พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม : หลักฐานร่องรอยราชวงศ์พูคาปกครองเมืองน่าน
องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง "พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม : หลักฐานร่องรอยราชวงศ์พูคาปกครองเมืองน่าน"
เรียบเรียงโดย : นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
. ราชวงศ์พูคาเป็นราชวงศ์ชาวกาวที่ปกครองเมืองน่านอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ตามตำนานมีปฐมกษัตรย์คือขุนฟอง ราชวงศ์พูคาเดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปัว (วรนคร) และมีการย้ายเมืองมายังเวียงพูเพียงแช่แห้งในรัชสมัยพญาครานเมือง (กานเมือง) ราวปี พ.ศ.1908 ต่อมาในสมัยพญาผากองย้ายเมืองน่านจากเวียงพูเพียงแช่แห้งมายังเวียงน่านริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เมื่อปี พ.ศ.1911 ก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ.1992 ตรงกับรัชสมัยพญาผาแสง และสิ้นสุดอำนาจในการปกครองอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ.2004 หลังจากพญาผาแสงสิ้นพระชนม์ และราชสำนักเชียงใหม่ได้ส่งขุนนางปกครองเมืองน่านแทน
. ในช่วงที่ราชวงศ์พูคาปกครองเมืองน่านมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ่นกับอาณาจักรสุโขทัย โดยรับเอารูปศิลปสถาปัตยกรรมจากศิลปะสุโขทัยมาค่อนข้างมาก เช่น เจดีย์ช้างล้อม วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร หรือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์เก่าของวัดสวนตาล เป็นต้น และหนึ่งในงานศิลปกรรมที่สำคัญอีกกลุ่มที่ถือเป็นหลักฐานแสดงการมีอยู่จริงของราชวงศ์พูคาและเป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยอย่างสวยงามประณีตคือ พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม ทั้ง 5 องค์
. พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม เป็นกลุ่มพระพุทธรูปที่สมเด็จพระญางั่วฬารผาสุมหรืองั่วฬารผาสุมกษัตริย์นครน่านแห่งราชวงศ์พูคา องค์ที่ 15 ขึ้นครองราชย์ในราวปี พ.ศ. 1969 พระองค์ทรงให้หล่อขึ้นประกอบด้วยพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ (ห้ามสมุทร) จำนวน 1 องค์ และพระพุทธรูปปางลีลาจำนวน 4 พระองค์ โดยส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะพุทธศิลป์เหมือนกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการเช่น การแสดงออกของสีหน้าพระพักต์ พระวรกายที่อวบอ้วนมากยิ่งขึ้น หรือชายขอบจีวรซ้อนกันสองเส้น เป็นต้น นอกจากนี้ที่ฐานของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ มีจารึกที่มีเนื้อความเดียวกันเกี่ยวการสร้างพระพุทธรูปของสมเด็จเจ้าพระญางั่วฬารผาสุม หากแต่ข้อความมีความสมบูรณ์เพียงหนึ่งองค์ ความว่า
"สมเด็จพระยาสารผาสุมเสวยราชย์ในนันทปุระ สถาบกสมเด็จพระเป็นเจ้า 5 พระองค์ โพระจะให้คงในศาสนา 5 พันปีนี้ ตั้งเป็นพระเจ้าในปีมะเมีย เพื่อบุญจุลศักราช 788 มหาศักราช 1970 เดือน 6 วันพุธ เดือน 7 ยาม ปราถนาทันพระศรีอาริยไมตรีเจ้า"
. จากข้อความในจารึกข้างต้นสามารถกำหนดอายุสัมบูรณ์ของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ ไว้ที่ พ.ศ. 1970 หรือปลายพุทธศตวรรษที่ 20 โดยจะขอยกตัวอย่างพุทธศิลป์ของพระพุทธรุปางห้ามสมุทร 1 องค์ และปางลีลา 1 องค์ ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในพระวิหาร วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ดังนี้
