ลัวะบ้านบ่อหลวง
//ลัวะบ้านบ่อหลวง กลุ่มชนผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการถลุงเหล็กรุ่นสุดท้ายของเมืองเชียงใหม่//
.
เรียบเรียงโดย นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ
.
- ลัวะ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน มีการเคลื่อนไหวทางสังคมปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย อย่างน้อยตั้งแต่ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19
.
- ข้อมูลจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ พับสา "รวมเรื่องเมืองเชียงใหม่: หลักฐานประวัติศาสตร์" ปริวรรตโดย สรัสวดี อ๋องสกุล (2559) ได้ระบุว่า ราวช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24 "ลัวะ" เป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญในฐานะผู้ผลิตเหล็ก โดยหัวหน้าชุมชนลัวะจะต้องรวบรวมทรัพยากรเหล็กจำนวนมากพร้อมกับเงินตราส่งส่วยให้แก่เมืองเชียงใหม่ ทำให้ลัวะเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเรียกเกณฑ์แรงงาน
.
- หลักฐานเอกประวัติศาสตร์ข้างต้นสอดคล้องกับงานศึกษาของ Hutchinson (1934) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2477 ระบุว่า ลัวะบ้านบ่อหลวง (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่) ให้ความสำคัญกับผีที่ดูแลเหมืองแร่เหล็ก ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506) ที่ระบุว่า ลัวะบ้านบ่อหลวง มีพิธีกรรมฆ่าสัตว์สังเวยและให้สาวพรหมจารีย์เข้าไปขุดสินแร่เหล็กออกมาถลุง ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการทำเหล็ก ของกลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวงได้เป็นอย่างดี
.
- จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของทีมนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวงได้เลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กไปเมื่อราว 80 ปีมาแล้ว อันเนื่องจากการเข้ามาของเหล็กอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความผูกพันกับแหล่งทรัพยากร ต้องกลับไปทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบ่อเหล็กที่บ้านแม่โถ ในห่วงเวลาทุก ๆ 3 ปี สืบมากระทั่งถึงปัจจุบัน
.
- นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่บ้านบ่อหลวง ยังพบประจักษ์พยานเกี่ยวกับกิจกรรมการทำเหล็กหลายประการ เช่น ก้อนแร่ ทั่งย่อยแร่ ตูแยร์ ทั่งตีเครื่องมือเหล็ก และก้อนโลหะเหล็ก เป็นต้น ซึ่งมีความเหมือนกันกับหลักฐานที่พบในกลุ่มแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่โถ ทั้งในแง่ของวัสดุ รูปแบบ และเทคนิควิธีการ
.
- จากข้อมูลเชิงมานุษยวิทยาและเชิงโบราณคดีที่กล่าวมาข้างต้น จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง เดิมน่าจะเคยตั้งถิ่นฐานชุมชนถลุงเหล็กขนาดใหญ่อยู่บริเวณยอดดอยบ้านแม่โถเมื่อราว 400 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการย้ายถิ่นฐานมาที่บ้านบ่อหลวง เมื่อราวช่วง 200 - 150 ปีที่ผ่านมา ตามความทรงจำที่บอกเล่าต่อกันมาของผู้คนในชุมชน
.
- ถึงแม้ปัจจุบันกลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง จะเลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กแบบโบราณไปแล้ว แต่ยังคงมีความผูกพันทางจิตวิญญาณกับการทำเหล็ก ผ่านพิธีกรรมโบราณเฉกเช่นบรรพชนที่กระทำสืบเนื่องมาหลายร้อยปี นับเป็นมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าสำคัญของดินแดนล้านนา ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป
.
- ภาพประกอบภาพแรก คุณลุงเปี้ย อายุ 90 ปี ทายาทตระกูลถลุงเหล็ก ลัวะบ้านบ่อหลวง ที่อยู่ร่วมในกระบวนการถลุงเหล็กแบบโบราณครั้งสุดท้ายเมื่อราว 80 ปีมาแล้ว ส่วนในมือที่ถืออยู่ คือ ก้อนโลหะเหล็ก (Iron Bloom) ผลผลิตที่ได้จากการถลุง และมีดที่ตีขึ้นจากเหล็กถลุงแบบโบราณ
.
