เวียงกุมกามกับลักษณะทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับหริภุญไชย
การที่พญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่ได้นำเอาลักษณะวัฒนธรรมของตนเข้ามา แต่กลับยอมรับในวัฒนธรรมหริภุญไชย โดยมีการบูรณะเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ซึ่งเดิมพระเจ้าอาทิตยราชสร้างไว้เป็นทรงมณฑปให้เป็นทรงกลม นอกจากนี้ สิ่งที่จะยืนยันถึงประเด็นที่เมืองหริภุญไชยเป็นเมืองทางศาสนาคือ ในการย้ายจากหริภุญไชยมาเวียงกุมกาม และมอบเมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าปกครองนั้น มีบันทึกว่า " เมืองนี้เป็นเมืองพระเจ้า กูอยู่บ่ได้ " ลักษณะนี้อาจเป็นไปได้ว่า เมืองดังกล่าวคงจะรุ่งเรืองไปด้วยวัดวาอารามยากต่อการขยายเมือง เพราะแม้ในสมัยพญากือนาที่เชิญพระสุมนเถระจากสุโขทัยขึ้นไปเผยแพร่พุทธศาสนา ยังคงมาพักที่วัดพระยืน ลำพูน ก่อนที่จะเข้ามาที่เชียงใหม่ เรื่องราวเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมหริภุญไชยกับพญามังรายว่า เมื่อสร้างเวียงกุมกามบทบาทของพระพุทธศาสนาจากหริภุญไชยคงจะต้องแพร่กระจายมาถึงด้วย
หลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ คือ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม รูปแบบพระพิมพ์ดินเผา และภาชนะดินเผา หลักฐานเหล่านี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบศิลปะได้เป็นอย่างดี
หลักฐานประการแรก คือ ลักษณะสถาปัตยกรรมที่วัดกู่คำ หรือวัดเจดีย์เหลี่ยม มีลักษณะรูปแบบเดียวกับเจดีย์กู่กุดหรือสุวรรณจังโกฏิในเมืองหริภุญไชย ข้อแตกรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะทางศิลปะของพระพุทธรูป ลวดลายประดับซุ้มพระ ซึ่งที่เจดีย์เหลี่ยมได้ถูกเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นลักษณะของศิลปะพม่าเมื่อตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลักษณะโครงสร้างโดยส่วนรวมแล้วมีลักษณะเป็นแบบเดียวกับเจดีย์กู่กุด
ซากเจดีย์อีกองค์หนึ่งที่น่าจะได้ต้นแบบมาจากรัตนเจดีย์วัดจามเทวี ที่มีรูปทรงเป็นรูป ๘ เหลี่ยม มีพระพุทธรูปประดับตามซุ้มในแต่ละเหลี่ยม ส่วนบนเป็นองค์ระฆังกลมเหนือขึ้นไปชำรุดผุพัง นั่นก็คือ ซากเจดีย์ที่วัดเกาะกุมกามทีปราราม
หลักฐานประการที่ ๒ คือ พระพิมพ์ดินเผา ในการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดช้างค้ำ การขุดค้นที่วัดปู่เปี้ย และการขุดค้นที่วัดกุมกามทีปราราม พบพระพิมพ์ดินเผาแบบลำพูนเป็นจำนวนมาก ลักษณะของพระพิมพ์ดังกล่าว มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ การที่พบพระพิมพ์ดินเผาแบบลำพูนเป็นจำนวนมากนี้ ย่อมจะชี้ให้เห็นถึงการสืบเนื่องวัฒนธรรมทางศาสนาจากหริภุญไชยมาสู่เวียงกุมกาม
หลักฐานประการที่ ๓ ภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชย ที่มีหลายรูปแบบ เช่น แบบลำตัวป่อง ปากเล็ก มีฐาน หรือแบบคล้ายน้ำต้นที่เนื้อหนากว่า โดยเฉพาะลวดลายที่เป็นแบบขีดรูปสามเหลี่ยมมีเส้นอยู่ภายในและทาน้ำดินสีแดงเข้ม พบจากการขุดค้นและขุดแต่งในเขตเวียงกุมกามเป็นจำนวนมาก
อ้างอิง : นิตยสารของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ปีที่ ๓๑ เล่มที่ ๕ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๓๐
(จำนวนผู้เข้าชม 1597 ครั้ง)