ภาพจำลองมาจากจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ “แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์ แม่มาแต่เมืองทิ้ง (พระ)”
เปิดประวัติ !! พรีเซนเตอร์แห่งเรือนพระยาสุนทรานุรักษ์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ !!
เชื่อว่าหลายท่านเคยผ่านตาภาพหญิงสาว 4 คน ที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้นำมาใช้ในการออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์หรือข้อมูลต่าง ๆ และอาจมีความสงสัยว่า แม่จ๊ะแม่จ๋า ทั้ง 4 นาง มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้จึงขอนำเสนอองค์ความรู้พิเศษเพื่อเปิดเผยที่มาของสาวงามทั้ง 4
……………………………………………………………
“แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์ แม่มาแต่เมืองทิ้ง (พระ)”
ภาพที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา นำมาใช้ประชาสัมพันธ์ เป็นภาพจำลองมาจากจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพ่อเฒ่านอน วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ทิ้งพระ เป็นการเรียกแบบย่อในภาษาถิ่นใต้ หมายถึงเมืองสทิงพระ เมืองที่มีความเป็นมายาวนานนับพันปี ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีแสดงถึงการตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนาเป็นชุมชนต่อเนื่องกันมาหลายช่วงสมัย มีการรับอิทธิพลทางศาสนา วัฒนธรรมจากโลกภายนอกในระยะแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเจริญขึ้นเป็นเมืองที่มีอำนาจเป็นศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 โดยมีศูนย์กลางการปกครองเมืองอยู่ในบริเวณตำบลจะทิ้งพระ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในบริเวณนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ศิวลึงค์และฐานโยนี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นต้น ปัจจุบันมีโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เช่น วัดราชประดิษฐ์ (วัดพะโคะ) วัดดีหลวง เขาคูหา วัดสนามไชย และวัดจะทิ้งพระ ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นด้าน อันเป็นต้นกำเนิดของภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอกเพื่อเตรียมตัวไปทำบุญ
วัดจะทิ้งพระ ตั้งอยู่ในเขตตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีภูมิประเทศเป็นเนินทรายและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ นับเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นวัดคู่เมืองสทิงพระมาแต่โบราณ ตามตำนานนางเลือดขาวกล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดขึ้นประมาณ พ.ศ. 1542 ต่อมาถูกโจรสลัดมลายูทำลายไป กระทั่งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2153) จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ตามหลักฐานเอกสารกัลปนาหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาระบุว่า วัดจะทิ้งพระในสมัยนี้แยกออกเป็น 2 วัด คือ วัดสทิงพระ กับวัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้อง ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ภายหลังในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 จึงได้รื้อกำแพงกั้นกลางระหว่างวัดออกรวมเป็นวัดเดียว
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดจะทิ้งพระ ประกอบด้วย
1.เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ รูปแบบเดียวกับเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากลังกา
2. เจดีย์บริวาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นทรงลังกา
3. วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วิหารพ่อเฒ่านอน” ภายในประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ และเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้
4. หอระฆัง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับลวดลายปูนปั้น รูปหน้าหนังตะลุง ที่แสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างแท้จริง
1.เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ รูปแบบเดียวกับเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากลังกา
2. เจดีย์บริวาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นทรงลังกา
3. วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วิหารพ่อเฒ่านอน” ภายในประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ และเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้
4. หอระฆัง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับลวดลายปูนปั้น รูปหน้าหนังตะลุง ที่แสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างแท้จริง
วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพ่อเฒ่านอน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเดิมสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมาภายหลังมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่
