โคกอิฐ
++++....... โคกอิฐ
ร่องรอยโบราณสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในจังหวัดนราธิวาส .......++++
ที่ตั้งของโคกอิฐ
หมู่ที่ ๒ บ้านโคกไผ่ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
สภาพของโบราณสถาน
โคกอิฐมีสภาพเป็นโคกอยู่กลางทุ่งนา บนแนวสันทรายเก่าที่วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ – ตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากทะเลประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีคลองโคกไผ่ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ และมีคลองโคกอิฐ ไหลผ่านด้านทิศตะวันอก โดยคลอง ๒ สายนี้จะไหลไปรวมกันกลายเป็น “คลองลาน” จากนั้นไหลไปรวมกับ “คลองปูยู” ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับแม่น้ำบางนราและแม่น้ำโก-ลก และแม่น้ำทั้ง ๒ นี้จะไหลไปรวมกันและออกสู่อ่าวไทยที่บ้านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ทั้งนี้ในบริเวณกลางโคกซึ่งปรากฏแผ่นอิฐขนาดใหญ่วางกองเกลื่อนกลาดจำนวนมากนั้น มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “อิฐกอง”
ตำนานและเรื่องราวเล่าขาน
ตำนานท้องถิ่นกล่าวกันว่าใต้พื้นดินในบริเวณอิฐกองนั้น ลึกลงไปมีทรัพย์สมบัติมากมายบรรจุอยู่ในไหโบราณ และไหนั้นถูกผูกตรึงไว้ด้วยมนตราอันแน่นหนาตามพิธีกรรมโบราณ และมีทวด(วิญญาณศักดิ์สิทธิ์)เรียกกันว่า “โต๊ะชาย” ๔ ตนคือ ลุงดำ ลุงอิน ลุงลาย และลุงเพชร ทำหน้าที่เฝ้าทรัพย์สินเหล่านี้ และชาวบ้านมักนิยมไปบนบานกับโต๊ะชายอยู่เป็นเนืองนิตย์ พื้นที่แห่งนี้จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาจนปัจจุบัน
โบราณวัตถุ
บริเวณโคกอิฐมีการพบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่น อิฐมีจารึกตัวอักษรกวิ (กะวิ) ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปรากฏตัวจารึก ๔ อักษร อ่านว่า “มิตฺรา ว.......” แปลว่า พระอาทิตย์...” ชิ้นส่วนพวยกาดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ซ่งใต้ หยวน และชิง ลูกปัด พระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์สำริด ชิ้นส่วนเครื่องใช้ทองเหลือง
นอกจากนี้ในบริเวณแนวรอบตัวสันทรายซึ่งเป็นที่ตั้งของโคกอิฐ ยังเคยมีการขุดพบการปักท่อนไม้เนื้อแข็งเป็นลักษณะคล้ายเป็นรั้วหรือกำแพง และในพื้นที่รอบโคกอิฐซึ่งปัจจุบันเป็นที่นานั้น เคยมีการขุดพบเสากระโดงเรือ สมอเรือ และเปลือกหอยทะเลด้วย
การกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์
สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา กรมศิลปากร ได้ส่งตัวอย่างอิฐจากโคกอิฐไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน(Thermoluminescence)ที่ Artemis Testing Lab ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ค่าอายุ ๑,๒๐๐ ± ๑๘๐ และ ๑,๖๐๐ ± ๓๐๐ ปี มาแล้ว
สรุปผลการกำหนดอายุ
การศึกษาโบราณวัตถุที่พบประกอบการพิจารณาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นว่าที่โคกอิฐแห่งนี้ มีการพบอิฐที่กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์สำริดกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จารึกอักษรกวิกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
จึงอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่าโบราณโคกอิฐมีการใช้พื้นที่และสร้างศาสนสถานมาตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ -๑๘ เนื่องจากพบเครื่องถ้วยจีนในสมัยนี้เป็นจำนวนมาก และมีการยุติการใช้พื้นที่ไประยะหนึ่งในราวพุทธศตวรรษที่๑๙-๒๐ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ จึงได้มีการกลับเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง และมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน
-------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ13.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ14.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ15.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ16.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: โคกอิฐ17.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 3480 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน