...

เวียงกุมกาม ปริศนาแห่ง ปิงเก่า กานโถม น้ำท่วม
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง "เวียงกุมกาม ปริศนาแห่ง ปิงเก่า กานโถม น้ำท่วม"
เรียบเรียงโดย : นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ
.     เวียงกุมกาม เมืองโบราณสำคัญของอาณาจักรล้านนาที่หลายคนขนานนามว่า “ราชธานีก่อนเมืองเชียงใหม่” ด้วยเป็นเมืองที่พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย สร้างขึ้นหลังจากยึดครองเมืองหริภุญชัย และก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้น หลายท่านยังรู้จักเมืองแห่งนี้ในฉายาที่ชวนตื่นเต้นติดตามว่า “นครโบราณใต้พิภพ” เนื่องจากหลักฐานโบราณสถานวัดร้างอยู่ลึกกว่าผิวดินปัจจุบันร่วม 2.5 เมตร  เอกสารประวัติศาสตร์เกือบทุกฉบับกล่าวถึงการสร้างเวียงกุมกามโดยพญามังรายว่า สร้างในปี 1829 หลังจากที่ยึดครองเมืองหริภุญชัยได้ 2 ปี (มีเพียงเอกสารชินกาลมาลีปกรณ์ที่กล่าวว่า สร้างในปี 1846 ซึ่งน่าจะเป็นเนื้อหาและปีที่คลาดเคลื่อนเนื่องจากเอกสารระบุว่าสร้างขึ้นหลังการก่อสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี 1839)
.     ชื่อของเวียงกุมกาม ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ของล้านนาหลายฉบับ โดยปรากฏชื่อเรียกทั้ง “กูมกาม”  “กุมกาม” และ “เชียงกุ่มกวม”  เนื้อหาจากเอกสารประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เวียงกุมกามเป็นที่ลุ่มต่ำที่น่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมือง บริเวณที่พญามังรายเลือกสร้างเมือง คือ บ้านเชียงกุ่มกวม โดยเอกสารระบุว่า “ตั้งอยู่บ้านเชียงกุ่มกวม แม่น้ำระมิงค์...”  เนื้อความดังกล่าวมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ หากลองเว้นวรรคคำใหม่ จะเห็นบริบทที่แสดงกายภาพเมือง คือ “ตั้งอยู่บ้านเชียงกุ่ม กวมน้ำแม่ระมิงค์” นั่นคือการตั้งเมืองของพญามังราย กวม หรือ คร่อมทับ แม่น้ำปิง
.      ในครานั้นพญามังรายตั้งหมู่บ้าน 3 แห่ง คือ บ้านนกลาง บ้านลุ่ม และบ้านแห้ม จากนามบ้านพบว่า ชื่อ “บ้านลุ่ม” กับ “บ้านแห้ม” แสดงกายภาพการเป็นพื้นที่ที่น่าจะประสบเรื่องน้ำท่วมขัง (ภาษาล้านนา คำว่า “แห้ม” หมายถึง ลักษณะพื้นที่หรือสิ่งของที่กำลังกลายสภาพจากเปียกเป็นแห้ง)
.     ในการสืบค้นความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่หลักฐานสำคัญชิ้นแรกที่ช่วยคลี่คลายอดีตของเวียงกุมกาม คือ ภาพถ่ายทางอากาศปี 2497 จากภาพถ่าย ปรากฏร่องน้ำที่ไหลผ่านเวียงกุมกาม 3 แนว คือ 1.ร่องน้ำที่ไหลผ่านด้านทิศตะวันตกขนาบลำน้ำปิงสายปัจจุบัน 2.ร่องน้ำที่ไหลผ่านกลางเวียง ด้านทิศตะวันตกของวัดกานโถมช้างค้ำ 3.ร่องน้ำที่ไหลผ่านทิศเหนือของเวียงกุมกามแล้วโค้งวกลงด้านตะวันออกเฉียงใต้
.     หากท่านเคยไปเที่ยวชมเวียงกุมกาม จะสังเกตเห็นกายภาพหนึ่งที่ชวนสงสัย คือ ระดับชั้นดินเดิมของแต่ละวัดและความลึกในการทับถมของดินแตกต่างกันออกไป โดยบริเวณ วัดอีค่าง หนานช้าง ปู่เปี้ย กู่ป้าด้อม ที่อยู่บริเวณกลางเมือง มีระดับชั้นทับถมที่ลึกกว่าบริเวณอื่น คือ ลึก1.5 - 2.5 เมตร
.     ประเด็นดังกล่าวได้ถูกไขให้กระจ่างด้วยจากการศึกษาทางธรณีวิทยา โดยการเจาะสำรวจชั้นตะกอนทรายลงไปที่ความลึก 10 เมตร (ตะกอนทรายคือดัชนีชี้ถึงการเป็นท้องน้ำเดิม) ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ฟองสวาท สุวคนธ์ สิงหราชวราพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าบริเวณร่องน้ำที่ไหลผ่านกลางเวียง ด้านทิศตะวันตกของวัดช้างค้ำ (ร่องน้ำนี้ครอบคลุมพื้นที่ของวัดอีค่าง หนานช้าง ปู่เปี้ย กู่ป้าด้อม) ที่ระดับความลึก 8 - 10 เมตร พบตะกอนทรายกระจายเป็นพื้นที่กว้างเทียบเท่ากับความกว้างแม่น้ำปิงในปัจจุบัน และตะกอนทรายได้ค่อยๆลดความกว้างของแนวจนเริ่มตื้นเขินที่ความลึก 4 เมตร และสิ้นสภาพการเป็นลำน้ำที่ระดับความลึก 2 - 3 เมตร จึงได้กลายเป็นระดับที่ตั้งของวัดอีค่าง หนานช้าง ปู่เปี้ย กู่ป้าด้อม
