...

วัดสะดือเมือง
โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน โบราณสถานในเขตจังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ

สันนิษฐานว่ากลุ่มโบราณสถานเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิขของพญามังราย ซึ่งตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพงศาวดารโยนก กล่าวว่า พญามังรายถูกฟ้าผ่ากลางตลาดและพญาไชยสงคราม พระราชโอรสได้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้กลางตลาด อย่างไรก็ดีบริเวณที่ตั้งกลุ่มโบราณสถานตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งมีชื่อสัมพันธ์กับคำว่า "วัดดือเมือง" ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนาน 15 ราชวงศ์ ฉบับสอบชำระเกี่ยวกับตำแหน่งของที่ตั้งกลุ่มโบราณสถาน อาจกล่าวได้ว่าอยู่ประมาณกลางเมืองชียงใหม่ ซึ่งปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือหนังสือ "รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเมืองเชียงใหม่" ได้เรียกตำบลบ้านบริเวณนี้ว่า "แขวงด้าวกลางเวียงเชียงใหม่" เจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้ได้รับอิทธิพลของหริกุญไชย มาเป็นแบบแผนในยุคแรกๆ

ประวัติในเอกสาร

1. "วัดอินทขิล ตั้งอยู่แขวงด้าวกลางเวียงเชียงใหม่ เจ้าอธิการชื่อ สุลินทอาคิ เป็นนิกายเชียงใหม่ ยังไม่ได้เป็นอุปัชฌายะ รองอธิการไม่มี จำนวนพระลูกวัดในพรรษานี้ไม่มี พรรษาก่อน 2 องค์ ขึ้นแก่วัดองมง (อุโมงค์)" (รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์ฯ, หน้า 3)

2. สมัยพระยากาวิละ "...ศักราช 1156 ตัว (พ.ศ.2337) ปีกาบยีเดือน 8 เพ็ญเม็ง วัน 1 ปฐมมหามูลศรัทธา เจ้ามหาอุปราชได้สร้างพระวิหาร อินทขีล และได้สร้างพระพุทธรูปเจ้าองค์หนึ่งไว้เป็นที่ไหว้และบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย..." (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 105)

3. ในสมัยพระยาคำฟั่น 2366 โปรดให้ทำพิธีสักการบูชาและทำบุญเมืองที่ทักษาเมืองทั้งแปดแห่ง (บริวารเมือง อายุเมือง เดชเมือง ศรีเมือง มูลเมือง มนตรีเมือง อุตสาหเมือง และกาลกิณีเมือง) ที่ประตูเมืองทั้ง 10 แห่ง ที่สะดือเมือง ที่เสาอินทขีล และช้างเผือกทั้ง 2 ตัว ความว่า

"ขณะยามนั้น เทพสังหรณ์หื้อหันนิมิตหลายประการ คือว่าหื้อหันพระอาทิตย์ออก 2 ลูก พระจันทร์ก่อออก 2 ลูก ต่ำแน้ ฟาน (เก้ง) ก็เข้าเวียง ท่านองค์พระเป็นเจ้าหื้อหาหมอและปราชญ์มาบูชาทิสสะพละและอินทอุปปะ แล้วนิมนต์พระสังฆเจ้าสูตรปริยัติมังคละและกรณีพันคาบ ไชยทั้ง 7 ในที่ทั้งหลาย 28 แห่ง คือว่า ปอาเตศรีอุมะกาแห่งเมืองและประตูเมืองทั้งสิบ สะดือเมือง ที่อินทขีล และช้างเผือกสองตัวหัวเวียง พระสังฆะสูตรและแห่งและ 19 องค์ กระทำบุญหื้อทานและบูชาตามอุปเทศ แล้วก็บูชาเสื้อเมือง คือว่า อินทขิล 7 วัน 7 คืน หั้นแล" (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 130)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

เจดีย์ประธานทรงระฆัง : ขนาดฐาน 7.80 x 7.80 เมตร ได้รับการบูรณะแล้วโดยยังคงเหลือให้เห็นร่องรอยของการสร้างเจดีย์องค์นอกทับเจดีย์องค์ใน ส่วนฐานลักษณะหน้ากระดานสี่เหลี่ยมสามชั้น และฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ท้องกระดานมีลวดบัวคาดประดับสองเส้น รองรับฐานหน้ากระดานกลมและชุดมาลัยเถาค่อนข้างสูงสามชั้น ชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังทรงกลม บัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉน บัวฝาละมี ปล้องไฉน และปลี เป็นเจดีย์ศิลปะพื้นเมืองล้านนา จากลักษณะของเจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ในยุคต้นๆ ของเชียงใหม่ ราวพุทธศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้ยังสร้างพอกทับเจดีย์อีกองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ซึ่งยังเห็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ทิศตะวันออกใกล้กันเป็นวิหารหลวงพ่อขาว โดยภาพรวมแล้ววัดนี้ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนและถนนที่มีการจราจรหนาแน่น

เจดีย์รายทรงปราสาทแปดเหลี่ยม : ประกอบด้วย หน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนสามชั้น ฐานบัวลูกแก้วแปดเหลี่ยม ท้องกระดานมีลวดบัวลูกแก้วอกไก่สองเส้น รองรับเรือนธาตุแปดเหลี่ยม มีซุ้มจระนำทุกด้าน ทางด้านตะวันออกเปิดเป็นโพรงเข้าไป น่าจะประดิษฐานพระพุทธรูป เหนือเรือนธาตุเป็นชุดมาลัยเถา ลักษณะเป็นฐานเขียงแปดเหลี่ยมสามชั้นรองรับองค์ระฆัง ปล้องไฉน และปลี โดยไม่มีบัลลังก์ เจดีย์ก่อสร้างโดยการก่ออิฐฉาบปูน เรียงอิฐแบบสั้นสลับยาว ตกแต่งเรือนธาตุแต่ละด้านด้วยการทำเป็นกรอบซุ้ม ในซุ้มแต่ละด้านมีซุ้มจระนำ ประดับลายปูนปั้น องค์ระฆังประดับกลับบัวโดยรอบ เจดีย์น่าจะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัยและยังส่งอิทธิพลต่อกลุ่มเจดีย์แบบเจดีย์ป่อง คือ เจดีย์วัดตะโปทาราม เจดีย์เก่าวัดพวกหงส์ และเจดีย์ป่องวัดเชียงโฉม เจดีย์องค์นี้มีอายุอยู่ในระยะพุทธศตวรรษที่ 20

สภาพปัจจุบัน

ปัจจุบันได้รับการยกเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาแล้ว ปรากฎหลักฐานเจดีย์ประธานทรงระฆัง วิหารหลวงพ่อขาว และเจดีย์รายทรงมณฑป 8 เหลี่ยม (ในกำแพงรั้วหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) จากหลักฐานแผนที่เมืองนครเชียงใหม่พบว่ายังไม่มีถนนอินทวโรรส เพียงแต่มีเส้นทางเข้ามาถึงด้านหน้าวัดเท่านั้น



(จำนวนผู้เข้าชม 3252 ครั้ง)


Messenger