่าวๆ เราพอจะเห็นกรอบความสัมพันธ์ว่าล้านนากับสุโขทัยสัมพันธ์ในเรื่องใด ห้วงเวลาใด
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังรายว่าได้เชิญพญางำเมืองกับพญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง) มาให้คำปรึกษาในการสร้างเมือง
ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึง พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาจำพรรษาที่เชียงใหม่เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงท้าวยี่กุมกามพาพระยาไสลือไทเข้ามาตีเอาเมืองเชียงใหม่จากพญาสามฝั่งแกน แต่ไม่สำเร็จ
ส่วนหลักฐานเชิงประจักษ์ อะไรคืออัตลักษณ์แห่งสุโขทัยที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ความเป็นสุโขทัยได้มาตั้งมั่นอยู่ในที่ต่างๆของล้านนาแล้ว
เท่าที่ผู้เขียนพอจะวิเคราะห์ได้ อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยที่เด่นชัดในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประกอบด้วยสิ่งดังนี้
1.เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์
2.บัวถลา (องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเจดีย์)
3.เจดีย์ช้างล้อม
4.มณฑป
5.การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักที่น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดของสุโขทัยที่ปรากฏในล้านนา คือ รูปแบบผังเมืองที่เมืองที่เชียงใหม่อาจได้รับอิทธิพลการวางผังเมืองและระบบน้ำจากสุโขทัย
จากการเปรียบเทียบผังเมืองเชียงใหม่และสุโขทัย พบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมีนัยยะทั้งในเรื่องรูปแบบ แผนผังและขนาด โดยพบว่าผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยทิศตะวันตกของเมืองเป็นภูเขา มีการชักน้ำจากเขาด้านตะวันตกมาสัมพันธ์กับเมือง เมืองสุโขทัยมีการวางระบบชลประทานด้วยการสร้างคันดินกั้นระหว่างเขาเกิดเป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำที่เรียกกันว่า สรีดภงส์ น้ำจากสรีดภงส์ไหลเข้าสู่คูเมืองสุโขทัยบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้นชักน้ำจากดอยสุเทพผ่านห้วยแก้วมาเข้าคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือแจ่งหัวลิน ทั้งสองเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สุโขทัยมีบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เป็นทำนบ 3 ด้าน ระบบชลประทานเหล่านี้ของสุโขทัยน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดังปรากฏคำจารึกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ (พ.ศ.1835) ว่า “เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏี พิหาร ปู่ครูอยู่ มี สรีดภงส์...” ถ้าดูในส่วนของเมืองเชียงใหม่จะพบว่าแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 แสดงตำแหน่งสระขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หนองบัว” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเมือง สอดคล้องกับเนื้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงชัยมงคลข้อหนึ่งในการสร้างเมืองที่เป็นหนองน้ำใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ด้านขนาดพบว่าทั้งสองเมืองมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเมืองเชียงใหม่มีขนาดกว้างด้านละประมาณ 1,600 เมตร ส่วนเมืองสุโขทัย กว้าง 1,400 เมตร ยาว 1,810 เมตร เมื่อเทียบเวลาการครองราชย์และช่วงเวลาสร้างเมืองพบว่าพญาร่วงครองราชย์ปี 1822 โดยเวลานั้นมีการย้ายเมืองจากบริเวณวัดพระพายหลวงมาเป็นเมืองสุโขทัยที่มีผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่นี้แล้ว โดยเมืองเชียงใหม่ถูกการสถาปนาขึ้นให้หลังไปอีกเล็กน้อยในปี 1839 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองเชียงใหม่อาจได้รับรูปแบบการวางผังเมืองจากสุโขทัย (ในประเด็นนี้ได้มีการเสนอแนวคิดใหม่ในปัจจุบันว่า อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผังเมืองเชียงใหม่จะได้รับอิทธิพลจากทางพม่าหรือจีนด้วยอีกทาง)
