เรื่อง ทุเรียนสวนเรา
ส่งเสริมการอ่านกับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี
เรื่อง ทุเรียนสวนเรา
ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์. ทุเรียนสวนเรา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2557.
ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 634.66 ป622ท
ประเทศไทยมีผลไม้ให้รับประทานตลอดทั้งปีถือว่าเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนเช่นนี้ ผลไม้ที่ได้รับความนิยมคงจะหนีไม่พ้น ทุเรียน ซึ่งนอกจากจะสร้างความคึกคักให้กับตลาดผลไม้แล้ว ทุเรียนยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับการส่งออกของประเทศไทยเสมอมา
ทุเรียนสวนเรา เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ เรื่องราวของทุเรียนที่เปรียบเสมือนอัญมณีชิ้นงามแห่งการเกษตร จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ เหตุเพราะทุเรียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายนอกมีแต่หนามแหลมคมแต่ห่อหุ้มไว้ซึ่งเนื้อในสีเหลืองละมุนที่มาพร้อมกับรสชาติหวานมันกลมกล่อมแบบไม่ซ้ำใคร เมื่อได้ทานแล้วก็อยากทานอีกคล้ายกับการเสพติดเลยทีเดียว ทุเรียนเป็นผลไม้เขตร้อน สามารถเพาะปลูกได้ดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา และคาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยพบว่ามีการปลูกทุเรียนในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อ้างอิงจากบันทึกจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2228 – 2229 โดยต้นกำเนิดของทุเรียนไทยมาจาก 5 สายพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ ลวง การะเกด ทองสุก ทองย้อยเดิม และกำปั่น จากนั้นเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์จนกลายเป็นทุเรียนพันธุ์ดีตามมาอีกมากมาย ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เช่น ชะนี ก้านยาว และหมอนทอง เนื้อในของผลไม้ที่มีหนามแหลมชนิดนี้อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารในแง่พลังงานซึ่งมีมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น และหลายท่านยังคงมีความกังวลว่าการทานทุเรียนจะทำให้ร่างกายได้รับไขมันและคอลเรสเตอรอลมากเกินไปหรือไม่ ผลการวิเคราะห์ทางเคมี พบว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปราศจากคอลเรสเตอรอลอย่างสิ้นเชิง เพราะในเนื้อทุเรียนไม่มีองค์ประกอบของไขมันอิ่มตัว แต่อย่างไรก็ตามควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ทุเรียนสวนเรายังอธิบายถึงขั้นตอนการปลูกและการดูแลรักษา ลักษณะทางกายภาพของทุเรียน แนะนำสายพันธุ์ต่างๆ ที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยมากนัก ส่งท้ายด้วยเมนูแสนอร่อยที่ทำมาจากทุเรียน ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)
(จำนวนผู้เข้าชม 170 ครั้ง)