- พระพุทธรูปสำริด ประทับยืน ปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ (ปางห้ามสมุทร) เป็นพระพุทธรูปสำริดประทับยืน พระพักต์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโค้ง งุ่มลงเล็กน้อย พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มคลุม มีผ้าจีบหน้านาง ประทับยืนตรง แสดงปางประทานอภัยสองพระหัตถ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการแสดงปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์และการมีผ้าจีบหน้านางประดับ มักพบในศิลปะอยุธยา อาจกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาด้วยอีกทางหนึ่ง ลักษณะพระพุทธรูปางห้ามสมุทร เป็นการแสดงอิริยาบถตามเรื่องราวในพุทธประวัติ 2 เรื่อง คือเรื่องแรกเป็นการแสดงปาฏิหารย์ของพระพุทธองค์เพื่อทำลายมิจฉาทิฏฐิของเหล่าพี่น้องตระกูลชฎิล เมืองพาราณสี โดนพระองค์แสดงปาฏิหาริย์หยุดน้ำฝนมิให้ตกหนักในบริเวณริมแม่น้ำเนรัญชรา แขวงอรุเวฬา เมื่อเหล่าพี่น้องตระกูลชฎิลเห็นจึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ขอเข้าบรรพชาอุปสมบทพร้อมกับบริวารจำนวน 1,000 คน และพระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่หมู่พี่น้องตระกูลชฎิลทั้งสามและบริวารจนบรรลุพระอรหันต์ ส่วนเรื่องที่สองคือพระพุทธองค์ทรงห้ามพระประยูรญาติแห่งราชวงศ์ศากยะที่กำลังวิวาทะแย่งน้ำแม่น้ำโรหิณีใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ นิโครธาราม
- พระพุทธรูปสำริด ปางลีลา เป็นพระพุทธรูปสำริด ประทับยืน พระพักต์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง งุ้มลงเล็กน้อย แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระหนุเป็นปม ขวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฐิพาดผ่านพระอังสาซ้ายตกลงเสมอพระนาภี ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ แสดงปางลีลา โดยพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ ใต้พระกรจีวรมีลักษณะเป็นริ้วพลิ้วไหวตามธรรมชาติ พระหัตถ์ขวาทิ้งลงข้างพระวรกาย พระบาทซ้ายดำเนินเยื้องไปข้างหน้า ส่วนพระบาทขวาอยู่ข้างหลังยกขึ้นเล็กน้อย แสดงออกถึงลักษณะทรงดำเนิน
. สำหรับพระพุทธรูปลีลาของนครน่านนั้นได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ หากแต่มีลายละเอียดแตกต่างออกไปบ้างเช่นการแสดงออกของสีพระพักตร์ พระวรกายที่อวบอ้วนมากยิ่งขึ้น ชายผ้าจีวรบางองค์ทำเป็นลายเส้นสองเส้นทับซ้อนกันและเว้า ที่สำคัญคือชายจีวรส่วนล่างที่ตกลงและตัดเป็นเส้นทแยงมุมซึ่งไม่ปรากฏในศิลปะสุโขทัย ทั้งนี้การสร้างพระพุทธรูปลีลาช่างสุโขทัยได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากศิลปะพม่าหรือลังกาในพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดางดึงส์หลังทรงโปรดพุทธมารดาอีกทอดหนึ่ง และยังมีแรงบันดาลใจจากงานศิลปะภายในดินแดนประเทศไทยโดยเฉพาะศิลปะทวารวดีที่ปรากฏลักษณะของจีวรที่ตกจากพระหัตถ์ที่ยกขึ้น เห็นเป็นริ้วคลื่น เป็นต้น ส่วนเมืองน่านนั้นได้รับการถ่ายทอดลักษะทางศิลปกรรมดังกล่าวจากราชสำนักสุโขทัยผ่านทางความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง
-----------------------------------
-อ้างอิง-
ประเสริฐ ณ นคร, จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, 2534), 87.
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา (กรุงเทพฯ :เมืองโบราณ,2542), 143.
วิสันธนี โพธิสุนทรและเมธินี จิระวัฒนา, พระพุทธรูปปางต่างๆ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2552), 44.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556), 195.
พรชัย พฤติกุล, ประติมานวิทยาของพระพุทธรูปลีลาในศิลปะสุโขทัย (วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, 2549), 26-28.
สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน : ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2539.
