เรื่อง สุข (อุดม) คติ Healthitude (Healthy+Attitude)
ส่งเสริมการอ่านผ่าน Facebook กับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี
เรื่อง สุข (อุดม) คติ Healthitude (Healthy+Attitude)
พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฏ์. สุข (อุดม) คติ = Healthitude (Healthy+Attitude). นนทบุรี: เอ.พี.กราฟิคดีไซน์และการพิมพ์, 2564.
ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 613 พ632ส
การค้นหาข้อมูลในปัจจุบันทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วแตะ ไม่เว้นแม้แต่ข้อมูลด้านสุขภาพและความเจ็บป่วย เชื่อว่าหลายท่านเคยใช้อินเทอร์เน็ตหาข้อมูลเมื่อมีอาการเจ็บป่วย หรือเกิดความผิดปกติของร่างกาย แต่ข้อมูลบางส่วนก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ในเรื่องความน่าเชื่อถือ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะโลกเราหมุนไปอย่างรวดเร็วและกระแสการรักสุขภาพก็กำลังเป็นที่นิยม ข้อมูลมากมายจึงหลั่งไหลเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างอิสระ
สุข (อุดม) คติ = Healthitude (Healthy+Attitude) เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ การปรับทัศนคติที่มีต่อสุขภาพในยุคที่ข้อมูลด้านสุขภาพเข้าถึงได้ง่ายเพียงเสี้ยววินาที โดยบางข้อมูลนั้นยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฏ์ จึงได้รวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่คนในยุคนี้ต้องเข้าใจและนำไปสู่การตระหนักรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพ จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีเริ่มจากทัศนคติ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ Healthitude โดยผสมผสานระหว่าง Healthy (สุขภาพ) กับ Attitude (ทัศนคติ) สิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายใน ได้แก่ พันธุกรรม ฮอร์โมน ระบบภูมิต้านทาน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความเครียด สารพิษ สารเคมี มลภาวะต่างๆ ตัวอย่างเช่น ความอ้วน ปัจจัยที่นำไปสู่ความอ้วนมาจากการเสียสมดุลฮอร์โมน อย่างที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนเกือบทุกชนิดมีผลต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย รวมถึงปัจจัยการใช้ชีวิต เช่น ความเครียดเรื้อรัง การอดนอน การอักเสบ ติดเชื้อ หรือแม้แต่การสะสมสารพิษจากสิ่งแวดล้อม ล้วนส่งผลต่อการเผาผลาญและการใช้พลังงานทั้งสิ้น ในยุคปัจจุบันการควบคุมน้ำหนักและความอ้วนจึงทำแบบองค์รวม นั่นคือการตรวจเช็คฮอร์โมนควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมและควบคุมอาหาร อีกหนึ่งทฤษฎีที่จะช่วยปรับสมดุลสุขภาพ คือ การเพิ่ม Active Lifestyle หมายถึงคุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหักโหมเพื่อจะมีสุขภาพที่ดี แต่ทำได้ง่ายกว่านั้น คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน หรือการใช้เวลาหลังมื้อค่ำสัก 20 นาที เพื่อเดินย่อย เพราะหากทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สุขภาพคุณดีขึ้นในระยะยาว ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)
(จำนวนผู้เข้าชม 228 ครั้ง)