เรียบเรียงโดย นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ
.
- ลัวะ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน มีการเคลื่อนไหวทางสังคมปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย อย่างน้อยตั้งแต่ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19
.
- ข้อมูลจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ พับสา "รวมเรื่องเมืองเชียงใหม่: หลักฐานประวัติศาสตร์" ปริวรรตโดย สรัสวดี อ๋องสกุล (2559) ได้ระบุว่า ราวช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24 "ลัวะ" เป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญในฐานะผู้ผลิตเหล็ก โดยหัวหน้าชุมชนลัวะจะต้องรวบรวมทรัพยากรเหล็กจำนวนมากพร้อมกับเงินตราส่งส่วยให้แก่เมืองเชียงใหม่ ทำให้ลัวะเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเรียกเกณฑ์แรงงาน
.
- หลักฐานเอกประวัติศาสตร์ข้างต้นสอดคล้องกับงานศึกษาของ Hutchinson (1934) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2477 ระบุว่า ลัวะบ้านบ่อหลวง (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่) ให้ความสำคัญกับผีที่ดูแลเหมืองแร่เหล็ก ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506) ที่ระบุว่า ลัวะบ้านบ่อหลวง มีพิธีกรรมฆ่าสัตว์สังเวยและให้สาวพรหมจารีย์เข้าไปขุดสินแร่เหล็กออกมาถลุง ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการทำเหล็ก ของกลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวงได้เป็นอย่างดี
.
- จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของทีมนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวงได้เลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กไปเมื่อราว 80 ปีมาแล้ว อันเนื่องจากการเข้ามาของเหล็กอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความผูกพันกับแหล่งทรัพยากร ต้องกลับไปทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบ่อเหล็กที่บ้านแม่โถ ในห่วงเวลาทุก ๆ 3 ปี สืบมากระทั่งถึงปัจจุบัน
.
- นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่บ้านบ่อหลวง ยังพบประจักษ์พยานเกี่ยวกับกิจกรรมการทำเหล็กหลายประการ เช่น ก้อนแร่ ทั่งย่อยแร่ ตูแยร์ ทั่งตีเครื่องมือเหล็ก และก้อนโลหะเหล็ก เป็นต้น ซึ่งมีความเหมือนกันกับหลักฐานที่พบในกลุ่มแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่โถ ทั้งในแง่ของวัสดุ รูปแบบ และเทคนิควิธีการ
.
- จากข้อมูลเชิงมานุษยวิทยาและเชิงโบราณคดีที่กล่าวมาข้างต้น จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง เดิมน่าจะเคยตั้งถิ่นฐานชุมชนถลุงเหล็กขนาดใหญ่อยู่บริเวณยอดดอยบ้านแม่โถเมื่อราว 400 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการย้ายถิ่นฐานมาที่บ้านบ่อหลวง เมื่อราวช่วง 200 - 150 ปีที่ผ่านมา ตามความทรงจำที่บอกเล่าต่อกันมาของผู้คนในชุมชน
.
- ถึงแม้ปัจจุบันกลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง จะเลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กแบบโบราณไปแล้ว แต่ยังคงมีความผูกพันทางจิตวิญญาณกับการทำเหล็ก ผ่านพิธีกรรมโบราณเฉกเช่นบรรพชนที่กระทำสืบเนื่องมาหลายร้อยปี นับเป็นมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าสำคัญของดินแดนล้านนา ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป
.
- ภาพประกอบภาพแรก คุณลุงเปี้ย อายุ 90 ปี ทายาทตระกูลถลุงเหล็ก ลัวะบ้านบ่อหลวง ที่อยู่ร่วมในกระบวนการถลุงเหล็กแบบโบราณครั้งสุดท้ายเมื่อราว 80 ปีมาแล้ว ส่วนในมือที่ถืออยู่ คือ ก้อนโลหะเหล็ก (Iron Bloom) ผลผลิตที่ได้จากการถลุง และมีดที่ตีขึ้นจากเหล็กถลุงแบบโบราณ
(จำนวนผู้เข้าชม 1752 ครั้ง)