บ่อเกลือโบราณเมืองน่าน
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง : บ่อเกลือโบราณเมืองน่าน
เรียบเรียงโดย : นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
บ่อเกลือโบราณเมืองน่านเป็นบ่อเกลือสินเธาว์ที่มีสายแร่ธาตุอยู่ใต้แนวลำน้ำน่านและลำน้ำมาง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นบ่อเกลือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรษที่ 20 – 21 โดยปรากฏในตำนานพื้นเมืองน่าน กล่าวถึง พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนายกทัพมาตีเมืองน่านเพื่อต้องการส่วยเกลือ ความว่า “เมื่อนั้นท่าน (ท้าวอินทะแก่น) แต่งผู้ใช้เอาเกลือบ่อมางไปเป็นแขกพระยาติโลกเมืองเชียงใหม่หั้นแล ลูนแต่หั้นหน่อยหนึ่งพระยาติโลก มักใคร่ได้เมืองน่านไปส่วยค้ำเมืองพิงค์เชียงใหม่” ความอุดมสมบูรณ์ของเกลือเมืองน่านยังมีกล่าวถึงในบันทึกการเดินทางของพระวิภาคภูวดล หรือ เจมส์ แมคคาร์ธี เจ้ากรมแผนที่ทหารที่กล่าวว่า “ที่ต้นน้ำน่านมีบ่อเกลือและมีการทำเกลือเป็นจำนวนมาก” อีกด้วย
บ่อเกลือเมืองน่านบ่อใหญ่ที่สุดคือ “บ่อหลวง” ตั้งอยู่บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน บนแอ่งเล็กๆ ที่มีเทือกเขาผีปันน้ำและดอยภูคาขนาบข้าง โดยปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเมืองตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 23 จากเศษภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยล้านนา เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง ที่ได้จากการสำรวจทางโบราณคดีในชุมชน นอกจากนี้ยังพบจารึกศักราช จ.ศ.927 หรือปี พ.ศ. 2108 ซึ่งพบในวัดร้างบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลบ่อเกลือปัจจุบัน กล่าวถึงขุนนาง ระดับ “แสน” สร้างวัดริมน้ำมาง ความว่า “...เจ้าหัวแสนตนนี้ เมืองหมื่นขุนโขง กลางเมืองโสการัง ผลบุญทั้งหลายสร้างอารามที่นี้ไว้” แสดงให้เห็นความสำคัญของชุมชนโบราณบ่อเกลือน่านในฐานะแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเกลือที่ผลิตได้ถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงของอาณาจักร
นอกจากบ่อเกลือบ่อหลวงแล้วยังมีบ่อเกลืออีกหลายบ่อกระจายตัวไปทางด้านทิศเหนือตามลำน้ำน่านและลำน้ำสาขา ได้แก่ บ่อเวร บ่อแคะ บ่อหยวก บ่อตอง บ่อกิ๋น บ่อน่าน บ่อเจ้า และบ่อเกล็ด ทั้งนี้ในปัจจุบันปรากฏการทำเกลือเพื่อการบริโภคให้เห็นเพียงบางบ่อเท่านั้น เช่น บ่อหยวก หรือบ่อเวร เป็นต้น
สำหรับการผลิตเกลือของบ่อเกลือเมืองน่านจะเริ่มตั้งแต่ช่วงออกพรรษาถึงเข้าพรรษา และจะไม่ทำเกลือในหน้าฝนเนื่องจากจะทำให้น้ำเค็มธรรมชาติมีความเจือจาง มีกรรมวิธีการผลิตเกลือ คือ ตักน้ำเกลือจากบ่อเกลือโดยใช้วิธีคานน้ำหนักตักน้ำเกลือขึ้นมา นำน้ำเกลือไปต้มในโรงต้มเกลือซึ่งภายในจะมีเตาต้มเกลือที่ก่อด้วยดินมีลักษณะเป็นเตาคู่มีช่องใส่ฟืนด้านล่างกลางเตา และช่องใส่กะทะต้มเกลือด้านบนสองช่อง โดยทำการต้มเกลือประมาณ 4 ชั่วโมง เกลือจึงตกผลึก ในช่วงนี้ต้องใช้ไม้พายคนและเติมน้ำเกลือลงไปเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกลือติดก้นกะทะ เมื่อเกล็ดเกลือตกผลึกได้ที่แล้วจะใช้ “แปน” ตักเกลืออกจากกะทะไปใส่ “ส่า” ซึ่งเป็นตะกร้าสานไม้ไผ่ แล้วนำเอาส่าที่มีเกลือแขวนไว้เหนือเตาอีก 4 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำระเหยออกจนหมด เกลือที่แห้งแล้วจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในเสวียนซึ่งมีลักษณะเป็นคล้ายถังขนาดใหญ่ที่สานจากไม้ไผ่ใช้สำหรับเก็บรักษาเกลือ โดยการต้มเกลือหนึ่งเตาจะได้เกลือประมาณ 15 กิโลกรัม
----------------------------------
-อ้างอิง-
กรมศิลปากร, พงศวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (น่าน : สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน กรมศิลปากร, 2557), 18.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ความสำคัญของเกลือสินเธาว์ที่มีผลกระทบต่อชุมชนโบราณ : กรณีศึษาบ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ กิ่งอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (สารนิพนธ์ ปริรญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร), 69-86.
ฉ่ำ ทองคำวรรณ, จารึกที่ 75 อ่านและอธิบาย ใน ศิลปากร, ปีที่ 5, ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2504), 54-56.
รัตนาพร เศรษฐกุล, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน (เชียงใหม่ : ซิลค์วอร์ม, 2552),125 -127.