มาสู่เรื่องหลักฐาน รูปแบบ องค์ประกอบเจดีย์ของสุโขทัย ที่ปรากฏตามที่ต่างๆของล้านนา อัตลักษณ์แรกของสุโขทัยที่จะหยิบยกมากล่าว คือ “เจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์” ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ชนิดที่ว่าไปอยู่ที่ไหน เหมือนมีเสียงตามสายประกาศว่า สุโขทัยมาแล้วจ้า
ในล้านนาพบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งหมด 4 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง ซึ่งเป็นวัดร้างนอกประตูเมืองเชียงใหม่ทิศใต้ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ เจดีย์ประจำมุมของวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ และเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน ปัจจุบันปรากฏสภาพหลงเหลือเพียง 2 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง และเจดีย์วัดพระเจ้าดำ
เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ คืองานรังสรรค์ออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของสุโขทัย เพราะเป็นการนำของเก่า คือ องค์ประกอบของปราสาทขอม ล้านนา ผสมผสานเข้ากับการออกแบบใหม่ การนำฐานบัวลูกแก้วอกไก่แบบล้านนา ต่อด้วยฐานบัวลูกฟักแบบขอม เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุแบบขอมที่บีบให้สูงเพรียวประดับด้วยกลีบขนุนที่มุม คือการนำอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมประยุกต์และผนวกเข้ากับส่วนยอดที่เป็นองค์ระฆังแบบดอกบัวตูมซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ ทำให้เกิดเป็นเจดีย์รูปแบบใหม่ต่างจากเจดีย์ทุกแบบที่มีในโลก ทั้งนี้เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ในล้านนาที่มีความเหมือนกับต้นแบบในเมืองสุโขทัยมากที่สุด คือ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ โดยมีสัดส่วนและระเบียบเหมือนกับที่มีในสุโขทัย ประกอบกับการพบกำแพงแก้วล้อมรอบวัดเป็นลักษณะเสาระเนียด แบบเดียวกันกับที่ปรากฏที่เมืองศรีสัชนาลัยที่วัดช้างล้อม ต่างเพียงเสาระเนียดของวัดช้างล้อมสร้างด้วยศิลาแลง แต่วัดพระเจ้าดำสร้างด้วยอิฐหน้าวัวก่อเรียงขึ้นรูปเป็นเสากลม จึงกล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้มีความเป็นสุโขทัยอย่างแท้จริง ในส่วนเจดีย์วัดธาตุกลางนั้น มีลักษณะที่กลายไปจากต้นแบบพอสมควร คือ เหนือเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังแทนที่จะเป็นลักษณะดอกบัวตูมตามแบบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ และเหนือองค์ระฆังมีบัลลังค์ในผังกลม ซึ่งตามระเบียบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ส่วนเจดีย์อีกสององค์ที่ไม่ปรากฏสภาพในปัจจุบันแต่ทราบได้จากภาพถ่ายเก่าคือเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน และเจดีย์ประจำมุมวัดสวนดอก ซึ่งถูกก่อครอบในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อพิจารณาถึงอายุสมัยและเนื้อหาประวัติศาสตร์พบว่า เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนรัชสมัยพระเจ้าลิไท ของสุโขทัย เนื่องจากปรากฏข้อความในจารึกเขาสุมนกูฎ ที่ระบุว่าพระยาลิไทเสด็จไปปิดทองพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.1912 แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นรูปแบบหลักของเจดีย์ประธานช่วงสมัยพระเจ้าลิไท ในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการแพร่เข้ามาของอิทธิพลสุโขทัยในล้านนา คือ การที่พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย มาประดิษฐานศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้รูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในช่วงเวลานี้
อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยลำดับสองที่จะขอกล่าวถึง คือ “บัวถลา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มักจะพบในเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย มีลักษณะอย่างไร
เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีรูปแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยฐานเขียงผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและต่อด้วยบัวคว่ำซ้อนกันหรือที่เรียกว่าบัวถลาซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังมีขนาดใหญ่ ส่วนบนเป็นปล้องไฉนและปลียอด ในล้านนามีการนำองค์ประกอบสำคัญในเจดีย์สุโขทัยมาประยุกต์ใช้กับเจดีย์ล้านนา คือ การนำบัวถลา (ชุดบัวคว่ำ) มารองรับองค์ระฆังแทนชุดบัวคว่ำ-หงาย
เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยที่เหมือนกับต้นแบบในสุโขทัยที่สุดที่พบในล้านนา คือ กู่ม้า จังหวัดลำพูน โดยเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่อยู่บนฐานเขียงแบบเรียบง่าย องค์เจดีย์รองรับด้วยบัวถลาซ้อน 3 ชั้น กู่ม้านี้กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 จากการเทียบเคียงกับเครื่องถ้วยล้านนาจากการขุดทางโบราณคดีในพื้นที่ เมื่อพิจารณาร่วมกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่ากู่ม้าอาจสร้างขึ้นในคราวที่พระสุมนเถระพำนักอยู่ที่เมืองลำพูนก่อนจะไปจำพรรษายังเมืองเชียงใหม่ อีกแห่งคือเจดีย์วัดป่าแดงบุนนาค จังหวัดพะเยา วัดแห่งนี้พบจารึกระบุผู้สร้างคือพญาร่วง ซึ่งน่าจะหมายถึง พญายุธิษฐิระ ที่มาจากเมืองสองแควมาสวามิภักดิ์ต่อพญาติโลกราชและได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองพะเยา ภายในเจดีย์พบพระพุทธรูปที่ระบุว่าสร้างปี 2019 หลักฐานดังกล่าวจึงยืนยันถึงอิทธิพลสุโขทัยที่มีอย่างต่อเนื่องในต้นพุทธศตวรรษที่ 21
การปรากฏของบัวถลาในล้านนาในเวลาต่อมาเริ่มมีการนำส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นบัวถลาผสมผสานเข้ากับชุดฐานบัวแบบล้านนา ดังปรากฏในเจดีย์กลุ่มเมืองลำปาง อาทิ เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่น่าจะกำหนดอายุได้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ตามหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงการบูรณะพระธาตุลำปางหลวงในปี 2019 และเจดีย์วัดพระแก้วดอนเต้า ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบดูว่าการนำบัวถลาไปเป็นองค์ประกอบเจดีย์ทรงระฆังปรากฏอยู่ที่พื้นที่ใดของล้านนามากที่สุด พบว่าเชียงใหม่คือพื้นที่ที่ปรากฏบัวถลาในเจดีย์มากที่สุด อาทิ บัวถลาในผังกลม ที่วัดป่าพร้าวใน วัดหนองหล่ม วัดแสนตาห้อย วัดกลางเวียง (เวียงท่าท่ากาน) / บัวถลา 8 เหลี่ยม วัดเชษฐา วีดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น วัดป่าอ้อย วัดอุโมงค์อารยมณฑล / บัวถลา 12 เหลี่ยม พระธาตุดอยสุเทพ วัดชมพู วัดหมื่นพริก วัดหัวข่วง วัดต้นโพธิ์ (เวียงท่ากาน) ฯ ในส่วนของบัวถลาที่ปรากฏในเจดีย์พื้นที่เมืองแพร่นั้น เป็นกรณีพิเศษแยกออกมากล่าวถึงเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีการสร้างรูปแบบเป็นลักษณะโดดเด่นเฉพาะตน โดยขอหยิบยกเจดีย์พระธาตุช่อแฮมาเป็นกรณีศึกษา