เรื่อง "พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม : หลักฐานร่องรอยราชวงศ์พูคาปกครองเมืองน่าน"
เรียบเรียงโดย : นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
. ราชวงศ์พูคาเป็นราชวงศ์ชาวกาวที่ปกครองเมืองน่านอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ตามตำนานมีปฐมกษัตรย์คือขุนฟอง ราชวงศ์พูคาเดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปัว (วรนคร) และมีการย้ายเมืองมายังเวียงพูเพียงแช่แห้งในรัชสมัยพญาครานเมือง (กานเมือง) ราวปี พ.ศ.1908 ต่อมาในสมัยพญาผากองย้ายเมืองน่านจากเวียงพูเพียงแช่แห้งมายังเวียงน่านริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เมื่อปี พ.ศ.1911 ก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ.1992 ตรงกับรัชสมัยพญาผาแสง และสิ้นสุดอำนาจในการปกครองอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ.2004 หลังจากพญาผาแสงสิ้นพระชนม์ และราชสำนักเชียงใหม่ได้ส่งขุนนางปกครองเมืองน่านแทน
. ในช่วงที่ราชวงศ์พูคาปกครองเมืองน่านมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ่นกับอาณาจักรสุโขทัย โดยรับเอารูปศิลปสถาปัตยกรรมจากศิลปะสุโขทัยมาค่อนข้างมาก เช่น เจดีย์ช้างล้อม วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร หรือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์เก่าของวัดสวนตาล เป็นต้น และหนึ่งในงานศิลปกรรมที่สำคัญอีกกลุ่มที่ถือเป็นหลักฐานแสดงการมีอยู่จริงของราชวงศ์พูคาและเป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยอย่างสวยงามประณีตคือ พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม ทั้ง 5 องค์
. พระพุทธรูปของสมเด็จพระยาสารผาสุม เป็นกลุ่มพระพุทธรูปที่สมเด็จพระญางั่วฬารผาสุมหรืองั่วฬารผาสุมกษัตริย์นครน่านแห่งราชวงศ์พูคา องค์ที่ 15 ขึ้นครองราชย์ในราวปี พ.ศ. 1969 พระองค์ทรงให้หล่อขึ้นประกอบด้วยพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ (ห้ามสมุทร) จำนวน 1 องค์ และพระพุทธรูปปางลีลาจำนวน 4 พระองค์ โดยส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะพุทธศิลป์เหมือนกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการเช่น การแสดงออกของสีหน้าพระพักต์ พระวรกายที่อวบอ้วนมากยิ่งขึ้น หรือชายขอบจีวรซ้อนกันสองเส้น เป็นต้น นอกจากนี้ที่ฐานของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ มีจารึกที่มีเนื้อความเดียวกันเกี่ยวการสร้างพระพุทธรูปของสมเด็จเจ้าพระญางั่วฬารผาสุม หากแต่ข้อความมีความสมบูรณ์เพียงหนึ่งองค์ ความว่า
"สมเด็จพระยาสารผาสุมเสวยราชย์ในนันทปุระ สถาบกสมเด็จพระเป็นเจ้า 5 พระองค์ โพระจะให้คงในศาสนา 5 พันปีนี้ ตั้งเป็นพระเจ้าในปีมะเมีย เพื่อบุญจุลศักราช 788 มหาศักราช 1970 เดือน 6 วันพุธ เดือน 7 ยาม ปราถนาทันพระศรีอาริยไมตรีเจ้า"
. จากข้อความในจารึกข้างต้นสามารถกำหนดอายุสัมบูรณ์ของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ ไว้ที่ พ.ศ. 1970 หรือปลายพุทธศตวรรษที่ 20 โดยจะขอยกตัวอย่างพุทธศิลป์ของพระพุทธรุปางห้ามสมุทร 1 องค์ และปางลีลา 1 องค์ ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในพระวิหาร วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ดังนี้
