ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี กรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการบูรณะศาลาการเปรียญวัดบ้านไร่ ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี สืบเนื่องจากการตรวจสอบโบราณสถานของเจ้าหน้าที่พบว่าศาลาการเปรียญ (หลังเก่า) ของวัดบ้านไร่ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ประกอบกับพื้นที่รอบเป็นลานจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงโบราณสถาน กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนชาวลาวเวียง เพื่อให้โบราณสถานอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นแห่งนี้กลับมามีประโยชน์ใช้สอย เป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือการดำเนินกิจกรรมทางสังคมเหมือนดังเช่นในอดีต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเสริมความมั่นคง บูรณะซ่อมแซม และอนุรักษ์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของศาลาการเปรียญ (หลังเก่า) วัดบ้านไร่ โดยใช้เทคนิควิธีการก่อสร้างตามหลักฐานดั้งเดิมที่ปรากฎอยู่
ศาลาการเปรียญ (หลังเก่า) หรือ “ศาลา ๑๐๐ ปี” ของวัดบ้านไร่ ตามประวัติจากคำบอกเล่า กล่าวว่า พระครูอุเทศธรรมนิวิฐ (ขุน จนฺโท) อดีตท่านเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๔๗๐-๒๕๐๗) ร่วมกับพระสงฆ์ และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาทำการก่อสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๗๕ ลักษณะเป็นอาคารโถงโครงสร้างไม้ ยกพื้น ใต้ถุนสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนาดความกว้าง ๑๒.๔๐ เมตร ความยาว ๒๖.๕๐ เมตร ด้านหน้าตั้งอยู่ทางทิศใต้ มีชานพักและบันไดตรงกึ่งกลาง เสาศาลาเป็นเสาไม้ขนาดเส้น ผ่านศูนย์กลาง ๓๒ - ๕๒ เซนติเมตร จำนวน ๓๔ ต้น หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วมีพาไลโดยรอบ มุงกระเบื้องซีเมนต์แบบหางแหลมไม่เคลือบ หน้าจั่วเป็นแผงไม้กระดานตีบังใบแนวตั้งไม่มีลวดลาย เครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์คอนกรีตหล่อพิมพ์ ช่อฟ้าทำเป็นรูปคล้ายแว่นแก้วหรือแว่นเทียน ใบระกา และหางหงส์ตกแต่งเป็นลายกนกและลายกระจังแบบพื้นถิ่น ส่วนโถงประธานของศาลาการเปรียญปูพื้นด้วยแผ่นไม้กระดาน ด้านทิศเหนือตลอดแนวเสาพาไลยกระดับพื้นขึ้นเป็นอาสน์สงฆ์
ศาลาการเปรียญ (หลังเก่า) วัดบ้านไร่ นอกจากใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม
ทางศาสนาในวันธรรมสวนะหรือวาระพิเศษทางศาสนา เช่น เทศน์มหาชาติ บุญเดือนสี่ หรือกิจกรรมสำคัญต่างๆ แล้ว ยังเคยถูกใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านไร่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับ ป.เตรียม ไปจนถึงชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๗
ซึ่งห้องเรียนในแต่ละระดับชั้นจะแบ่งกันด้วยช่วงเสาของศาลา ก่อนที่จะมีการย้ายโรงเรียนออกไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่ ดังนั้นจึงเป็นสถานศึกษาในวัยเยาว์ของผู้อาวุโสชาวบ้านไร่หลายๆ ท่าน
ภายหลังจากการบูรณะโบราณสถานแล้วเสร็จ “ศาลา ๑๐๐ ปี” ของวัดบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้กลับมามีสภาพมั่นคงแข็งแรง งดงาม และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความทรงจำในวิถีชีวิตวันวานของชาวบ้านไร่ ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และโบราณสถานแห่งนี้จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางในการสืบทอดภูมิปัญหา และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนสืบต่อไปอีกยาวนาน
นายเดชา สุดสวาท นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ / เรียบเรียง
นายพรชัย นาคทอง นายช่างโยธาปฏิบัติงาน และบริษัท ชาญรุ่งโรจน์ จำกัด /ถ่ายภาพ
(จำนวนผู้เข้าชม 2483 ครั้ง)