ภูเขาน้อย ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๑)
“ภูเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๑)
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
ภูเขาน้อย
ภูเขาน้อยเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา หลายคนอาจรู้จักจากสื่อต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา หรือการเป็นที่ตั้งป้อมหมายเลข ๙ ป้อมปราการที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาหรือพุทธศตวรรษที่ ๒๒
แม้จะเป็นที่เข้าใจกันว่า เมืองสงขลาเริ่มต้นในสมัยของดาโต๊ะ โมกอล รุ่งเรืองในสมัยสุลต่านสุไลมาน และเปลี่ยนศูนย์กลางหลังสมัยสุลต่านมุสตาฟา แต่ทราบหรือไม่ว่า พื้นที่รอบหัวเขาแดงมีผู้คนอยู่อาศัยก่อนการก่อตั้งเมืองสงขลา หรือ “ซิงกอรา” เป็นเวลาหลายร้อยปี หลักฐานสำคัญที่จะบ่งบอก “ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวแขาแดง” ได้ คือโบราณสถานภูเขาน้อยแห่งนี้
ภูเขาน้อย เป็นภูเขาหินทรายขนาดย่อม สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขาแดง ใกล้กับแนวคูเมือง ซึ่งเชิงเขาด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของป้อมหมายเลข ๙ เนื่องจากภูเขาลูกนี้อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล จึงใช้เป็นจุดสังเกตสำหรับการเดินเรือมาตั้งแต่ในอดีต เอกสารทั้งแผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ อายุกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ และแผนที่เมืองสงขลา วาดโดย เดอ ลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ ล้วนระบุตำแหน่งของภูเขาน้อยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง
ภูเขาน้อย ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และต่อมาได้รับประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕
เจดีย์เขาน้อย
บนยอดภูเขาน้อยปรากฏเจดีย์ขนาดใหญ่ ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ๒๐ เมตร ก่อด้วยอิฐและหิน สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน แต่พอสังเกตได้ว่าเหนือขึ้นไปมีเจดีย์ประธานตั้งอยู่กึ่งกลาง และอาจมีเจดีย์บริวารตั้งอยู่ที่มุม หลักฐานศิลปกรรมที่พบจากการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ กำหนดอายุของโบราณสถานได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีและศรีวิชัย ขณะที่เจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นหรือบูรณะใหม่ในสมัยอยุธยา แต่ลักษณะบางประการกลับคล้ายคลึงหรืออ้างอิงจากศิลปกรรมที่มีอายุก่อนหน้านั้น
ผังเจดีย์เขาน้อย
ผังของเจดีย์เขาน้อยเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเก็จนูนออกมาจากแนวระนาบของฐาน ด้านละสามเก็จ เทียบเคียงได้กับผังที่เรียกว่า ตรีรถะ (ภาษาสันสกฤต ตรี หมายถึง สาม, รถะ หมายถึง เก็จ) ประกอบด้วยเก็จประธาน ๑ เก็จอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางด้าน และ เก็จมุม ๒ เก็จ ผังนี้พบมาก่อนแล้วในสถาปัตยกรรมอินเดีย และเป็นรูปแบบที่พบร่วมกันกับวัฒนธรรมทวารวดี สังเกตได้ว่ามีเก็จที่ยื่นออกมา และส่วนผนังที่ยุบเข้าไปคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและทวารวดี มากกว่าที่พบในศิลปะเขมรและชวาภาคกลาง
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่าฐานของเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานก่อสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยา มีการต่อเติมซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละด้าน และส่วนของฐานที่ลึกเข้าไประหว่างเก็จ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาบด้วยประติมากรรมพระสาวก ทั้งนี้ ยังคงลักษณะผังหรือฐานที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หรือสถาปัตยกรรมทวารวดี แต่ระบบฐานอาจซับซ้อนน้อยลง กลายเป็นงานแบบพื้นถิ่นที่เรียบง่ายกว่า
ชิ้นส่วนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม พบที่เจดีย์เขาน้อย
การบูรณะขุดแต่งเจดีย์เขาน้อยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ พบหลักฐานศิลปกรรมที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ หลายชิ้น ส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่อาจเคยประดับศาสนสถานมาก่อน โบราณวัตถุจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา มีดังต่อไปนี้
- ชิ้นส่วนศิลาแกะสลักลวดลาย (?)
แกะสลักลวดลายที่ส่วนปลายคล้ายลายพรรณพฤกษา หรือลายมกรคายพรรณพฤกษา อาจเคยเป็นส่วนปลายของกรอบหน้าบันซุ้มที่เคยประดับฐานเจดีย์ หรืออาจเป็นเท้าแขน ที่ยื่นรองรับองค์ประกอบอื่น โดยมีเดือยสำหรับเชื่อมกับโครงสร้างสถาปัตยกรรม
- ศิลาแกะสลักลายเส้น (?)