.     จึงสรุปได้ว่าร่องน้ำที่ไหลผ่ากลางเวียง คือแม่น้ำปิงสายที่มีอายุเก่าที่สุดของพื้นที่ ที่ได้สิ้นสภาพการเป็นลำน้ำลงและกลายเป็นพื้นที่ตั้งวัดทั้ง 4 แห่งในเวลาต่อมา
.     ซึ่งเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับอายุสมัยของวัดทั้ง 4 แห่ง ที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงต้น - กลางพุทธศตวรรษที่ 21 กล่าวได้ว่า ลำน้ำปิงสายที่ผ่ากลางเวียงกุมกามนี้น่าจะสิ้นสภาพไปก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ 21 (จึงปรากฏวัดที่มีศิลปกรรมช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ในบริเวณร่องน้ำปิงนี้) ขณะเดียวกันก็ได้เกิดแนวร่องน้ำปิงหลักสายใหม่ คือ ร่องน้ำปิงที่ไหลผ่านเวียงกุมกามทางทิศเหนือขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับการเริ่มมีวัดและชุมชนขึ้นกระจายตามแนวน้ำปิงสายใหม่ ดังเห็นได้จากโบราณสถานของเวียงกุมกามที่ตั้งอยู่ตามแนวลำน้ำปิงสายใหม่ที่ไหลผ่านทางทิศเหนือของเมือง อาทิ วัดพญาเม็งราย วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดอีค่าง วัดหนานช้าง วัดกุมกามทีปราม วัดหัวหนอง โดยทุกวัดล้วนแต่หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าหาแม่น้ำปิงสายนี้
.     ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาที่ยืนยันถึงแนวลำน้ำปิงที่มีอายุเก่าสุดที่ผ่ากลางเวียงกุมกาม ได้ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับทิศทางการหันหน้าของวัดกานโถม(ช้างค้ำ) ที่อยู่ในความสงสัยของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดีมาเนิ่นนาน เนื่องด้วยเป็นเพียงวัดเดียวในเวียงกุมกามที่หันหน้าแตกต่างจากวัดอื่น โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ขณะที่วัดอื่นๆ ล้วนแต่หันไปทางทิศตะวันออกตามคติการสร้างวัดในล้านนา และหันไปทางทิศเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือรับกับแม่น้ำปิงสายใหม่ที่เป็นเส้นทางคมนาคม เมื่อพิจารณาที่ตั้งของ วัดกานโถมช้างค้ำ พบว่าตั้งอยู่บริเวณริมน้ำปิงสายที่เก่าที่สุดที่ผ่ากลางเวียง ดังนั้นการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คือ การหันหน้าเข้าหาแม่น้ำปิงสายเดิมสายแรกของพื้นที่ที่น่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในเวลานั้นนั่นเอง
.     จากที่กล่าวไปในข้างต้น จึงสรุปในตอนแรกนี้ได้ว่า เวียงกุมกามน่าจะสร้างคร่อมแนวลำน้ำปิงเดิม โดยมีวัดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือ กู่คำ(วัดเจดีย์เหลี่ยม) และ วัดกานโถม(ช้างค้ำ) ที่หันหน้าเข้าหาร่องน้ำปิงเก่านี้
.     จากข้อวิเคราะห์ในข้างต้น นำมาซึ่งประเด็นที่ต้องอภิปรายขยายความต่อในเรื่องกายภาพเมืองครั้งแรกสร้างว่า ในเมื่อความเป็นเวียงกุมกามตั้งอยู่ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำปิงสายเก่าสายแรกสุด แล้วความเป็นเวียงที่เป็น คู-คันดิน ที่ปรากฏเห็นในภาพถ่ายทางอากาศและถูกกล่าวถึงในเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับที่ว่า พญามังรายสร้างเมืองโดยขุดคูเมืองทั้งสี่ด้านและชักน้ำปิงเข้าคู เกิดขึ้นเมื่อใด
