ผีปู่แสะย่าแสะ กับ แหล่งทำเหล็ก ในมิติของการทับซ้อนพื้นที่ทางวัฒนธรรม
ผีปู่แสะย่าแสะ กับ แหล่งทำเหล็ก ในมิติของการทับซ้อนพื้นที่ทางวัฒนธรรม
**เรียบเรียงโดย นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ
#โบราณโลหะวิทยาดินแดนล้านนา
.
- พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของดอยสุเทพ มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์นามว่า "ดอยคำ" สันนิษฐานว่ามีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนรับพุทธศาสนาเข้ามา ดังสะท้อนผ่านตำนานเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับผีบรรพชนดั้งเดิมอย่าง "ปู่แสะย่าแสะ"
.
- ตำนานพระธาตุดอยคำ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของปู่แสะย่าแสะ ว่าเดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สามตน (ปู่แสะ ย่าแสะ และบุตร) ยังชีพด้วยการกินเนื้อสัตว์และเนื้อมนุษย์ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงยักษ์ทั้งสามตนได้ฟังเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์ขอให้เหล่ายักษ์รักษาศีล เลิกกินเนื้อมนุษย์ จนเกิดการต่อรอง สุดท้ายจบลงด้วยการไปขออนุญาตเจ้าผู้ครองนครให้กินควายได้ปีละ 1 ครั้ง
.
- จากเรื่องราวข้างต้น เป็นที่มาของประเพณีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะที่มีการกระทำพิธีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการสังเวยควายให้แก่ผีปู่แสะย่าแสะในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ทป.4 (แม่เหียะ) ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
.
- พื้นที่บริเวณดังกล่าวนอกจากจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมเลี้ยงดงผีปู่แสะย่าแสะแล้ว ใต้พื้นดินลงไปยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับแหล่งถลุงเหล็กโบราณที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ นับเป็นแหล่งทำเหล็กโบราณตั้งอยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในปัจจุบัน
.
- การศึกษาโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทำให้พบว่าร่องรอยแหล่งถลุงเหล็กโบราณแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 15,000 ตารางเมตร ปรากฏหลักฐานเป็นเนินตะกรันจากการถลุงเหล็ก (Slag), ตะกรันจากเตาตีเหล็ก, ท่อเติมอากาศ (Tuyere), ก้อนแร่เหล็ก (Iron Ore) และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนาจำนวนมาก
.
- การวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า เดิมพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของชุมชน ที่มีกิจกรรมการถลุงเหล็กด้วยกรรมวิธีทางตรง และมีเตาตีเครื่องมือเหล็กอยู่ภายในชุมชน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ่อสวก แหล่งเตาพาน แหล่งเตาสันกำแพง และแหล่งเตาเวียงกาหลง ปะปนอยู่ในชั้นกิจกรรมการถลุงเหล็ก ซึ่งสอดคล้องกับค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ที่มีอายุกิจกรรมอยู่ในราว พ.ศ. 2080 จึงสามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่า ชุมชนทำเหล็กแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 ร่วมสมัยกับช่วงราชวงศ์มังรายปกครองเมืองเชียงใหม่
.
- นอกจากนี้หากวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักฐานจะพบว่าแหล่งถลุงเหล็กที่แม่เหียะแห่งนี้ มีรูปแบบเตา เทคนิค และกรรมวิธีที่เหมือนกับแหล่งถลุงเหล็กโบราณแม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีชนกลุ่มลัวะเป็นเจ้าของ จึงทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มชนดั้งเดิมที่เคยตั้งชุมชนถลุงเหล็กอยู่ในพื้นที่แม่เหียะแห่งนี้น่าจะเป็นกลุ่มชาวลัวะด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับความทรงจำในท้องถิ่นที่ระบุว่าเคยมีชุมชนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแถบนี้ ก่อนที่จะคลี่คลายไปเป็นชุมชนเมืองดังเช่นปัจจุบัน
.
- ท้ายที่สุดนี้ ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่า การจัดพิธีกรรมเลี้ยงดงผีปู่แสะย่าแสะบนพื้นที่ร่องรอยชุมชนถลุงเหล็กโบราณจะมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจที่มรดกวัฒนธรรมทั้งประเภท Tangible และ Intangible ของกลุ่มชนดั้งเดิมยังคงอยู่ร่วมกันในพื้นที่ป่าใกล้เมืองแห่งนี้ คู่เมืองเชียงใหม่สืบไป
**เรียบเรียงโดย นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ
#โบราณโลหะวิทยาดินแดนล้านนา
.
- พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของดอยสุเทพ มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์นามว่า "ดอยคำ" สันนิษฐานว่ามีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนรับพุทธศาสนาเข้ามา ดังสะท้อนผ่านตำนานเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับผีบรรพชนดั้งเดิมอย่าง "ปู่แสะย่าแสะ"
.
- ตำนานพระธาตุดอยคำ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของปู่แสะย่าแสะ ว่าเดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สามตน (ปู่แสะ ย่าแสะ และบุตร) ยังชีพด้วยการกินเนื้อสัตว์และเนื้อมนุษย์ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงยักษ์ทั้งสามตนได้ฟังเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์ขอให้เหล่ายักษ์รักษาศีล เลิกกินเนื้อมนุษย์ จนเกิดการต่อรอง สุดท้ายจบลงด้วยการไปขออนุญาตเจ้าผู้ครองนครให้กินควายได้ปีละ 1 ครั้ง
.
- จากเรื่องราวข้างต้น เป็นที่มาของประเพณีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะที่มีการกระทำพิธีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการสังเวยควายให้แก่ผีปู่แสะย่าแสะในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ทป.4 (แม่เหียะ) ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
.
- พื้นที่บริเวณดังกล่าวนอกจากจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมเลี้ยงดงผีปู่แสะย่าแสะแล้ว ใต้พื้นดินลงไปยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับแหล่งถลุงเหล็กโบราณที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ นับเป็นแหล่งทำเหล็กโบราณตั้งอยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในปัจจุบัน
.
- การศึกษาโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทำให้พบว่าร่องรอยแหล่งถลุงเหล็กโบราณแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 15,000 ตารางเมตร ปรากฏหลักฐานเป็นเนินตะกรันจากการถลุงเหล็ก (Slag), ตะกรันจากเตาตีเหล็ก, ท่อเติมอากาศ (Tuyere), ก้อนแร่เหล็ก (Iron Ore) และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนาจำนวนมาก
.
- การวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า เดิมพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของชุมชน ที่มีกิจกรรมการถลุงเหล็กด้วยกรรมวิธีทางตรง และมีเตาตีเครื่องมือเหล็กอยู่ภายในชุมชน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ่อสวก แหล่งเตาพาน แหล่งเตาสันกำแพง และแหล่งเตาเวียงกาหลง ปะปนอยู่ในชั้นกิจกรรมการถลุงเหล็ก ซึ่งสอดคล้องกับค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ที่มีอายุกิจกรรมอยู่ในราว พ.ศ. 2080 จึงสามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่า ชุมชนทำเหล็กแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 ร่วมสมัยกับช่วงราชวงศ์มังรายปกครองเมืองเชียงใหม่
.
- นอกจากนี้หากวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักฐานจะพบว่าแหล่งถลุงเหล็กที่แม่เหียะแห่งนี้ มีรูปแบบเตา เทคนิค และกรรมวิธีที่เหมือนกับแหล่งถลุงเหล็กโบราณแม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีชนกลุ่มลัวะเป็นเจ้าของ จึงทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มชนดั้งเดิมที่เคยตั้งชุมชนถลุงเหล็กอยู่ในพื้นที่แม่เหียะแห่งนี้น่าจะเป็นกลุ่มชาวลัวะด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับความทรงจำในท้องถิ่นที่ระบุว่าเคยมีชุมชนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแถบนี้ ก่อนที่จะคลี่คลายไปเป็นชุมชนเมืองดังเช่นปัจจุบัน
.
- ท้ายที่สุดนี้ ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่า การจัดพิธีกรรมเลี้ยงดงผีปู่แสะย่าแสะบนพื้นที่ร่องรอยชุมชนถลุงเหล็กโบราณจะมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจที่มรดกวัฒนธรรมทั้งประเภท Tangible และ Intangible ของกลุ่มชนดั้งเดิมยังคงอยู่ร่วมกันในพื้นที่ป่าใกล้เมืองแห่งนี้ คู่เมืองเชียงใหม่สืบไป
(จำนวนผู้เข้าชม 6220 ครั้ง)