หินทุบเปลือกไม้ Bark-cloth   
เครื่องมือสำหรับทำเส้นใยยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในภาคใต้
สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับกลุ่มโบราณคดี   สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา  กันอีกครั้งนะคะ ในสัปดาห์นื้ทางกลุ่มฯ จะแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ "หินทุบเปลือกไม้ " ที่มนุษย์นำมาใช้สำหรับทุบเปลือกไม้หรือพืชเพื่อนำเส้นใยมาใช้งานกันคะ
-----------------------------------------------------------------------
เครื่องนุ่งห่มยุคก่อนประวัติศาสตร์
          เชื่อกันว่ามนุษย์ในยุคแรกเริ่มยังไม่รู้จักการใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แต่ในเวลาต่อมาจึงเริ่มนำขนสัตว์ หนังสัตว์ ใบไม้ หญ้า เปลือกไม้ มาห่อหุ้มร่างกาย ซึ่งสิ่งของจากธรรมชาติเหล่านี้ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ห่อหุ้มผิวหนังจากอันตราย สร้างความสวยงาม รวมทั้งอาจตอบสนองในเรื่องความเชื่อหรือพิธีกรรมต่างๆในสังคม 
เครื่องนุ่มห่มจากเส้นใยพืช
          ในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น นอกเหนือจากหนังสัตว์และวัสดุตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ในยุคสมัยนี้ยังสามารถคิดค้นวิธีในการนำเส้นใยจากพืชมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ โดยพืชที่สามารถให้เส้นใยได้นั้นได้แก่ พืชในตระกูลป่าน ปอ และลินิน สำหรับในประเทศไทยนั้นพบหลักฐานของการทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติบนเครื่องประดับและเครื่องมือสำริดที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และใบมีดเหล็กที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
หินทุบเปลือกไม้เครื่องมือสำหรับทำเส้นใย
 เครื่องมือสำคัญอีกประเภทหนึ่งซึ่งสามารถใช้ในการเปลี่ยนสภาพของพืชให้เกิดเป็นเส้นใยได้นั้นก็คือ “หินทุบเปลือกไม้” หินเหล่านี้มักมีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดเหมาะมือ ปลายด้านหนึ่งเป็นปลายตัดซึ่งปรากฏการขูดพื้นผิวหินให้เป็นเส้นตัดกันเป็นรูปตารางบนหน้าหิน การศึกษาเรื่อง The Origins of bark cloth production in Southeast Asia โดย Judith Cameron ได้นำเสนอการจำแนกรูปแบบของหินทุบเปลือกไม้ที่พบในจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ ๗ รูปแบบ 
หินทุบเปลือกไม้ในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 การสำรวจและการขุดค้นในปัจจุบัน มีรายงานการพบหินทุบเปลือกไม้ในภาคใต้ของประเทศจีน  เกาะไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย 
ทั้งนี้บทความเรื่อง The oldest bark cloth beater in southern China (Dingmo, Bubing basin,Guangxi) โดย Dawei Li และคณะ ได้ให้ข้อมูลผลการกำหนดอายุของหินทุบเปลือกไม้จากแหล่งโบราณคดีต่างๆไว้ดังนี้
          ๑.แหล่งโบราณคดี Dingmo ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน กำหนดอายุได้ราว ๗,๙๐๐ ปีมาแล้ว 
          ๒.แหล่งโบราณคดี Xiantouling บริเวณที่ราบปากแม่น้ำเพิร์ล ในมณฑลกว้างตุ้ง ประเทศจีน   กำหนดอายุได้ราว ๖,๖๐๐ ปีมาแล้ว 
          ๓.แหล่งโบราณคดีในเวียดนามกำหนดอายุได้ราว ๔,๕๐๐-๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว 
          ๔.แหล่งโบราณคดี Arku Cave จังหวัดคากายัน เกาะลูซอน ฟิลิปปินส์  กำหนดอายุได้ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว 
หินทุบเปลือกไม้ที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ของไทย
 ในพื้นที่ภาคใต้ แม้จะยังไม่เคยพบหลักฐานการมีอยู่ของผ้าในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งได้พบหินทุบเปลือกไม้ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทำเส้นใย ในแหล่งโบราณคดีอย่างน้อย ๖ แห่ง ในพื้นที่ ๔ จังหวัดคือ
          ๑.เขาถ้ำเสือ ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
          ๒.บางปากวง(เชิงเขาวง) ตำบลคลองฉนวน อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
          ๓.ถ้ำเบื้องแบบ ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
          ๔.เขาถ้ำพระ ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
          ๕.เขาบ้านในค่าย ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
          ๖.เพิงผาที่พักสงฆ์เขาน้ำหรา ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
    และสามารถระบุที่มาเพียงว่าพบในพื้นที่ภาคใต้จำนวน ๑ ชิ้น จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
    ทั้งนี้หากจำแนกหินทุบเปลือกไม้ที่พบในภาคใต้ตามรูปแบบที่ Judith Cameron เสนอไว้ก็จะพบว่า หินทุบเปลือกไม้ที่พบในภาคใต้ทั้งหมดซึ่งระบุแหล่งที่มาได้จัดอยู่ในรูปแบบที่ ๗ และมีเพียงชิ้นเดียวและไม่ระบุแหล่งที่มาจัดอยู่ในรูปแบบที่ ๕
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เรียบเรียงข้อมูลโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที ๑๑ สงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 1228 ครั้ง)

Messenger