...

ปืนใหญ่เหล็กของฮอลันดา (Finbanker of Dutch Pattern)
เสนอว่าด้วยอาวุธประจำเมืองที่สำคัญ คือ ปืนใหญ่เหล็กของฮอลันดา (Finbanker of Dutch Pattern)  ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่เดิมเคยตั้งประจำการอยู่ที่ป้อมรูปดาวของเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี
-----------------------------------------------------------------------------------
ปืนใหญ่เหล็กของฮอลันดา (Finbanker of Dutch Pattern)
พบที่เมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี จังหวัดพัทลุง
ปืนใหญ่เหล็กของฮอลันดา (Finbanker of Dutch Pattern)
          กิจการอุตสาหกรรมหล่อปืนในสวีเดนที่มีชื่อมากตั้งอยู่ที่เมือง Finspang มณฑล Ostergotland ลงทุนโดยนักค้าแร่ชาวฮอลันดาชื่อนายหลุยส์ เดอ เกียร์ ที่มองเห็นผลกำไรจากการค้าปืนใหญ่กับบริษัท V.O.C. ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โรงหล่อปืนแห่งเมืองนี้ดำเนินงานโดยชาวสวีเดนชื่อนายวัลลูน และนายวิลเลียม เดอ เบซ ปืนใหญ่ที่หล่อขึ้นที่ Finspang ถูกนำเข้าประเทศฮอลันดาโดยนายหน้าค้าอาวุธสองคนที่เมือง Amsterdam  ชื่อนายอีลาส ทริป ซึ่งเป็นพี่เขยของนายหลุยส์ เดอ เกียร์ และนายควินจัน ไบรอัน โดยขายให้กับหอการค้าของบริษัท V.O.C. (Vereenigde Oostindische Compagnie) เมือง Amsterdam 
ทั้งนี้ปืนเหล็กที่ส่งมาจำหน่ายที่บริษัท V.O.C. มักพบจารึกรูปตัว F ที่เพลาปืนด้านซ้ายและขวา และเมื่อบริษัท V.O.C.  เมือง Amsterdam ได้รับปืนแล้วจะมีการทดสอบการยิง เมื่อปืนกระบอกใดผ่านการยิงทดสอบจะมีการจารึกสัญลักษณ์รูปประภาคารหรือที่เรียกว่า Amsterdam light house เพื่อเป็นการรับรองในการผ่านการทดสอบการยิงของปืนแต่ละกระบอก (proof firing) ส่วนน้ำหนักของปืน มักพบจารึกอยู่บนแหวนเสริมความแข็งแรงของปืนท้ายกระบอกในรูปของตัวเลขอารบิคและตัวอักษร A เช่น 2306A หมายถึงปืนกระบอกนี้หนัก 2610 Amsterdam Pound (1 Amsterdam Pound เท่ากับ 0.49409 กิโลกรัม) ปืนกระบอกนี้จึงหนักราว 1,139.371 กิโลกรัม 
ปืนใหญ่พบที่เมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี
          สันนิษฐานว่าทางราชการน่าจะเป็นผู้จัดหามาประจำการที่เมืองแห่งนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยาและเรียกชื่อปืนเหล่านี้ว่า ปืนบะเรียม ปืนมะเรียม ปืนเปรียม ปืนเบรียม หรือ ปืนบ้าเหลี่ยม ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างสำหรับเรียกปืนใหญ่ที่หล่อด้วยเหล็กหรือสำริด ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศตามแถบยุโรป 
เมื่อเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรีร้างไปในช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ปืนเหล่านี้ก็ถูกทิ้งไว้จนกระทั่งพ.ศ.๒๔๐๓ พระยาพัทลุง (ทับ ณ พัทลุง) มีบัญชาให้รื้ออิฐกำแพงเมืองชัยบุรี และย้ายปืนประจำเมืองมาไว้ที่เมืองพัทลุง ครั้นถึงพ.ศ.๒๔๗๗ นายถัด พรหมมานพ ครูใหญ่โรงเรียนพัทลุงในขณะนั้น ให้นักเรียนลูกเสือลากปืนใหญ่ทั้งสองกระบอกนี้มาไว้ที่โรงเรียนพัทลุง และคงตั้งอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ปืนใหญ่กระบอกที่ ๑
ขนาด ยาว ๒๕๘  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน   ๒๓  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน(ด้านใน) ๑๑.๕ เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๑)   ๒๕  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๒)   ๓๑  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๓)   ๓๕  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๔)   ๔๐  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๕ : ท้ายปืน)   ๔๓  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลางเพลาปืน     ๙  เซนติเมตร
           ความยาวเพลาปืน     ๙  เซนติเมตร
           เส้นผ่านศูนย์กลางรูชนวน  ๑.๕  เซนติเมตร
ตราประทับ Amsterdam light house
น้ำหนักปืน 2322 Amsterdam Pound
ที่เก็บรักษา หน้าเสาธงโรงเรียนพัทลุง (ฝั่งตะวันตก) อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ปืนใหญ่กระบอกที่ ๒
ขนาด ยาว ๒๕๘  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน   ๒๓  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน(ด้านใน) ๑๑.๕ เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๑)   ๒๕  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๒)   ๓๑  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๓)   ๓๕  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๔)   ๔๐  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลาง(แหวนเสริมความแข็งแรงวงที่๕ : ท้ายปืน)   ๔๓  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลางเพลาปืน     ๙  เซนติเมตร
          ความยาวเพลาปืน     ๙  เซนติเมตร
          เส้นผ่านศูนย์กลางรูชนวน  ๑.๕  เซนติเมตร
ตราประทับ Amsterdam light house
น้ำหนักปืน 2306 Amsterdam Pound
ที่เก็บรักษา หน้าเสาธงโรงเรียนพัทลุง (ฝั่งตะวันออก) อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
-------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย  นายสารัท  ชลอสันติสกุล  นักโบราณคดีชำนาญการ l กลุ่มโบราณคดี   สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ขอบคุณข้อมูลจาก
๑.ศิริรัจน์ วังศพ่าห์, ปืนใหญ่โบราณในประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, ๒๕๕๐
#ปืนใหญ่ #เมืองพัทลุงเก่าเขาชัยบุรี #โบราณคดีพัทลุง

(จำนวนผู้เข้าชม 5088 ครั้ง)


Messenger