เมืองโยนก นครในตำนานล้านนา
องค์ความรู้ เรื่อง : เมืองโยนก นครในตำนานล้านนา
โดย : สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
. ตำนานสิงหนวัติกุมารเล่าถึงการเข้ามาในดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำกก ของชาวไทยเทศ มีผู้นำคือ สิงหนวัติกุมารได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คือ เมืองโยนกนาคพันธุ์ หรือเมืองโยนกนั่นเอง และมีการอยู่อาศัยเรื่อยมา จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้เกิดเหตุอาเพศ ตำนานเล่าว่าชาวเมืองได้จับปลาไหลเผือกมากิน ทำให้เกิดแผ่นดินไหว บ้านเมืองล่มสลายหายไปในที่สุด
. ชื่อเรียก “โยน” หรือ “ยวน” ที่เรียกกลุ่มคนและแคว้นบริเวณลุ่มแม่น้ำกกตั้งแต่สมัยพญามังรายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นั้น น่าจะมีที่มาจากชื่อเมืองโยนก ซึ่งแสดงถึงการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตั้งแต่ยุคตำนานจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายท่านเห็นว่า เมืองโยนกนี้ ไม่น่าจะเป็นเพียงเมืองในตำนาน เพราะลักษณะการเล่าเรื่องในตำนานบอกถึงความทรงจำถึงเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน
. นักวิชาการสันนิษฐานว่าเมืองโยนกที่ล่มสลายไป น่าจะมีที่ตั้งอยู่ ๒ บริเวณ คือ บริเวณเวียงหนองล่ม (หรือเวียงหนองหล่ม ในภาษาเหนือ) ในพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และอีกบริเวณคือ หนองหลวง ในพื้นที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทั้ง ๒ แห่งนี้ มีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นเดียวกัน แต่จากหลักฐานโบราณสานและโบราณวัตถุ ทำให้เชื่อว่าเมืองโยนกอยู่บริเวณเวียงหนองหล่ม มีน้ำหนักมากกว่า นอกจากนั้น เวียงหนองหล่มยังตั้งอยู่บนบริเวณรอยเลื่อนแม่จัน ที่ยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่ง ดร.นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่าสาเหตุที่ทำให้เวียงโยนกหรือเวียงหนองล่มสลาย อาจเป็นเพราะตั้งอยู่ตรงตำแหน่งรอยเลื่อนนั้นพอดี
. พื้นที่เวียงหนองหล่มกินพื้นที่ ๔ ตำบล ใน ๒ อำเภอ ได้แก่ ตำบลจันจว้า ตำบลท่าข้าวเปลือก ตำบลจอมสวรรค์ อำเภอแม่จัน และตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน มีการสำรวจทางโบราณคดีพบโบราณสถาน ทั้งวัดร้างและแหล่งเตาเผาโบราณ จำนวน ๗๘ แหล่ง อย่างไรก็ตาม โบราณวัตถุและโบราณสถานที่สำรวจพบในพื้นที่เวียงหนองหล่ม สามารถกำหนดอายุได้ในราวช่วงสมัยล้านนาเท่านั้น ยกเว้น กลองมโหระทึก ที่ชาวบ้านพบจากหนองเขียว ที่มีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
. หากดูจำตำแหน่งที่ตั้งประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีส่วนใหญ่ที่พบแล้ว จะเห็นได้ว่าเวียงหนองหล่มตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างเมืองเชียงรายและสบกก (บริเวณที่แม่น้ำกกไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขง) และระหว่างเมืองเชียงรายกับเมืองเชียงแสน โดยหากล่องแม่น้ำกกจากเมืองเชียงรายมาจะถึงเวียงหนองหล่มก่อนจะเข้าไปยังเมืองเชียงแสน ชุมชนบริเวณนี้จึงน่าจะเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเมืองเชียงแสน อาจจะในฐานะชุมชนที่เป็นแหล่งหาปลา หรือแหล่งเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นที่ชุ่มน้ำที่มีแม่น้ำสาขาไหลเชื่อมไปยังแม่น้ำโขง จึงเป็นบริเวณที่มีปลาชุกชุม และมีแม่น้ำสายย่อย เหมาะแก่การเพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม ในพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า พญาแสนภูได้สร้างเมืองเชียงแสนขึ้นบนเวียงเดิม ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า เวียงเดิมที่กล่าวถึงในตำนานอาจจะกินพื้นที่กว้างขวางถึงบริเวณเวียงหนองหล่ม แต่จุดที่ตั้งเมืองเชียงแสนอาจจะเป็นเมืองเดิมที่มีการอยู่อาศัยอย่างเบาบาง จึงยังไม่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนล้านนาก็เป็นได้
- สำหรับ " กลองมโหระทึกจันจว้า " สามารถติดตามได้ในลิงค์ : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/.../virtual-model...
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
เรียบเรียงโดย :
นางสาวนงไฉน ทะรักษา
นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
(จำนวนผู้เข้าชม 30404 ครั้ง)