เรื่อง : บ่อเกลือโบราณเมืองน่าน
เรียบเรียงโดย : นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
บ่อเกลือโบราณเมืองน่านเป็นบ่อเกลือสินเธาว์ที่มีสายแร่ธาตุอยู่ใต้แนวลำน้ำน่านและลำน้ำมาง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นบ่อเกลือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรษที่ 20 – 21 โดยปรากฏในตำนานพื้นเมืองน่าน กล่าวถึง พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนายกทัพมาตีเมืองน่านเพื่อต้องการส่วยเกลือ ความว่า “เมื่อนั้นท่าน (ท้าวอินทะแก่น) แต่งผู้ใช้เอาเกลือบ่อมางไปเป็นแขกพระยาติโลกเมืองเชียงใหม่หั้นแล ลูนแต่หั้นหน่อยหนึ่งพระยาติโลก มักใคร่ได้เมืองน่านไปส่วยค้ำเมืองพิงค์เชียงใหม่” ความอุดมสมบูรณ์ของเกลือเมืองน่านยังมีกล่าวถึงในบันทึกการเดินทางของพระวิภาคภูวดล หรือ เจมส์ แมคคาร์ธี เจ้ากรมแผนที่ทหารที่กล่าวว่า “ที่ต้นน้ำน่านมีบ่อเกลือและมีการทำเกลือเป็นจำนวนมาก” อีกด้วย
บ่อเกลือเมืองน่านบ่อใหญ่ที่สุดคือ “บ่อหลวง” ตั้งอยู่บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน บนแอ่งเล็กๆ ที่มีเทือกเขาผีปันน้ำและดอยภูคาขนาบข้าง โดยปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเมืองตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 23 จากเศษภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยล้านนา เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง ที่ได้จากการสำรวจทางโบราณคดีในชุมชน นอกจากนี้ยังพบจารึกศักราช จ.ศ.927 หรือปี พ.ศ. 2108 ซึ่งพบในวัดร้างบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลบ่อเกลือปัจจุบัน กล่าวถึงขุนนาง ระดับ “แสน” สร้างวัดริมน้ำมาง ความว่า “...เจ้าหัวแสนตนนี้ เมืองหมื่นขุนโขง กลางเมืองโสการัง ผลบุญทั้งหลายสร้างอารามที่นี้ไว้” แสดงให้เห็นความสำคัญของชุมชนโบราณบ่อเกลือน่านในฐานะแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเกลือที่ผลิตได้ถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงของอาณาจักร
นอกจากบ่อเกลือบ่อหลวงแล้วยังมีบ่อเกลืออีกหลายบ่อกระจายตัวไปทางด้านทิศเหนือตามลำน้ำน่านและลำน้ำสาขา ได้แก่ บ่อเวร บ่อแคะ บ่อหยวก บ่อตอง บ่อกิ๋น บ่อน่าน บ่อเจ้า และบ่อเกล็ด ทั้งนี้ในปัจจุบันปรากฏการทำเกลือเพื่อการบริโภคให้เห็นเพียงบางบ่อเท่านั้น เช่น บ่อหยวก หรือบ่อเวร เป็นต้น
สำหรับการผลิตเกลือของบ่อเกลือเมืองน่านจะเริ่มตั้งแต่ช่วงออกพรรษาถึงเข้าพรรษา และจะไม่ทำเกลือในหน้าฝนเนื่องจากจะทำให้น้ำเค็มธรรมชาติมีความเจือจาง มีกรรมวิธีการผลิตเกลือ คือ ตักน้ำเกลือจากบ่อเกลือโดยใช้วิธีคานน้ำหนักตักน้ำเกลือขึ้นมา นำน้ำเกลือไปต้มในโรงต้มเกลือซึ่งภายในจะมีเตาต้มเกลือที่ก่อด้วยดินมีลักษณะเป็นเตาคู่มีช่องใส่ฟืนด้านล่างกลางเตา และช่องใส่กะทะต้มเกลือด้านบนสองช่อง โดยทำการต้มเกลือประมาณ 4 ชั่วโมง เกลือจึงตกผลึก ในช่วงนี้ต้องใช้ไม้พายคนและเติมน้ำเกลือลงไปเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกลือติดก้นกะทะ เมื่อเกล็ดเกลือตกผลึกได้ที่แล้วจะใช้ “แปน” ตักเกลืออกจากกะทะไปใส่ “ส่า” ซึ่งเป็นตะกร้าสานไม้ไผ่ แล้วนำเอาส่าที่มีเกลือแขวนไว้เหนือเตาอีก 4 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำระเหยออกจนหมด เกลือที่แห้งแล้วจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในเสวียนซึ่งมีลักษณะเป็นคล้ายถังขนาดใหญ่ที่สานจากไม้ไผ่ใช้สำหรับเก็บรักษาเกลือ โดยการต้มเกลือหนึ่งเตาจะได้เกลือประมาณ 15 กิโลกรัม
----------------------------------
-อ้างอิง-
กรมศิลปากร, พงศวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (น่าน : สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน กรมศิลปากร, 2557), 18.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ความสำคัญของเกลือสินเธาว์ที่มีผลกระทบต่อชุมชนโบราณ : กรณีศึษาบ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ กิ่งอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (สารนิพนธ์ ปริรญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร), 69-86.
ฉ่ำ ทองคำวรรณ, จารึกที่ 75 อ่านและอธิบาย ใน ศิลปากร, ปีที่ 5, ฉบับที่ 1 (พฤษภาคม 2504), 54-56.
รัตนาพร เศรษฐกุล, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน (เชียงใหม่ : ซิลค์วอร์ม, 2552),125 -127.
(จำนวนผู้เข้าชม 15935 ครั้ง)