พระธาตุช่อแฮมีความเป็นสุโขทัยปรากฏในการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลา ส่วนความเป็นล้านนา คือ การทำส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม หากพิจารณาถึงหลักฐานการมีขึ้นของเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม พบว่าเกิดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สมัยพระเจ้าติโลกราช ปรากฏที่เจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้หากทบทวนการเกิดขึ้นของรูปแบบเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ที่รัตนเจดีย์ เมืองหริภุญชัย(ลำพูน)ก่อน จากนั้นจึงมาปรากฏหลักฐานในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ที่เจดีย์อินทขิล เชียงใหม่ และมาปรากฏหลักฐานอีกครั้งที่อนิมิสเจดีย์ หนึ่งในสัตมหาสถานของวัดเจ็ดยอดในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงค่อนข้างแน่ชัดว่ารูปแบบการสร้างเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมเกิดขึ้นบริเวณล้านนาฝั่งตะวันตก (แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน) แต่สิ่งที่เมืองแพร่ปรับปรุงให้มีความเป็นเฉพาะตนคือ การมีหน้ากระดานของชุดบัวถลาแต่ละชุดมีขนาดใหญ่กว่าบัวถลาค่อนข้างมาก บัวถลาในผังแปดเหลี่ยมของวัดพระธาตุช่อแฮ (และในเมืองแพร่) มีพัฒนาการต่อเนื่องจากบัวถลาซ้อน 7 ชั้น สู่ 10 ชั้น ที่เจดีย์วัดพระธาตุจอมแจ้ง ส่วนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่พบการทำชั้นบัวถลาเพียง 3 – 5 ชั้น จึงกล่าวได้ว่าเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมซ้อน 7 – 10 ชั้น เป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์เมืองแพร่ที่ผนวกทั้งความเป็นสุโขทัย ล้านนาฝั่งตะวันตก และความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้เขียนมีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งเกี่ยวกับการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแบบต่างๆ ว่าตั้งแต่ช่วงพญาสามฝั่งแกน – พญาติโลกราช (กลางพุทธศตวรรษที่ 20 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) รูปแบบเจดีย์น่าจะเป็นเรื่องสำคัญของสังคมสงฆ์ในเวลานั้นที่ค่อนข้างแบ่งฝักฝ่าย แต่ละนิกายจึงต้องมีรูปแบบทางศิลปกรรมของตนเองที่ชัดเจนและพยายามรักษารูปแบบของตนเองเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของนิกาย เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน เจดีย์แบบดั้งเดิมที่นิยมในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน เชียงแสน คือเจดีย์ทรงทรงปราสาท (เจดีย์กู่กุด เจดีย์เชียงยืน เจดีย์วัดธาตุเขียว เจดีย์วัดป่าสัก เจดีย์กู่คำ) โดยมีการปรากฏขึ้นของเจดีย์ทรงกลมที่เก่าแก่ที่สุดคือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ในพุกามที่เป็นศิลปะลังกา คือ เจดีย์ฉปัฏ ที่สร้างขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถ้าพิจารณาตามนี้จะเห็นว่ารูปแบบเจดีย์ในนิกายพื้นเมืองเดิมก่อนการเข้ามาของพระสุมนเถระ คือ เจดีย์แบบปราสาทยอดที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากหริภุญชัย และเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาที่ได้รับมาจากพุกาม ซึ่งอย่างหลังนี้ได้ถูกพัฒนาต่อโดยการรักษาส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายไว้ แต่ดัดแปลงเปลี่ยนเส้นลูกแก้วทั้งสองเส้นที่คาดที่ท้องไม้ชุดบัวไปเป็นลูกแก้วอกไก่ และเปลี่ยนจากฐานเขียงไปเป็นชุดฐานบัวสองฐานในผังยกเก็จ ซึ่งรูปแบบนี้มีระเบียบสมบูรณ์ครั้งแรกในเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเจดีย์ที่เป็นจุดเปลี่ยนทางรูปแบบที่สำคัญ คือ เจดีย์วัดป่าแดง และเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า พญาติโลกราชเลือกสร้างเจดีย์วัดป่าแดง (พ.ศ.1991) ให้มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเป็นบัวถลาและฐานมีช้างล้อมแทนที่จะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เพราะเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา ซึ่งสองพระองค์น่าจะอุปถัมป์สงฆ์นิกายวัดสวนดอก(ลังกาวงศ์สายรามัญ) ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยพญากือนา และพญาติโลกราชน่าจะมองเห็นว่าบัวถลาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับลังกา (พอๆกับการทำประติมากรรมช้างล้อม) พญาติโลกราชจึงเก็บบัวถลาไว้เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับนิกายที่พระองค์อุปถัมป์เป็นพิเศษ คือนิกายวัดป่าแดงที่เป็นลังกาวงศ์สายใหม่ โดยจะเห็นการผสมผสานองค์ประกอบสำคัญในรัชสมัยพระองค์คือ การสร้างประติมากรรมช้างล้อมรอบฐานเจดีย์ทรงปราสาท อาทิ เจดีย์วัดป่าแดง เจดีย์หลวง เจดีย์วัดเชียงมั่น ซึ่งเดิมก่อนหน้าสมัยพระเจ้าติโลกราชพบหลักฐานการทำช้างล้อมปรากฏเฉพาะกับเจดีย์องค์ระฆัง อาทิ เจดีย์วัดสวนดอก (เชียงใหม่) และพระธาตุช้างค้ำ (น่าน) นอกจากนั้นยังผนวกบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมเหนือหลังคาลาดของเรือนธาตุ ดังนั้นบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมจึงน่าจะริเริ่มและเป็นที่นิยมขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช พร้อมๆกับความซบเซาลงของเจดีย์ทรงระฆังที่มีบัวถลาในผังกลมที่อาจเป็นตัวแทนของนิกายวัดสวนดอก และเจดีย์ทรงระฆังกลมแบบล้านนา(แบบหริภุญชัย) ที่น่าจะสัมพันธ์กับนิกายพื้นเมืองเดิมที่มีรูปแบบสืบมาตั้งแต่เจดีย์วัดอุโมงค์
คราวนี้มากล่าวถึงอีกหนึ่งอัตลักษณ์ ที่ปรากฏที่ไหนก็ต้องคิดถึงสุโขทัยอยู่ร่ำไป “เจดีย์ช้างล้อม”
ปัจจุบันในล้านนาพบเจดีย์ช้างล้อมทั้งหมด 13 องค์ จาก 7 พื้นที่ คือ เมืองเชียงใหม่ สบแจ่ม แม่อาย เวียงกุมกาม เมืองเชียงแสน เมืองแพร่ และเมืองน่าน ที่พบในเมืองเชียงใหม่ประกอบด้วย เจดีย์วัดป่าแดงหลวง เจดีย์หลวง เจดีย์วัดเชียงมั่น เจดีย์วัดพระสิงห์ เจดีย์วัดสวนดอก ที่พบในเวียงกุมกาม ประกอบด้วยเจดีย์วัดหัวหนองและเจดีย์วัดช้างค้ำ ที่เมืองเชียงแสน ประกอบด้วยเจดีย์วัดช้างค้ำและเจดีย์วัดภูข้าว ที่เมืองน่าน คือ เจดีย์วัดช้างค้ำ เมืองแพร่ คือ เจดีย์วัดหลวง ส่วนเจดีย์ช้างค้ำสององค์ที่พบใหม่ล่าสุดของล้านนา คือ เจดีย์วัดช้างค้ำ ที่แหล่งโบราณคดีสบแจ่ม ซึ่งเป็นบริเวณที่ลำน้ำแจ่มสบกับลำน้ำปิงในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งโบราณคดีนี้ยังพบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีความเหมือนกับของสุโขทัยที่สุด ทำให้พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามว่า “สุโขทัยน้อยแห่งล้านนา” และเจดีย์ช้างล้อมอีกแห่ง คือ วัดส้มสุก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าจากทั้งหมดนี้พบการทำช้างล้อมคู่กับการทำบัวถลารองรับองค์ระฆังถึง 6 แห่ง คือ เจดีย์วัดป่าแดง เจดีย์หลวง(เชียงใหม่) เจดีย์วัดเชียงมั่น เจดีย์วัดช้างค้ำ(น่าน) เจดีย์วัดหลวง(แพร่) และเจดีย์วัดส้มสุก(เชียงใหม่) นอกนั้นคือเจดีย์วัดสวนดอกและวัดพระสิงห์ ส่วนรองรับองค์ระฆังไม่ใช่บัวถลาแบบสุโขทัยแต่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายในผังกลมแบบล้านนา และเจดีย์อื่นๆไม่ปรากฏส่วนที่จะสันนิษฐานรูปแบบของส่วนรองรับองค์ระฆังได้
ออกจากเรื่องเจดีย์ มาเข้าสู่อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ ที่สะท้อนถึงความเป็นสุโขทัย “มณฑป”
มณฑป คือ อาคารที่มีผังเป็นรูปที่เหลี่ยม ภายในมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนขึ้นไป เชื่อกันว่ามณฑปหมายถึง คันธกุฎี สถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าขณะยังพระชนม์ชีพ