.     เมื่อกลับมาตั้งต้นที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2497 จะเห็นแนวกำแพงเมือง - คูเมืองด้านทิศใต้ ทับร่องน้ำปิงสายเก่า(สายแรก) จากหลักฐานดังกล่าววิเคราะห์ได้ในทันทีว่า กำแพง - คูของเวียงกุมกาม ควรถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ที่ลำน้ำปิงสายเก่านี้ได้สิ้นสภาพไปแล้ว ดังนั้นเวียงกุมกามที่พญามังรายสถาปนาขึ้นในปี 1829 น่าจะมิได้มีกายภาพเมืองที่มีขอบเขตเป็นคูน้ำ - คันดิน แต่น่าจะมีสภาพเป็นชุมชนขนาดใหญ่ (โดยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าพญามังรายมิได้ตั้งใจสร้างเวียงกุมกามให้เป็นราชธานี แต่พญามังรายอาจมีหมุดหมายในใจเป็นพื้นที่บริเวณเมืองเชียงใหม่หรือบริเวณที่ราบระหว่างดอยสุเทพและแม่น้ำปิงมาแต่เดิม แต่การมาใช้พื้นที่เวียงกุมกามอาจเป็นการมาปักหลักอิทธิพลในพื้นที่บริเวณนี้เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในการสร้างเมืองเชียงใหม่)
.     และมาถึงประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เวียงกุมกามถูกพูดถึงและเป็นที่รู้จักอย่างมาก คือ ความเข้าใจที่ว่าเวียงกุมกามเป็นเมืองที่ร้างไปจากสาเหตุน้ำท่วมใหญ่
.     ประเด็นนี้ได้รับการพิสูจน์โดยการศึกษาชั้นดินทับถมทางโบราณคดีโบราณสถานในเวียงกุมกาม ซึ่งพบว่า เหตุการณ์น้ำท่วมได้เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การทิ้งร้างพื้นที่
.     กล่าวคือ ชั้นดินจากการขุดค้นโบราณสถานหลายแห่งพบชั้นปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างของโบราณสถานอยู่ใต้ชั้นดินน้ำท่วม(คนละชั้นดิน) แสดงให้เห็นว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง โบราณสถานได้ขาดการทำนุบำรุงไปก่อนหน้า (สาเหตุที่จะทำให้โบราณสถานขาดการดูแลได้ทั่วทั้งเมือง คงมาจากการอพยพของชาวเมืองไปจากพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งน่าจะมีเหตุปัจจัยจากการศึกสงคราม) ทำให้โบราณสถานถูกทิ้งร้าง เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเวลาต่อมา น้ำจึงพัดพาตะกอนดินมาทับถมซากปรักหักพังของโบราณสถานที่อยู่บนพื้นใช้งานเดิม หลักฐานจากการขุดทางโบราณคดีที่วัดหนานช้าง คือตัวอย่างที่สามารถวิเคราะห์ช่วงเวลาการเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้ว่าเกิดในห้วงพุทธศตวรรษที่ 22 สิ่งที่ช่วยยืนยันห้วงเวลาการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวคือ การฝังไหที่มีเครื่องถ้วยจีนและเครื่องใช้สำริดบรรจุอยู่กว่า 51 รายการ ใต้ผิวดินของวัด โดยหนึ่งในจำนวนนั้น คือ เครื่องถ้วยเขียนสีครามใต้เคลือบ ลายนกฟีนิกซ์ (บ้างเรียกว่าลาย “หงส์”) ที่ก้นเครื่องถ้วยปรากฏตราประทับอักษรจีนความว่า “ต้า หมิง วัน ลี่”  นั่นคือ เครื่องถ้วยชิ้นนี้ถูกทำขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าวันลี่แห่งราชวงศ์หมิงที่ครองราชย์ในปี 2116 - 2162 เมื่อเครื่องถ้วยชิ้นนี้อยู่ใต้ชั้นทับถมของตะกอนน้ำท่วม จึงหมายความว่า เหตุการณ์น้ำท่วมต้องเกิดขึ้นหลังห้วงเวลาของเครื่องถ้วยชิ้นนี้ คือ เกิดขึ้นในปีใดปีหนึ่งระหว่าง พ.ศ.2116 - 2162 หรือ อาจเกิดขึ้นหลัง พ.ศ.2162 จากหลักฐานดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า เวียงกุมกามได้ร้างลงไปก่อนหน้าเหตุกาณ์น้ำท่วมใหญ่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 22
.     ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวในร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ผ่านสายน้ำปิง โบราณสถาน และชั้นดินทับถม ดังชื่อตอน “เวียงกุมกาม :  ปิงเก่า กานโถม น้ำท่วม”































(จำนวนผู้เข้าชม 5802 ครั้ง)


Messenger