5 ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน มีการเรียกขานกันว่า “พ่อเฒ่านอน” ที่ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยรายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ เมื่อปี 2523 ระบุว่า ผู้เขียนภาพมี 3 คน คือ พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) อดีตเจ้าอาวาส นายเคลื่อน และลูกมือนายช่างใบ้ ได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้ลบเลือนไปเกือบหมด คงเหลือให้เห็นเพียงด้านทิศตะวันออก ทั้งนี้ รายงานการสำรวจฯ ยังระบุว่าตำแหน่งภาพเขียนเริ่มจากด้านพระเศียรจรดพระบาท และบริเวณด้านหลังพระประธาน ส่งผลให้ภาพจิตรกรรมนี้มีลักษณะเป็นฉากหลังพระ ประกอบด้วยพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
5 ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน มีการเรียกขานกันว่า “พ่อเฒ่านอน” ที่ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยรายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ เมื่อปี 2523 ระบุว่า ผู้เขียนภาพมี 3 คน คือ พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) อดีตเจ้าอาวาส นายเคลื่อน และลูกมือนายช่างใบ้ ได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้ลบเลือนไปเกือบหมด คงเหลือให้เห็นเพียงด้านทิศตะวันออก ทั้งนี้ รายงานการสำรวจฯ ยังระบุว่าตำแหน่งภาพเขียนเริ่มจากด้านพระเศียรจรดพระบาท และบริเวณด้านหลังพระประธาน ส่งผลให้ภาพจิตรกรรมนี้มีลักษณะเป็นฉากหลังพระ ประกอบด้วยพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านเศียรของพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนเสด็จโปรดพุทธมารดา และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างแสดงภาพพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนที่พากันมาร่วมทำบุญตักบาตร ถวายดอกบัว เรียกการตักบาตรนี้ว่า “ตักบาตรเทโว” ซึ่งภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอกเพื่อเตรียมตัวไปทำบุญถูกสอดแทรกอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนด้านล่างสุดเป็นฉากนรกภูมิ ซึ่งรายละเอียดของภาพจิตรกรรมในด้านนี้เผยให้เห็นโลกทั้ง 3 อันได้แก่ สวรรค์ โลก และนรก ดังคำกล่าวในพุทธประวัติว่าวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์นั้น พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเปิดโลกทั้ง 3 คือ เทวโลก มนุษยโลก และยมโลก จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศใต้ แสดงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ รับข้าวมธุปายาส และธิดามารยั่วยวน ขณะที่จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตก แสดงภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย
จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์มีลักษณะการเขียนภาพบนพื้นสีเหลืองอ่อน เขียนด้วยสีขาว เทา ฟ้า และเขียว ซึ่งการใช้สีดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นวัตถุประสงค์ของช่างที่ต้องการให้ภาพเขียนมีความสว่างสดใส ขณะเดียวกันอาจช่วยให้ภายในวิหารมีความสว่างมากขึ้นได้
โดยหนึ่งในลักษณะโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้คือการสอดแทรกภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมและสังคมในสมัยนั้น อาทิ การแต่งกายของชาวบ้าน ผู้ชายไม่นิยมสวมเสื้อ มีทั้งนุ่งผ้าลอยชายหรือโสร่ง และนุ่งโจงกระเบนปะปนกัน ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าในลักษณะเดียวกัน ห่มผ้าแถบพาดไปด้านหลัง ชายสองข้างพาดไขว้ปิดหน้าอก และภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอก ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการแต่งกายที่ทั้งหญิงและชายในสมัยก่อนนิยมเปลือยอก แต่หากต้องเข้าศาสนสถานอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะให้ความเคารพด้วยการนุ่งห่มปกปิดหน้าอกอย่างเรียบร้อย ภาพหญิงสาวที่ปรากฏจึงเป็นการตรวจสอบความเรียบร้อยของตนเองก่อนเข้าวัด
……………………………………………………………
เรียบเรียง/ กราฟฟิก: นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
อ้างอิง:
1. กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2523.
2. กรมศิลปากร. หนังสือนำชมโบราณสถานที่สำคัญในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้. สมุทรสาคร: บางกอกอินเฮ้าส์, 2557.
3. วรรณิภา ณ สงขลา. “จิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 4 (2542): 1617-1620.
4. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. สงขลา : ภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา, 2539
5. สกรรจ์ จันทรัตน์ และสงบ ส่งเมือง. การเริ่มต้นและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองเก่าสงขลา. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534.
6. สงบ ส่งเมือง. “จะทิ้งพระ, วัด” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 3 (2542): 1475-1479.
7. สุวรรณี ดวงตา. “ภาษากายจากจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างสงขลาที่วัดโพธิ์ปฐมาวาส อำเภอเมืองสงขลา วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ และวัดคูเต่า อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา” ศิลปะนิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.
8. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์13.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 2206 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน