“อนุฏฐานไสยา” พุทธปฏิมาบนเพิงผาเขาตะเภา จังหวัดลพบุรี
“อนุฏฐานไสยา” พุทธปฏิมาบนเพิงผาเขาตะเภา จังหวัดลพบุรี
ห่างจากตัวเมืองลพบุรีออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๕๓ กิโลเมตร ในเขตอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นที่ตั้งของภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ วางตัวอยู่ตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งชาวบ้านพากันเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า “เขาตะเภา” มีที่มาจากเรื่องราวในตำนานพื้นบ้านเมืองลพบุรี เรื่อง ขันหมากพระเจ้ากรุงจีน ว่าเรือสำเภาของพระเจ้ากรุงจีนซึ่งยกขันหมากมาสู่ขอนางนงประจันทร์ ธิดาของท้าวกกขนากได้ล่มตะแคงจมลงกลายเป็นหิน
บริเวณเชิงเขาตะเภาทางทิศเหนือ ซึ่งตั้งอยู่เหนือเขตวัดราชบรรทม ใช้ระยะทางในการเดินเท้าขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เมตร มีเพิงผาหินทรายขนาดเล็กปรากฏภาพสลักนูนต่ำพระพุทธไสยาสน์ลงรักปิดทอง ขนาดความยาว ๒.๓๐ เมตร ความสูง ๐.๕๗ เมตร แสดงพระอิริยาบถไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องซ้าย (ตะแคงซ้าย) หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระกรขวาวางทอดตามพระปรัศว์ (สีข้าง) หรือราบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ซ้ายตั้งขึ้นประคองพระเศียรซึ่งมีพระเขนย (หมอนหนุน) ทรงกลมรองรับพระเศียร และพระเขนยทรงสามเหลี่ยมรองรับพระกัจฉะ (รักแร้) ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏแคบ พระขนงโก่งเป็นเส้นโค้งมาจรดพระนาสิก พระเนตรทั้งสองข้างหลับ พระนาสิกเล็กโด่ง พระโอษฐ์เรียวบางแย้มพระสรวลเล็กน้อย เม็ดพระศกขนาดเล็กคล้ายหนามขนุนเรียงกันเป็นระเบียบ มีอุษณีษะและพระรัศมีเป็นเปลว ไรพระเกศาเป็นแถบเส้นขนาดเล็ก พระกรรณยาวลงมาเกือบจรดพระอังสา ครองอุตราสงค์เรียบห่มเฉียงพระอังสาซ้าย สังฆาฏิเป็นแถบสี่เหลี่ยม ชายสังฆาฏิเป็นรูปหางปลายาวเกือบจรดพระนาภี มีรัดประคดคาดทับอันตรวาสกเป็นเส้นแถบขนานโค้งลงด้านหน้าตรงกึ่งกลางหยักแหลมเล็กน้อย อันเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลสืบทอดมาจากศิลปะสุโขทัย ชายอันตรวาสกคลุมเหนือข้อพระบาททั้งสองข้าง และชายอุตราสงค์พาดคลุมทับอันตรวาสกเหนือขึ้นมาเล็กน้อย พระบาททั้งสองข้างซ้อนเสมอกัน จากรูปแบบศิลปะสามารถกำหนดอายุเบื้องต้นได้ราวสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕)
ด้านทิศตะวันออกของภาพสลักรูปพระพุทธไสยาสน์มีถ้ำหินทรายขนาดเล็ก ที่ปากถ้ำฝั่งตรงข้ามปรากฏภาพสลักลายเส้นเป็นรูปต้นไม้ และดอกไม้ที่มีกลีบดอกโค้งลง ส่วนภายในคูหาถ้ำที่ผนังหินด้านในสุด ความสูงจากพื้นขึ้นไปประมาณ ๒ เมตร ปรากฏภาพสลักนูนต่ำโกลนพระพุทธรูปประทับนั่งในพระอิริยาบถแบบวีราสนะหรือขัดสมาธิราบ แสดงธยานมุทรา ท่วงท่าแห่งการทำสมาธิ การหลุดพ้นของจิตสู่นิพพานหรือการตรัสรู้ ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๕ เซนติเมตร ความสูง ๕๐ เซนติเมตร ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบที่นิยมในศิลปะลพบุรี พระขนงเป็นเส้นนูนต่อกันพระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกเล็กโด่ง ขอบพระโอษฐ์ค่อนข้างหนา ยังไม่มีการสลักลายละเอียดของพระศก มีพระเกตุมาลาซ้อนกัน ๒ ชั้น พระกรรณยาวสวมกุณฑล ไม่ปรากฏรายละเอียดของการครองไตรจีวร
เมื่อพิจารณาภาพสลักพระพุทธไสยาสน์บนเพิงผาเขาตะเภาโดยละเอียดพบว่า มีแบบแผนการไสยาสน์แตกต่างไปจากรูปพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ซึ่งได้กล่าวถึงพระอิริยาบถการไสยาสน์ในห้วงเวลาปกติของพระพุทธองค์ว่า ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา (ตะแคงขวา) ซ้อนพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาท และเป็นการบรรทมแบบ “อุฏฐานสัญญา” มีพระสติสัมปชัญญะตั้งสัญญาในอันที่จะลุกขึ้นไว้ในจิต แม้ขณะที่เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรงใกล้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็ทรงสำเร็จสีหไสยา และเป็นการบรรทมแบบ “อนุฎฐานไสยา” ที่มี พระสติสัมปชัญญะตั้งสัญญาว่าจะเป็นการนอนที่ไม่มีการลุกขึ้น หรือเป็นการนอนครั้งสุดท้าย โดยอ้างอิงจาก พระมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ซึ่งกล่าวถึง พระอิริยาบถการไสยาสน์ของพระพุทธเจ้าในช่วงระยะเวลาสำคัญแห่งวันดับขันธ์ปรินิพพานไว้ ๒ เหตุการณ์ ดังนี้
๑. เรื่อง ปุกกุสะ มัลลบุตร มีข้อความว่า “ ... พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปยังแม่น้ำกกุธา เสด็จลงสรงในแม่น้ำกกุธา ทรงดื่มแล้วเสด็จขึ้นไปยังอัมพวัน รับสั่งเรียก ท่านพระจุนทกะมาตรัสว่า “ จุนทกะ เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก ท่านพระจุนทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงกำหนดพระทัยพร้อมจะเสด็จลุกขึ้น ส่วนท่านพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคในที่นั้น...”
๒. เสด็จไปยังควงไม้สาละทั้งคู่ มีข้อความว่า “ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียก ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะข้ามไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี ตรงสาลวันของพวกเจ้ามัลละอันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี ตรงสาลวันของพวกเจ้ามัลละ อันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา แล้วรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยตั้งเตียงระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้านศีรษะไปทางทิศเหนือ เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วตั้งเตียงระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้านพระเศียรไปทางทิศเหนือ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงสติสัมปชัญญะฯ...”
พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “การสำเร็จสีหไสยา” หมายถึง การนอนตะแคงขวาวางเท้าซ้อนกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำสัญญาในการลุกขึ้นไว้ในใจ ประดุจดังการนอนของราชสีห์ที่นอนตะแคงขวา วางเท้าหน้า เท้าหลังทั้งคู่ และเก็บหางไว้ระหว่างขาอ่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงวางศีรษะนอนลงบนสองเท้าหน้า การนอนในอิริยาบถนี้แม้นอนตลอดทั้งวัน เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะไม่สะดุ้งหวาดกลัว และสามารถตรวจดูเท้าหน้าทั้งคู่ของตน ให้ไม่เคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม ซึ่งเป็นอิริยาบถที่สมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญตามชาติกำเนิดของตน เป็นผู้มีจิตใจยินดี และร่าเริง แล้วจึงลุกขึ้นบิดกายแสดงอาการหาว สะบัดขนสร้อยคอ และบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วจึงออกไปแสวงหาอาหาร การนอนแบบสีหไสยานี้เป็นอิริยาบถอันอุดมด้วยเดช ซึ่งตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ระบุว่า สีหไสยาเป็นพระอิริยาบถการนอนของพระพุทธองค์ และภิกษุตามธรรมวินัยในมัชฌิมยามแห่งราตรี
การอธิบายแบบแผนการไสยาสน์ที่ปรากฏในภาพสลักพระพุทธไสยาสน์บนเพิงผาเขาตะเภาซึ่งแตกต่างออกไป ได้แก่ พระอิริยาบถการไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องซ้าย (ตะแคงซ้าย) หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ โดยการอ้างอิงจากข้อมูลการรวบรวมและศึกษาพระพุทธไสยาสน์ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ ของ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธไสยาสน์ ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงซ้าย หันพระพักตร์ไปทิศเหนือและพระเศียรไปทางทิศตะวันตกไว้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งพระมหานามเถระ พระเถระในลังกาทวีป รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลี และ คณะบัณฑิตรจนาเพิ่มเติมจนจบในระหว่าง พ.ศ. ๑๐๐๒-๑๐๒๐ ที่มีรายละเอียดกล่าวถึง เหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไว้ในวชยาภิเษก ปริเฉทที่ ๗ ว่า