- พระพุทธรูปสำริด ประทับยืน ปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ (ปางห้ามสมุทร) เป็นพระพุทธรูปสำริดประทับยืน พระพักต์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโค้ง งุ่มลงเล็กน้อย พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มคลุม มีผ้าจีบหน้านาง ประทับยืนตรง แสดงปางประทานอภัยสองพระหัตถ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการแสดงปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์และการมีผ้าจีบหน้านางประดับ มักพบในศิลปะอยุธยา อาจกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาด้วยอีกทางหนึ่ง ลักษณะพระพุทธรูปางห้ามสมุทร เป็นการแสดงอิริยาบถตามเรื่องราวในพุทธประวัติ 2 เรื่อง คือเรื่องแรกเป็นการแสดงปาฏิหารย์ของพระพุทธองค์เพื่อทำลายมิจฉาทิฏฐิของเหล่าพี่น้องตระกูลชฎิล เมืองพาราณสี โดนพระองค์แสดงปาฏิหาริย์หยุดน้ำฝนมิให้ตกหนักในบริเวณริมแม่น้ำเนรัญชรา แขวงอรุเวฬา เมื่อเหล่าพี่น้องตระกูลชฎิลเห็นจึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ขอเข้าบรรพชาอุปสมบทพร้อมกับบริวารจำนวน 1,000 คน และพระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่หมู่พี่น้องตระกูลชฎิลทั้งสามและบริวารจนบรรลุพระอรหันต์ ส่วนเรื่องที่สองคือพระพุทธองค์ทรงห้ามพระประยูรญาติแห่งราชวงศ์ศากยะที่กำลังวิวาทะแย่งน้ำแม่น้ำโรหิณีใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ นิโครธาราม
- พระพุทธรูปสำริด ปางลีลา เป็นพระพุทธรูปสำริด ประทับยืน พระพักต์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง งุ้มลงเล็กน้อย แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระหนุเป็นปม ขวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฐิพาดผ่านพระอังสาซ้ายตกลงเสมอพระนาภี ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ แสดงปางลีลา โดยพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ ใต้พระกรจีวรมีลักษณะเป็นริ้วพลิ้วไหวตามธรรมชาติ พระหัตถ์ขวาทิ้งลงข้างพระวรกาย พระบาทซ้ายดำเนินเยื้องไปข้างหน้า ส่วนพระบาทขวาอยู่ข้างหลังยกขึ้นเล็กน้อย แสดงออกถึงลักษณะทรงดำเนิน
. สำหรับพระพุทธรูปลีลาของนครน่านนั้นได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ หากแต่มีลายละเอียดแตกต่างออกไปบ้างเช่นการแสดงออกของสีพระพักตร์ พระวรกายที่อวบอ้วนมากยิ่งขึ้น ชายผ้าจีวรบางองค์ทำเป็นลายเส้นสองเส้นทับซ้อนกันและเว้า ที่สำคัญคือชายจีวรส่วนล่างที่ตกลงและตัดเป็นเส้นทแยงมุมซึ่งไม่ปรากฏในศิลปะสุโขทัย ทั้งนี้การสร้างพระพุทธรูปลีลาช่างสุโขทัยได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากศิลปะพม่าหรือลังกาในพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดางดึงส์หลังทรงโปรดพุทธมารดาอีกทอดหนึ่ง และยังมีแรงบันดาลใจจากงานศิลปะภายในดินแดนประเทศไทยโดยเฉพาะศิลปะทวารวดีที่ปรากฏลักษณะของจีวรที่ตกจากพระหัตถ์ที่ยกขึ้น เห็นเป็นริ้วคลื่น เป็นต้น ส่วนเมืองน่านนั้นได้รับการถ่ายทอดลักษะทางศิลปกรรมดังกล่าวจากราชสำนักสุโขทัยผ่านทางความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง
-----------------------------------
-อ้างอิง-
ประเสริฐ ณ นคร, จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, 2534), 87.
สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา (กรุงเทพฯ :เมืองโบราณ,2542), 143.
วิสันธนี โพธิสุนทรและเมธินี จิระวัฒนา, พระพุทธรูปปางต่างๆ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2552), 44.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556), 195.
พรชัย พฤติกุล, ประติมานวิทยาของพระพุทธรูปลีลาในศิลปะสุโขทัย (วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, 2549), 26-28.
สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน : ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2539.
(จำนวนผู้เข้าชม 3831 ครั้ง)