นาเกลือเมืองปัตตานี
นาเกลือเมืองปัตตานี
แหล่งผลิตเกลือสมุทรบนคาบสมุทรมลายู
นาเกลือบนคาบสมุทรมลายู
นอกจากแหล่งผลิตเกลือที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว ปัตตานีเป็นเมืองเดียวในแหลมมลายูที่สามารถผลิตเกลือได้ และสามารถส่งเกลือเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ในพ.ศ.๒๔๓๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทรงบันทึกเรื่องเกลือปัตตานี ไว้ว่า
“...ในเมืองตานีมีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ ๑๖ เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก...”
นาเกลือเมืองปัตตานีสมัยโบราณ
ปรากฏหลักฐานว่านาเกลือเมืองปัตตานีได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว โดยสยาเราะห์ เกอราจาอัน มลายู ปัตตานี(ตำนานเมืองปัตตานี) กล่าวถึงปัญหาของการทำนาเกลือในสมัยราชินีบีรู ซึ่งเกิดจากผลกระทบจากการขุดคลองเตอมางันซึ่งราชินีฮิเยาห์สั่งให้ขุดขึ้น ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...น้ำในคลองกรือเซะกลายเป็นน้ำจืดจึงเป็นเหตุในนาเกลือตรงชายทะเลไม่สามารถเป็นเกลือได้ เพราะน้ำลดความเค็มลง รายาบีรูจึงมีกระแสรับสั่งให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ไหลมาจากด้านเหนือ...”
นาเกลือเมืองปัตตานีสมัยรัชกาลที่ ๕
บันทึกความทรงจำของคณะสำรวจมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่บริเวณรัฐมลายูตอนเหนือใน ค.ศ.๑๘๙๙ (พ.ศ.๒๔๔๒) โดย ดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู สกีต (W.W.Skeat M.A.) กล่าวถึงเรื่องราวการทำนาเกลือที่เมืองปัตตานี ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...ในปีหนึ่งการทำนาเกลือทำได้แค่แปดเดือนเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วชาวมลายูทั้งหญิงและชายจะมีอาชีพนี้ อย่างไรก็ตามมีชาวสยามและชาวจีนเป็นผู้รับจ้างทำงานในนาเกลือด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการทำนาเกลือแล้ว ฤดูฝนจะมาถึง ผู้มีอาชีพทำนาเกลือก็จะกลับไปทำนาข้าวต่อไป คนงานส่วนมากแล้วมีนาเกลือเป็นของตนเอง แต่บางคนก็มารับจ้างในแต่ฤดูไป ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินประมาณ ๑๐ เหรียญต่อระยะการทำงาน ๘ เดือน กล่าวกันว่ารายาแห่งปัตตานีจะหักเอาครึ่งหนึ่งของกำไรของนาเกลือแต่ละแห่ง แต่ถ้าคนทำนาตั้งแต่สองหรือสามคนขึ้นไปเข้าหุ้นกันทำ รายาจะเก็บเอาแค่ ๑ ส่วนของส่วนแบ่งสำหรับ ๑ คนเท่านั้น ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของนาเกลือจะได้รับการดูแลจากผู้ปกครองนาเกลือที่เรียกกันว่า เมคอง(Me Khong) ซึ่งสามารถจะรับผิดชอบแทนรายาได้...”
เกลือหวานปัตตานี
“เกลือหวานปัตตานี” หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ” นั้นเป็นคำเปรียบเปรย และยกย่องคุณสมบัติของเกลือจากเมืองปัตตานี ว่าเป็นเกลือมีรสเค็มที่แตกต่างและไม่เหมือนเกลือจากแหล่งอื่นใด โดยมีคุณสมบัติพิเศษในการนำไปหมักปลาทำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักผลไม้ และแม้แต่ดองสะตอ ซึ่งจะทำให้อาหารต่างๆมีรสชาติที่กลมกล่อมและไม่ออกรสเค็มรสขม เหมือนกับการใช้เกลือจากแหล่งผลิตอื่นๆ
นาเกลือปัตตานีในปัจจุบัน
ในปัจจุบันนาเกลือของปัตตานีอยู่ในพื้นที่ริมทะเลในเขตตำบลบานา ตันหยงลุโล๊ะ และบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี แต่ก็มีพื้นที่นาเกลือลดลงจากในอดีตโดยพื้นที่บางส่วนได้เปลี่ยนสภาพเป็นนากุ้ง ที่อยู่อาศัย และเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
กราฟิกโดย นางสาวนันธ์ทิกา นิชรานนท์
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี13.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี14.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: นาเกลือเมืองปัตตานี15.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 9656 ครั้ง)