“...อันว่าสมเด็จพระราชกุมาร อันทรงพระนามชื่อ พระวิชยราโชรส ผู้กอปรด้วยพระปัญญาอัชฌาสัยมั่นคงมิได้จุลาจล อธิบายว่า ทรงซึ่งสุรภาพแกล้วหาญแลพระกำลังแลความเพียร เสด็จไปถึงตามพบัณณประเทศในเกาะลังกา ในวันเสด็จพุทธไสยาสน์แห่งสมเด็จพระบรมครูเจ้า อันมีพระพักตร์บ่ายไปข้างอุดรทิศแลพระเศียรบ่ายไปข้างปาจินทิศ ด้วยทรงมนสิการเป็นอนุฏฐานไสยาสน์ ในพระบวรพุทธาอาสน์อันประเสริฐ เป็นที่สุด มิได้อุฏฐาการจากที่นี้ เพื่อจะเสด็จปรินิพพานด้วยนิพพานธาตุ อันหาวิบากขันธ์แลกรรม มัชรูป จะมีเศษมิได้ ในระหว่างคู่รังรุกขชาติ อันอาจให้เกิดจิตรพิศวง ด้วยความชื่นชมแก่นิกรน รนราอันมาถึงที่ใกล้ในร่มรัง รุกขชาติดรุณ กอปรด้วยคุณผุลลิตาทิดิเรกบุปผบูชาอันมีในสาลยุคลคณารุกขชชาตินั้น อันว่าปริจเฉทเป็นคำรบหก ชื่อ วิชยาคมบริเฉท อันมีในคัมภีร์พระมหาวงษ์อันพระมหานามเถรรจนาไว้ ...”
คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจากลังกาทวีปฉบับนี้เผยแผ่เข้ายังสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในสมัยอยุธยาคงมีการแปลคัมภีร์มหาวงศ์ออกเผยแพร่ แต่ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานฉบับแปลที่ระบุศักราช แน่ชัด อีกทั้งในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เป็นผู้ชำระคัมภีร์มหาวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ ทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ลังกา เรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปแพร่หลายมาเป็นพื้นฐานผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในด้านความเชื่อทางศาสนาของสังคมไทย
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าภาพสลักพระพุทธไสยาสน์บนเพิงผาเขาตะเภา จังหวัดลพบุรี เป็นภาพพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างขึ้นตามคัมภีร์และคติความเชื่อทางพุทธศาสนาจากลังกาทวีป แสดงถึงห้วงเวลาแห่งกาลดับขันธ์ปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทรงมีพระกำหนด “อนุฏฐานไสยา”การบรรทมครั้งสุดท้ายที่ไม่มีการลุกขึ้นอีก ระหว่างต้นสาละคู่ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา นอกจากนี้จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า การสร้างพระพุทธไสยาสน์ แสดงพระอิริยาบถไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องซ้าย (ตะแคงซ้าย) มีการสร้างมาตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) เช่น พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว จังหวัดกาฬสินธุ์ และในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕) พบในวัดวาอารามหลายแห่ง เช่น พระพุทธไสยาสน์ วัดบางเตย กรุงเทพมหานคร, พระพุทธไสยาสน์ วัดใหญ่นครชุมน์ จังหวัดราชบุรี, พระพุทธไสยาสน์ วัดน้ำคอกเก่า จังหวัดระยอง, พระพุทธไสยาสน์ วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี เป็นต้น
ผู้เรียบเรียง : นายเดชา สุดสวาท
นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
หนังสืออ้างอิง :
- กรมศิลปากร , กองโบราณคดี . ทำเนียบพระพุทธไสยาสน์ในภาคตะวันออก . กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๕๙
- กรมศิลปากร , วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ . กรุงเทพฯ : ไทยพรีเมียร์ พริ้นติ้ง , ๒๕๓๔
- ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ , ประทีป เพ็งตะโก และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร . “เขาตะเภา ลพบุรี :
แหล่งวัตถุดิบ และแหล่งผลิตพระพุทธรูปหินทรายสมัยลพบุรีและอยุธยา ” นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๑ เล่มที่ ๒ , ๒๕๓๐
- พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยมหาปรินิพพาน . โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๐ หน้า ๑๔๕, ๑๔๗ และ ๑๔๘ ในเว็บไซต์ 84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=p148 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖
(จำนวนผู้เข้าชม 567 ครั้ง)