สันนิษฐานว่าเป็นอุบะหรือพวงดอกไม้ห้อยประดับบนสถาปัตยกรรม การห้อยอุบะสื่อถึงดอกไม้สวรรค์ นำมาใช้เป็นลวดลายแกะสลักเพื่อตกแต่งแทนดอกไม้สดและความเป็นมงคล ลักษณะของอุบะที่พบที่เขาน้อยมีด้วยกัน ๒ รูปแบบ คืออุบะแบบลายเส้น มีลักษณะเป็นพวงดอกไม้ที่ห้อยลงมาเป็นเส้นขีดตรง รวบส่วนปลายด้านบนเข้าด้วยกัน และอุบะลายไข่มุก ลักษณะเป็นไข่มุกที่ร้อยเป็นเส้น ส่วนปลายด้านล่างเป็นกลีบดอกไม้
- องค์ประกอบสถาปัตยกรรม (ลวดบัว?)
ลวดบัว เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึง เส้นที่ประดับเป็นแนวนอนมีส่วนนูนพ้นระนาบราบของแท่น ฐาน คาดอยู่รอบสถาปัตยกรรม ชิ้นส่วนลวดบัวที่ขุดพบที่เจดีย์เขาน้อยมีทั้งที่เป็นลวดบัวลูกแก้ว (ขอบนอกโค้งมน) และแกะสลักเป็นลายกลีบบัว สันนิษฐานว่าชิ้นส่วนที่พบเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์ขนาดเล็ก หากสมบูรณ์จะต่อเนื่องกันเป็นฐานกลม อาจรองรับส่วนองค์ระฆัง เมื่อประกอบกับลายกลีบบัว จึงเป็นไปได้ว่าศาสนสถานบนภูเขาน้อยจะเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
- องค์ระฆัง
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งอาจยืนยันได้ว่าเจดีย์เขาน้อยเคยเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนามาก่อน คือ ชิ้นส่วนองค์ระฆังขนาดเล็ก ทำจากดินเผา
- แผ่นหินสลักรูปบุคคล
แผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปรากฏรูปบุคคลตั้งแต่ศีรษะถึงไหล่ สวมมงกุฎทรงกระบอก (กิรีฏมกุฎ) มีตาบหรือแผ่นสามเหลี่ยมสามแผ่น อยู่กึ่งกลางหนึ่งแผ่น และด้านข้างอีกด้านละแผ่น สันนิษฐานว่าเป็นรูปของเทวดาหรือชนชั้นสูง ทำท่าพนมมือเพื่อสักการะเจดีย์หรือสิ่งเคารพในตำแหน่งใกล้เคียงกัน โดยมงกุฎทรงกระบอกมักใช้ระบุสถานะกษัตริย์ จึงเป็นไปได้ว่ารูปบุคคลนี้ก็มีฐานะเป็นกษัตริย์เช่นกัน
- ลายเม็ดกลมสลับสี่เหลี่ยม
ชิ้นส่วนศิลาแกะสลักลายเม็ดกลมหรือเม็ดพลอย สลับสี่เหลี่ยม เรียงต่อกันเป็นแถบแนวนอน ลวดลายนี้อาจนำมาจากลายบนเครื่องประดับ และใช้ตกแต่งงานสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงาม ทดแทนการใช้วัสดุมีค่าจริง ลวดลายดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะจนถึงสมัยปาละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา) แล้วส่งทอดมายังศิลปะทวารวดี และศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร ตัวอย่างที่พบ เช่น ลายประดับต้นสาละในถ้ำฝาโถ ราชบุรี ชิ้นส่วนตกแต่งลายประดับพบที่เมืองโบราณยะรัง ปัตตานี เสาประดับกรอบประตูที่ปราสาทออกยม ปราสาทไพรปราสาท กัมพูชา เป็นต้น
- กูฑุ หรือจันทรศาลา
ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบบนภูเขาน้อย นับเป็นหลักฐานทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงการอยู่อาศัยของผู้คนบริเวณรอบเขาแดงมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา หรือก่อนที่ดาโต๊ะ โมกอล จะก่อตั้งเมืองสงขลา
โปรดติดตามตอนต่อไป...
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
เรียบเรียงข้อมูล/ ถ่ายภาพ: เจิดจ้า รุจิรัตน์ และสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
เอกสารอ้างอิง :
1. เชษฐ์ ติงสัญชลี. ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.
2. กรมศิลปากร. ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 กรมศิลปากร, 2555.
3. ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. ภูเขาน้อย. เข้าถึงเมื่อ 27 เมษายน 2565. เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/813.
4. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.
5. สันติ เล็กสุขุม. พัฒนาการของลายไทย : กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2553.
(จำนวนผู้เข้าชม 2916 ครั้ง)