มณฑปท้ายวิหารโถงที่วัดพระธาตุภูเข้า อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีองค์ประกอบที่แสดงถึงอิทธิพลแบบสุโขทัย เหนือเรือนธาตุเป็นชั้นหลังคาลาด หลังคาเป็นชั้นซ้อน รูปแบบมณฑปที่มีหลังคาเช่นนี้พบโดยทั่วไปในศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัย เช่น มณฑปวัดกุฏีราย มณฑปวัดสวนแก้วอุทยานน้อย อายุสมัยการสร้างมณฑปแบบหลังคาซ้อนชั้นนี้ไม่อาจกำหนดอายุจากรูปแบบได้มากนัก แต่หลักฐานจากการขุดค้นที่วัดสระปทุม ศรีสัชนาลัย ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระธาตุภูเข้า พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง จึงกำหนดอายุที่ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทั้งนี้มณฑปในล้านนาอาจมิใช่การรับอิทธิพลจากสุโขทัยเพียงสายเดียว แต่อาจเป็นการรับรูปแบบจากพุกามในอีกทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากมณฑปของวัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน กับมณฑปวัดล่ามช้าง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีระบบเสาแกนกลางรับน้ำหนักแบบศิลปะพม่าที่พุกาม
และร่องรอยสุดท้ายของสุโขทัยในล้านนาที่นำมาบอกเล่าในวันนี้ คือ การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน ในเมืองสุโขทัยพบหลักฐานคูน้ำล้อมศาสนสถานแทบทุกแห่ง คูน้ำนี้อาจเป็นสัญลักษณ์แทนมหานทีสีทันดรที่ล้อมเขาพระสุเมรุที่เหนือขึ้นไปเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์จุฬามณี ที่มีเจดีย์ประธานของวัดเป็นตัวแทน และอาจเป็นประโยชน์ในเชิงการกักเก็บและจัดการน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่ จากการศึกษาพบว่าวัดในล้านนาแทบจะไม่ปรากฏการทำคูน้ำล้อมรอบวัด มีเพียงสองแห่งที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คือ วัดเสาหิน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่มีการขุดคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำคูน้ำล้อมเป็นเขตของวัดในล้านนาว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพระสุมนเถระมาจำพรรษที่เมืองเชียงใหม่ เห็นได้จากวัดสวนดอกที่พระสุมนเถระจำพรรษามีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ คือ เป็นวัดที่มีคูน้ำ-คันดินล้อมรอบ มีเจดีย์วัดสวนดอกเป็นประธานกลางพื้นที่ จึงกล่าวได้ว่าเวียงสวนดอกนี้คือการรับอิทธิพลแนวคิดในการสร้างศาสนสถานโดยการสถาปนาเป็นพื้นที่ศักด์สิทธิ์ตามคติจักรวาลวิทยาที่ได้มาจากสุโขทัย แนวคิดนี้น่าจะมีการขยายและนำไปปรับใช้ในระยะเวลาต่อๆมาในล้านนา ดังจะเห็นได้ว่าในล้านนามีศาสนสถานหลายแห่งที่มีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ ที่สร้างศาสนสถานบนเนินหรือยอดเขาโดยมีการขุดคูล้อมรอบ จำนวนตั้งแต่ 1-3 คูคันดิน
และที่นำมาบอกเล่าในวันนี้ คือภาพรวมของร่องรอยความเป็นสุโขทัยในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และแนวคิดการก่อสร้างต่างๆที่ปรากฏในล้านนา ที่ผู้เขียนพยายามเรียบเรียงนำมาบอกเล่าให้กระชับที่สุดด้วยเกรงว่าผู้อ่านจะเบื่อหน่ายเนื่องด้วยมีเรื่องราวรูปแบบและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในรายละเอียดพอสมควร ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ยังไม่กระจ่างและต้องการการอธิบายเพิ่มเติม ขอผู้อ่านพิมพ์ข้อคำถามทิ้งไว้ใต้การนำเสนอนี้ได้ ผู้เขียนจักได้ตอบเพื่อความเข้าใจของทุกท่านยิ่งขึ้น และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามการนำเสนอองค์ความรู้ของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เสมอมา
-----------------------------------
สุดท้ายนี้อยากจะขอฝากติดตามชม การบรรยายทางวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง "ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี" โดย นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ผ่านทาง Facebook live เพจ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
(จำนวนผู้เข้าชม 4435 ครั้ง)