เขากำปั่น ตอนที่ ๑ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ตอนที่ ๑ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์
....... สวัสดีค่ะ กลับมาพบกลับกลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา ในสัปดาห์นี้ทางกลุ่มฯจะนำทุกท่านไปทำความรู้จักเกี่ยวกับเขากำปั่นในยุคก่อนประวัติศาสตร์กันค่ะ ........
เขากำปั่นอยู่ที่ไหน
เขากำปั่น ตั้งอยู่ที่บ้านหน้าถ้ำ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
ตำนานเขากำปั่น
ในอดีตนานมาแล้วบริเวณเขากำปั่นยังคงเป็นทะเลใหญ่ ในวันหนึ่งมีเรือกำปั่นล่มลงกลางทะเลแห่งนี้ จากวันนั้นเวลาผ่านไปอีกนานแสนนาน เมื่อน้ำทะเลเหือดแห้งไป เรือกำปั่นนั้นก็กลายเป็นภูเขา ห้องหับต่างๆภายในเรือกลายเป็นถ้ำเล็กถ้ำน้อย ส่วนสินค้าที่มากับเรือนั้นกล่าวกันว่าในอดีตตามถ้ำต่างๆปรากฏว่ามีถ้วยโถโอชามวางอยู่มากมาย เวลามีงานต่างๆชาวบ้านสามารถมายืมมาไปใช้ได้ แต่ภายหลังผู้ที่ยืมไปใช้ทำแตกเสียหายบ้าง ไม่นำมาส่งคืนบ้าง บรรดาถ้วยชามเหล่านั้นจึงสาบสูญไปหมดสิ้น และยังเชื่อกันว่าที่ภูเขาแห่งนี้ยังมีทองและของมีค่าซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มากับเรือสำเภาซ่อนเร้นอยู่อีกมากมาย
เขากำปั่น ธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อม
เขากำปั่นมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน ในหมวดหินถ้ำกระแชง กลุ่มหินราชบุรี (Thamkrachang formation, Ratburi Group) ซึ่งถือกำเนิดในยุคเพอร์เมียน (อายุประมาณ ๒๘๕-๒๔๕ ล้านปี) ลักษณะของหินปูนที่เขากำปั่นเป็นหินปูนชนิดตกผลึก(Recryatallin Lime stone) ซึ่งเรียกว่าหินอ่อน มีเนื้อแน่น มีหลายสีเข่นสีขาว สีขาวอมเหลืองอ่อน สีขาวอมชมพูอ่อน สีขาวอมน้ำตาลแดง และสีขาวอมเทาอ่อน เป็นต้น
เขากำปั่นมีความยาวประมาณ ๑,๐๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๔๐ เมตร วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ – ตะวันออกเฉียงใต้ มีคลองกำปั่นไหลผ่านด้านทิศตะวันตก และมีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่านด้านทิศตะวันออกห่างออกไปราว ๑.๗-๒ กิโลเมตร ภายในเขากำปั่นมีถ้ำและเพิงผาหลายแห่ง ซึ่งได้แก่ ถ้ำสำเภาทอง ถ้ำนางมณโฑ ถ้ำเจ้าขาว ถ้ำไม่มีชื่อข้างถ้ำเจ้าขาว ถ้ำดิน และ เพิงผาเขากำปั่น
เพิงผาเขากำปั่น
ตั้งอยู่ในหุบเขาด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขากำปั่น เพิงผากว้างประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๒๐ เมตร
หลักฐานทางโบราณคดี
การสำรวจเพิงผาแห่งนี้ในพ.ศ.๒๕๕๗ ทำให้ได้พบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ทาน้ำดินสีแดง และขัดมัน ชิ้นส่วนหม้อสามขา และกระดูกสัตว์
ภาพเขียนสี
ที่ถ้ำเจ้าขาว บริเวณผนังถ้ำฝั่งขวาด้านในสุดของถ้ำ พบภาพเขียนด้วยสีขาว เขียนรูปคนสองคน
คนหนึ่งกำลังเป่าลูกดอก และอีกคนหนึ่งยืนถือกระบอกสำหรับเป่าลูกดอก ทั้งนี้ภาพคนเป่าลูกดอกได้เคยพบที่ผนังถ้ำศิลป ซึ่งอยู่ในเขาถ้ำพระนอน(ภูเขาวัดหน้าถ้ำ) อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ด้วย
----------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
กราฟิกโดย นางสาวนันธ์ทิกา นิชรานนท์
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขากำปั่น12.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 3973 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน